จับตา ‘สินค้าจีน’ จ่อท่วมโลกรอบใหม่ ลุยส่งออก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ต่างประเทศ
จับตา ‘สินค้าจีน’ ท่วมโลกรอบใหม่ หลังกำลังซื้อในจีนยังซบหนัก ฉุดมหกรรมชอปปิงใหญ่กลางปี ‘618’ ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำให้แพลตฟอร์มชอปปิงต้องรุกต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเตรียมชูกฎหมายใหม่ช่วยสนับสนุนลุย ‘อีคอมเมิร์ซต่างประเทศ’
โดยปกติแล้ว “จีน” จะมีมหกรรมชอปปิงออนไลน์ประจำปีครั้งใหญ่อยู่ 2 ครั้ง คือ รอบกลางปีที่เรียกว่า “618” ซึ่งมีขึ้นทุกวันที่ 18 เดือน 6 โดยอาจเริ่มแคมเปญตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. และรอบปลายปีคือ “วันคนโสด 11/11” ทุกวันที่ 11 เดือน 11 แต่อาจเริ่มแคมเปญตั้งแต่เดือนต.ค. เช่นกัน ซึ่งจะเป็นวันที่แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์และร้านค้าทั่วประเทศพร้อมใจกันทำแคมเปญ ลด-แลก-แจก-แถม เพื่อกระตุ้นยอดขายในวันสำคัญที่จะเป็นตัวเลขชี้วัดทั้งธุรกิจ และเศรษฐกิจกำลังซื้อในภาพใหญ่ของจีน
ทว่าในปีนี้สถานการณ์ต่างออกไปจากทุกๆ ปี ไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่าแม้จะมีการดึงศิลปินระดับโลกอย่าง “ริฮันนา” มาช่วยกระตุ้นสร้างสีสันในการจับจ่ายใช้สอย และมีสินค้าหลายแบรนด์ทำการตลาดลดราคามากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น Lululemon ที่ลดราคาถึง 50% แต่ก็ยังไม่สามารถฟื้นบรรยากาศการใช้เงินในจีนที่ซบเซามาพักใหญ่เพราะวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้
จากข้อมูลของเว็บไซต์ผู้ให้บริการข้อมูลค้าปลีกซินทัน พบว่า ยอดขายรวม (GMV) ในช่วงเทศกาลชอปปิง 618 ปีนี้อยู่ที่ราว 7.42 แสนล้านหยวน (เกือบ 3.8 ล้านล้านบาท) หรือ “ลดลง” จากปีที่แล้ว 7% และยังเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ ยอดขายที่ลดลงครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแพลตฟอร์มบางราย เช่น อาลีบาบา และเจดีดอตคอม ที่อาจอธิบายได้ว่าเป็นมาจากการแข่งขันของคู่แข่งหน้าใหม่ๆ อย่างไบต์แดนซ์ และพินตัวตัว แต่เป็นการลดลงในภาพรวมของแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ซึ่งถือเป็น “สัญญาณ” ที่บ่งชี้ได้ถึงบรรยากาศการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนที่อยู่ในโหมดการเก็บเงินมากกว่าใช้เงิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากปัจจัยเรื่องการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศที่ซบเซาลง บวกกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งอย่างหลังเป็นปัจจัยลบเดิมที่กดดันราคาหุ้นของเจดีดอตคอมให้ร่วงลงมา 25% และหุ้นของอาลีบาบาร่วงลง 17% ในปีที่แล้วนั้น อาจถือเป็น “สัญญาณเร่ง” ให้บรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนต้องออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศแทนมากขึ้น
จีนร่างกฎใหม่หนุนอีคอมเมิร์ซลุยต่างแดน
สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกร่างกฎระเบียบใหม่เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง “คลังสินค้าในต่างประเทศ” และขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการค้าต่างประเทศของจีน ไปสู่ระดับโลกให้มากขึ้น
รายงานระบุว่าตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามประเทศหลายแห่งของจีน เช่น ชีอิน (Shein), เทมู (Temu) ของค่ายพินตัวตัว และอาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress) ของบริษัทอาลีบาบา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ที่มีการขายสินค้าเมดอินไชน่าไปทั่วโลก ต่างก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จในต่างประเทศเช่นนี้ยังถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับบริษัทหลายแห่ง จากเดิมที่ก่อนหน้านี้มุ่งแต่ตลาดในประเทศเป็นหลัก เพราะลำพังเพียงตลาดจีนที่มีประชากรถึงกว่า 1,400 ล้านคนก็เพียงพอแล้วในช่วงที่เศรษฐกิจดี ทว่าในภาวะที่ตลาดในประเทศกำลังซบเซาจากวิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี และทำให้คนจีนอยากออมเงินมากกว่าใช้เงินนั้น การบุกตลาดต่างประเทศ “ให้มากขึ้น” กว่าเดิม จึงอาจเป็นคำตอบของทั้งตัวแพลตฟอร์ม ร้านค้า และภาคการผลิตจีนในเวลานี้
ประกาศของกระทรวงพาณิชย์จีนซึ่งครอบคลุมร่างกฎระเบียบสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งขาเข้าและขาออกระบุด้วยว่า ทางหน่วยงานจะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการจัดการข้อมูลของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และการกำกับดูแลการส่งออกข้ามพรมแดนด้วย
ในขณะเดียวกัน บรรดากระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ของทางการจีนที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยสนับสนุนในแง่ของการปรับปรุงช่องทางการจัดหาเงินทุน และช่วยให้บริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนต่างๆ ในจีนสามารถก้าวไปสู่ “ระดับโลก”
จีนมีคลังสินค้ากว่า 2,500 แห่งทั่วโลก
จากข้อมูลของเว็บไซต์ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส (ecns) พบว่าปัจจุบัน บริษัทสัญชาติจีนมีคลังสินค้าในต่างประเทศทั้งหมดมากกว่า 2,500 แห่งทั่วโลก คิดเป็นพื้นที่ขนาดมหาศาลถึง 30 ล้านตารางเมตร (ราว 18,750 ไร่) ในจำนวนนี้เป็นคลังสินค้าเพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนโดยเฉพาะถึงกว่า 1,800 แห่ง หรือคิดเป็นพื้นที่ขนาด 22 ล้านตารางเมตร
ขณะที่จำนวนธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งหมดที่จดทะเบียนในจีนปัจจุบัน ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.2 แสนรายแล้ว โดยในจำนวนนี้มีขนาดใหญ่เป็นระดับ “นิคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” มากกว่า 1,000 แห่ง
หวัง ซิน ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเซินเจิ้น เปิดเผยกับสำนักข่าวโกลบอลไทม์ส ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ การส่งออกของธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาด "อาเซียน" และ “อเมริกาใต้” ที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ตลาดตะวันออกกลางก็มีการขยายตัวขึ้นเช่นกันเนื่องจากมีบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น และมีการใช้นโยบายภาษีที่ดึงดูดบริษัทจีนให้เข้าไปทำธุรกิจ
“ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ผมมองว่าตลาดอาเซียน และอเมริกากลางมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่กำลังขยายการลงทุนเข้าไปในภูมิภาคเหล่านี้อย่างรวดเร็ว” หวัง กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์