อาเซียนแบกราคาน้ำมันไม่ไหว เมินแรงต้าน ‘แห่ลดการอุดหนุน’

อาเซียนแบกราคาน้ำมันไม่ไหว เมินแรงต้าน ‘แห่ลดการอุดหนุน’

สื่อนอกชี้ ‘ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย’ กำลังเผชิญแรงกดดันด้านงบประมาณ จนต้องลดหรือยกเลิกเงินอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจและกระทบต่อเงินเฟ้อ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แรงกดดันด้านงบประมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  จากการอุดหนุนราคาพลังงาน กำลังเป็นตัวบีบให้รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ต้องทบทวนนโยบายนี้ใหม่ โดยอาจเป็นการลดเงินอุดหนุนมากขึ้น หรือยกเลิกแทน จนอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชน รวมถึงกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ

ไม่นานมานี้ เนื่องด้วยราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลไทยและมาเลเซียต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาภาระทางการคลังของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ยังพิจารณาที่จะปรับลดเงินอุดหนุนพลังงาน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้กับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม การลดเงินอุดหนุนลงมักจะได้รับแรงต่อต้านจากประชาชน เนื่องจากกังวลว่าจะส่งผลต่อการเพิ่มราคาสินค้าจำเป็น ตั้งแต่ค่าขนส่งไปจนถึงราคาอาหาร

เมื่อ “ภาวะเงินเฟ้อ” ยังคงเป็นความเสี่ยงใหญ่สำหรับประเทศเหล่านี้ การลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และแก๊สหุงต้ม อาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล เพราะค่าครองชีพอาจพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลกำลังเผชิญบททดสอบที่หนักหน่วงว่า จะเดินหน้ากับแผนลดเงินอุดหนุนพลังงานต่อไปหรือไม่ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุน

หากดูในไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีคะแนนนิยมลดลงอย่างรวดเร็ว และการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งเขาเรียกร้องให้ธนาคารกลางทำ ยิ่งดูมีเหตุผลน้อยลง

ล่าสุด “ม็อบรถบรรทุกไทย” เตรียมบุกกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลนำเพดานราคาน้ำมันดีเซลกลับมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับในมาเลเซีย ที่แม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายรัฐบาลก็ออกมาวิจารณ์การลดเงินอุดหนุนน้ำมัน โดยระบุว่าเป็น “ตัวบีบ” ให้เหล่าธุรกิจต้องปิดตัวลง

แม้จะเกิดการกระท้วงขึ้น แต่หนี้สินมูลค่า 1.1 แสนล้านบาทของกองทุนน้ำมันของไทย ได้ผลักดันให้รัฐบาลต้องทยอยปรับขึ้นเพดานราคาน้ำมันดีเซลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ด้วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันและรายได้จากงบประมาณที่ต่ำกว่าเป้าหมายตั้งแต่ต้นปี เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธการปรับขึ้นราคาดีเซลเพิ่มเติมหลังจากการจำกัดราคา 33 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม” คริสตัล ตัน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กล่าว

ในขณะนี้ ราคาน้ำมันแพงขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เนื่องจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค+ ที่ยังคงควบคุมปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก ส่วนเงินอุดหนุนน้ำมัน แม้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนได้ แต่ราคาน้ำมันเหล่านี้มักจะปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบโลก

“ด้วยราคาดีเซลที่สูงขึ้นของไทย ซึ่งตรงกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและโครงการแจกเงินของรัฐบาล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นเป็น 0.9% ตลอดปี 2024 จาก -0.1% ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม” ฮาน เต็ง ชัว นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดีบีเอสกล่าว

ชัวเสริมต่อว่า สิ่งนี้อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลังเลที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินในขณะนี้ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี

สำหรับมาเลเซีย ธนาคาร HSBC ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.7% ในปี 2024 และ 3% ในปีหน้า จากเพียง 1.8% ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม โดยได้ยกเลิกการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 จุดเปอร์เซนต์ในช่วงต้นปี 2025 และเห็นว่ามีโอกาสสูงที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้หรือแม้กระทั่งเพิ่มขึ้น

“เราเชื่อว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในมาเลเซีย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2025 จากเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง RON95 พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ 13% ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้” หยุน หลิว นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC กล่าว

อ้างอิง: bloomberg