การเมืองเอียงขวา ประชานิยมและยุคศีลธรรมล้มละลาย
กระบวนการและผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ จูงใจให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากลงความเห็นว่า ฝ่ายเสนอนโยบายในแนวที่เรียกกันว่า “เอียงขวา” และ “หลักประชานิยม” ได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ในบางประเทศได้ผู้บริหารจำพวกเอียงไปทางขวาตกขอบ
ก่อนสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในอย่างน้อย 64 ประเทศ เปิดโอกาสให้ชาวโลกจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เลือกผู้นำเข้ามาบริหารกิจการบ้านเมือง
นโยบายในแนวเอียงขวาและหลักประชานิยมครอบคลุมกว้างมาก จนยากแก่การให้คำจำกัดความสั้น ๆ หรือวลีที่กระชับ สำหรับด้านนโยบายในแนวเอียงขวามักรวมหลักอนุรักษนิยม ซึ่งคงการแยกชนชั้น ชาตินิยม ต่อต้านการเปิดรับชนต่างชาติ จำกัดอำนาจรัฐ ใช้ระบบตลาดเสรีที่ใช้งบประมาณและเก็บภาษีพร้อมกับมีกฎเกณฑ์เพียงจำกัด และยึดการมีศาสนาประจำชาติ
สำหรับด้านประชานิยม ได้แก่ การต่อต้านอุดมการณ์ที่ใช้บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน และการใช้นโยบายเอาใจประชาชนจำพวกแจกสิ่งต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมตามแบบที่เมืองไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน
ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนความนิยมดังกล่าว คงเป็นอะไรไม่ได้นอกจากความไม่พอใจในสภาวะความเป็นอยู่ของตน และมองว่ามันเป็นผลของนโยบายจากอุดมการณ์ที่รัฐบาลกำลังใช้บริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ แต่นั่นคงไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน
ทั้งนี้เพราะอุดมการณ์พร้อมนโยบายซึ่งมักถูกตราว่า “เอียงซ้าย” ที่หลายรัฐบาลกำลังใช้อยู่ ก็มาจากความไม่พอใจในสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ในอดีต ด้วยเหตุนี้ อะไรทำให้ประชาชนไม่พอใจในสภาวะความเป็นอยู่ของตนจึงเป็นปริศนาที่มีมานานแล้ว
ปริศนาดังกล่าวคงตอบไม่ยากหากมองการเลือกตั้งในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการซื้อหาปัจจัยมาสนองความจำเป็นในการดำเนินชีวิต
แต่ตอบยากหากมองไปยังประเทศก้าวหน้า หรือพัฒนาแล้วเช่นในยุโรปและในอเมริกาเหนือ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นมีความอยู่ดีกินดีจากการมีรายได้ไม่ต่ำกว่าระดับปานกลาง หรือเพียงพอสำหรับซื้อหาปัจจัยทุกอย่างได้ครบตามความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ จึงมองได้ว่า ความไม่พอใจส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้จักพอของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน
มองจากมุมหนึ่งความไม่รู้จักพอ เป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ไม่รู้จักพอ
แต่ในมุมกลับกัน มันนำไปสู่การแข่งขันและการแย่งชิงทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทรัพยากรค่อยๆ ร่อยหรอลง การแย่งชิงเป็นปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆ จากระหว่างบุคคลไปจนถึงระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดสงครามจำพวกในยูเครน
สำหรับในด้านการเลือกตั้ง ความไม่รู้จักพออันเป็นต้นเหตุของความไม่พอใจ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ประชาชนจำนวนมากต้องการเปลี่ยนผู้บริหารกิจการบ้านเมือง ด้วยการเทคะแนนให้ฝ่ายตรงข้ามโดยไม่พินิจว่าผู้สมัครเป็นใครและจะพาบ้านเมืองไปทางไหนในช่วงที่พวกเขามีอำนาจ
ในสหรัฐ ข้อมูลจากกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้บ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนพร้อมจะเทคะแนนให้อดีตประธานาธิบดีที่ถูกศาลตัดสินว่ากระทำความผิดอาญา ทั้งยังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลอีกหลายคดี เนื่องจากเขามีประวัติที่ชี้ชัดว่าเป็นผู้ล้มละลายทางศีลธรรม
อย่างไรก็ดี สหรัฐไม่โดดเดี่ยว เนื่องจากมิใช่ประเทศเดียวที่ประชาชนนับล้านคนพร้อมมองข้ามความล้มละลายทางศีลธรรมของบุคคลที่มีบทบาทในด้านการบริหารกิจการบ้านเมือง
ไทยเป็นพันธมิตรที่ดีของสหรัฐมานาน และในขณะนี้ยังเป็นต่อไปในรูปของการเชิดชูผู้มีบทบาทสูงในด้านการเลือกตั้งและการบริหารบ้านเมือง แม้เขาจะเป็นผู้ล้มละลายทางศีลธรรม ซึ่งแสดงออกมาอย่างแจ้งชัดจากการเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้วก็ตาม
ก่อนสิ้นปีจะมีการเลือกตั้งอีกมากรวมทั้งในสหรัฐ ผลน่าจะชี้ชัดว่าประชาชนเลือกผู้บริหารกิจการบ้านเมืองที่ล้มละลายทางศีลธรรมจรรยาเป็นจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่าโลกตกอยู่ในยุคแห่งความล้มละลายทางศีลธรรมแล้วหรือไม่.