รู้จัก ‘หวัง ชวนฟู’ แห่งบีวายดี ‘เฮนรี ฟอร์ด’ เวอร์ชันจีน

รู้จัก ‘หวัง ชวนฟู’ แห่งบีวายดี  ‘เฮนรี ฟอร์ด’ เวอร์ชันจีน

เมื่อพูดถึงรถอีวี แบรนด์ “บีวายดี” ถือว่ามาแรงมาก ในไทยก็เช่นเดียวกัน สำนักข่าวบลูมเบิร์กไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่บีวายดีที่เมืองเซินเจิ้น และทำความรู้จักหวัง ชวนฟู ผู้ก่อตั้งบริษัท ที่ว่ากันว่าเขาผู้นี้อาจเป็นเฮนรี ฟอร์ด เวอร์ชันจีน

ณ สำนักงานใหญ่บีวายดี ผนังตั้งแต่พื้นยันเพดานเต็มไปด้วยกรอบรูปราว 1,000 ชิ้นแสดงถึงสิทธิบัตรนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 30,000 รายการที่หวัง และทีมวิศวกรของเขาคิดค้นขึ้นมา

สิทธิบัตรเหล่านี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อาทิ แบตเตอรี่ฟอสเฟตไอออนลิเทียมราคาประหยัด ที่คู่แข่งอย่างฟอร์ด เทสลา หรือแม้แต่โตโยต้าก็ใช้ด้วย เป็นหนึ่งในสินทรัพย์มองไม่เห็นที่เปลี่ยนบริษัทของหวังให้กลายเป็นผู้ผลิตอีวีรายใหญ่สุดของโลก หลังจากขายรถอีวีและไฮบริดได้ 3 ล้านคันในปี 2566 ทำรายได้ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำลังจะแซงหน้าเทสลาในปีนี้

ปัจจุบันหวังยังสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมอีวีจีนต่อไป ด้วยยานยนต์ราคาไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์ (360,000 บาท) กลายเป็นการขนส่งที่มวลมหาประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งครั้งหนึ่ง อีลอน มัสก์ ก็เคยตั้งเป้าหมายไว้เช่นนี้

ความสำเร็จของหวังในการทุ่มเทกับเทคโนโลยีอีวีมาสองทศวรรษ ทำให้หลายคนเรียกเขาว่า อีลอน มัสก์ แห่งประเทศจีน ที่แตกต่างกันคือ ผู้ก่อตั้งเทสลาทำหลายเรื่องตั้งแต่อีวี, การเดินทางสู่อวกาศ, ปลูกถ่ายสมองไปจนถึงการขุดเจาะอุโมงค์ แต่เจ้าพ่อบีวายดีมีจุดเน้นชัดเจนมากกว่า

หวัง วัย 58 ปี ผู้ศึกษาวิชาเคมีแบตเตอรี่โลหะในวิทยาลัย เริ่มทำแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือในปี 1995 แล้วค่อยๆ พัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดึงดูดความสนใจ และเม็ดเงินลงทุนจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ได้

เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น หวังได้ทำธุรกิจเสริม เช่น การจัดเก็บแบตเตอรี่เซมิคอนดักเตอร์ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยคงราคาให้ต่ำไว้เสมอ ตามคำขวัญ “สร้างความฝัน” (Build Your Dreams) ของบีวายดี

นอกเหนือจากการเป็นนวัตกรที่เห็นโอกาสของการผลิตแบตเตอรี่เร็วก่อนใคร หวังยังเป็นที่รู้จักกันในนามผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร 

เขามองว่าการบูรณาการแนวดิ่งคือ หัวใจสำคัญของกลยุทธ์บีวายดี นั่นคือ การควบคุมซัพพลายเชนเพื่อลดต้นทุนทำให้หวังได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ผู้ล่วงลับ เคยยกย่องหวังเป็นวิศวกรผู้คลั่งไคล้ และเป็นอัจฉริยะผู้รักษาบีวายดีไม่ให้ล้มไปเสียก่อนในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้งด้วยการทุ่มเททำงานถึงสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง

มังเกอร์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของหวังที่ต้องการเข้าใจแนวคิด และทำทุกอย่างให้เป็นจริงด้วยสองมือของเขาเอง ทำให้หวังดีกว่ามัสก์

ด้านบิล รุสโซ จากออโตโมบิลิตี บริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า สิ่งที่หวัง “เป็นในอุตสาหกรรมอีวีศตวรรษที่ 21 คือสิ่งที่เฮนรี ฟอร์ด เป็นในอุตสาหกรรมรถยนต์ศตวรรษที่ 20 ผู้ประกอบการทั้งสองใช้ความได้เปรียบจากการบูรณาการแนวดิ่ง และการประหยัดต่อขนาด ทำให้การสัญจรเป็นของประชาชน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์