กูรูห่วงคนรุ่นมิลเลนเนียล ไม่ได้เตรียมตัวรับความรวย l World Pulse

กูรูห่วงคนรุ่นมิลเลนเนียล   ไม่ได้เตรียมตัวรับความรวย l World Pulse

ความรวยใครๆ ก็อยากได้ แต่การรวยแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนย่อมสร้างปัญหาได้เหมือนกัน คนรุ่นมิลเลนเนียลกำลังจะกลายเป็นรุ่นที่มั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่คำถามคือพวกเขาพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับการไหลเข้ามาของเงินจำนวนมหาศาล

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานผลการประเมินจากไนท์แฟรงค์ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก พบว่า ความมั่งคั่งมหาศาล 90 ล้านล้านดอลลาร์ที่จะถ่ายโอนกันตลอด 20 ปีข้างหน้า ส่อเค้าทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียล “เป็นรุ่นที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์”

กล่าวคือ คนรุ่นsilent generation หรือที่เกิดระหว่างปี 1928-1945 และเบบี้บูม ที่เกิดระหว่างปี 1946-1964 จะส่งมอบอำนาจการควบคุมสินทรัพย์ของตนไปให้มิลเลนเนียล หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1981-1996

คนรุ่นนี้ถูกมองว่าขี้เกียจ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เต็มใจควักกระเป๋าซื้อขนมปังอะโวคาโดมากกว่าออมเงินไว้ซื้อบ้าน ดังนั้นพวกเขาจะมีความรู้จัดการกับรายได้ที่หลั่งไหลเข้ามาแบบสะท้านฟ้าสะเทือนดินได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องไปฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญ

“คนรุ่นมิลเลนเนียลมีการเตรียมตัวมาไม่ดีนักพวกเขาไม่มีการเตรียมตัวดีเท่ากับคนรุ่นที่สร้างความมั่งคั่งมาให้” ซัลวาทอร์ บุชเชมี ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนจัดการสำนักงานครอบครัวพรหมมินพาร์ตเนอร์กล่าวกับซีเอ็นบีซี

เมื่อถึงเวลาที่มิลเลนเนียลรับมรดกความมั่งคั่งเหล่านี้ พวกเขาจะอยู่ในวัย 40 เศษ และอาจไม่มีความสามารถเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง

“เขาไม่มีชุดทักษะที่จะทำเรื่องพวกนี้ได้มาก่อนเพราะพวกเขาไม่เคยทำ ไม่เคยถูกผลักดัน ปัญหาก็คือ พวกเขาจะต้องถูกจูงใจในชีวิตช่วงหลังต้องผลักดันตัวเองให้มีทักษะเหล่านี้อย่างนั้นหรือ” บุชเชมีกล่าวและว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยิ่งอายุมากก็ยิ่งไม่ค่อยอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวต่อไปว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะสั้น ขณะที่คนรุ่นก่อนหน้าให้ความสำคัญกับการเก็บเงินเพื่อหมุดหมายสำคัญในชีวิตมากกว่า เช่น สร้างครอบครัวหรือเกษียณ

รายงานฉบับหนึ่งจัดทำโดยอาร์บีซีเวลธ์แมเนจเมนท์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้มิลเลนเนียลผ่านช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 มาได้ แต่พวกเขา “ห่างไกล” จากสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเสียหายจากสงครามที่ช่วยกำหนดวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้เงินของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

ไม่เพียงเท่านั้นงานวิจัยของบริษัทบริการการเงินเลนดิงคลับ พบว่า มิลเลนเนียลมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าเป็นรุ่นที่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ในฐานะ “รุ่นแซนด์วิช” ที่ต้องดูแลพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าและลูกของตนเอง

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างคนที่ร่ำรวยด้วยตนเองกับคนที่ได้รับมรดก ทำให้ฝ่ายหลังเสียเปรียบเมื่อต้องจัดการกับความมั่งคั่งหรือรับมือกับการสูญเสีย

“คนที่ร่ำรวยมาด้วยลำแข้งจะควบคุมตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง” พอล โฮเคเมเยอร์ นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวและว่า คนที่สร้างความมั่งคั่งมาเองจะมั่นใจในความสามารถของตน และเชื่อว่าจะหาเงินได้ใหม่หากสูญเสียไปส่วนคนที่รวยเพราะได้รับมรดกจะรู้สึกไม่มั่นคงมากกว่า

“พวกเขารู้ว่าสามารถอยู่รอดได้ในสวนสัตว์ แต่ไม่แน่ใจว่าความสามารถที่มีจะอยู่รอดได้ในป่าหรือไม่” โฮเคเมเยอร์ขยายความ

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยารายนี้สังเกตว่า มิลเลนเนียลมีแนวโน้มฉลาดขึ้นเกี่ยวกับอำนาจของความมั่งคั่ง และมองเงินในฐานะผู้ดูแลที่ “ใช้เงินเพื่อยกระดับโลกที่พวกเขารู้สึกมีสิทธิพิเศษที่ได้ใช้ชีวิตอยู่”

กูรูเขาว่าไว้อย่างนี้ จริงหรือไม่จริงคนรุ่นมิลเลนเนียลลองถามตัวเองดู