จีดีพี 'เวียดนาม' โตเกินคาด 6.93% อานิสงส์ส่งออกพุ่ง-FDI ขยายตัวแกร่ง
'เวียดนาม' เผยจีดีพีไตรมาส 2 โต 6.93% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้แรงหนุนจากการส่งออกและการลงทุน FDI ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง คาดช่วยบรรลุเป้าหมายเติบโตทั้งปีนี้ที่ 6%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างการเปิดเผยของสำนักงานสถิติเวียดนามในวันนี้ (29 มิ.ย.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเวียดนามในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 6.93% สูงขึ้นจากไตรมาสแรกที่เติบโต 5.87% และสูงกว่าที่ผลสำรวจคาดการณ์นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กให้ไว้ที่ 6% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของการค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
รายงานระบุว่า "ภาคอุตสาหกรรม" ของเวียดนามยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกโดยขยายตัว 8.67% และเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ "การส่งออก" ซึ่งเติบโตได้ถึงเลขสองหลักไปพร้อมกับการเติบโตของ 'FDI" ยังช่วยส่งเสริมกิจกรรมในภาคการผลิตของประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติระบุว่า การส่งออกของเวียดนามในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ถึง 12.5% นำโดยการส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอาหารทะเล
ในขณะที่ FDI ช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ถึง 13.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่เกือบ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน 18 จาก 21 ภาคอุตสาหกรรมในประเทศ
การลงทุนของต่างชาตินำโดยภาคการผลิตและแปรรูปเกือบ 1.069 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 70.3% ของเอฟดีไอทั้งหมด โดยเพิ่มจากปีที่แล้ว 26.3% ตามมาด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์ 2,470 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 61.5%
อย่างไรก็ตาม นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า "การบริโภคภายในประเทศ" ในช่วง 6 เดือนแรกกลับขยายตัวได้เพียง 5.78% ท่ามกลางความเห็นที่แตกเป็นสองฝ่ายของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ว่า เวียดนามควรจะ "ขึ้นดอกเบี้ย" เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง หรือควรจะคงดอกเบี้ยต่อไปเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมของภาคธุรกิจในปีนี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจีดีพีของเวียดนามในปีนี้จะขยายตัวได้ 6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เติบโต 5% และถือเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในภูมิภาค
"ความเสี่ยงขาลงยังมีอยู่สูง เพราะการส่งออกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเวียดนาม อาจอ่อนแรงลงได้หากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกน่าผิดหวัง และยังมีปัจจัยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือข้อพิพาททางการค้าที่รุนแรงขึ้นด้วย" เปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายกิจการการคลังของไอเอ็มเอฟ กล่าวภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีและคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวนั้นเวียดนามดูจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการกระจายฐานการผลิตของห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ซึ่งเป็นผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทวีความตึงเครียดขึ้น และยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ แม้ว่าทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีท่าทีค่อนข้างตรงกันในการกดดันจีนก็ตาม