'ไทย' ดินแดนในฝันอันดับ 6 ต่างชาติอยากมาอยู่-ทำงานมากที่สุด

'ไทย' ดินแดนในฝันอันดับ 6 ต่างชาติอยากมาอยู่-ทำงานมากที่สุด

ผลสำรวจชี้ 'ไทย' ดินแดนในฝันอันดับ 6 ชาวต่างชาติอยากมาอยู่-ทำงานมากที่สุด วัดจากค่าครองชีพ-ชีวิตการทำงาน ที่ 1 เป็นของ ‘ปานามา’ ส่วน ‘อินโดนีเซีย’ขึ้นมาอยู่ที่ 3

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานถึงผลสำรวจล่าสุดจาก Expat Insider ของ InterNations ซึ่งเป็นชุมชนระดับโลกสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ระบุว่า “ปานามา” เป็นประเทศที่ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานมีความสุขที่สุดในโลก

ผลสำรวจฉบับนี้ได้ทำการสำรวจชาวต่างชาติจาก 53 ประเทศ จำนวนกว่า 12,500 คนในเดือนก.พ.เกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในต่างประเทศ พบว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่กว่า 82% มีความพอใจกับการใช้ชีวิตในปานามา เพราะค่าครองชีพต่ำ และกว่า 71% พอใจกับการได้รับค่าครองชีพอย่างยุติธรรม  รวมไปถึงเหตุผลทางด้านการเงินเพื่อเกษียณอายุ หรือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ การย้ายไปอยู่ปานามาในฐานะชาวต่างชาตินั้นง่าย ทั้งการหาที่อยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายที่ราคาไม่แพงอีกด้วย  และชื่นชอบอากาศเขตร้อนของปานามา ซึ่งเป็นทางเลือกในการพักผ่อนทั้งชายหาด ภูเขา และป่าฝน

รายงานของ InterNations จัดอันดับ 53 ประเทศทั่วโลกจากเรื่องคุณภาพชีวิต ความสะดวกของที่อยู่อาศัย การทำงานในต่างประเทศ การเงินส่วนบุคคล และ "สิ่งจำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ" ซึ่งครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย การบริหาร ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับ “ประเทศไทย” ติดอันดับ 6 จาก 10 ประเทศที่ชาวต่างชาติมีความสุขที่สุดจากการเข้ามาอาศัยและทำงาน 

  1. ปานามา
  2. เม็กซิโก
  3. อินโดนีเซีย
  4. สเปน
  5. โคลอมเบีย
  6. ประเทศไทย
  7. บราซิล
  8. เวียดนาม
  9. ฟิลิปปินส์
  10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

‘อินโดนีเซีย’ขึ้นอันดับ 3

อินโดนีเซีย”เลื่อนขึ้นมาเป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับ 3 สำหรับชาวต่างชาติอาศัย ด้วยราคาที่อยู่อาศัยถูก ผู้คนเป็นมิตร และมีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวที่ดี 

ชาวต่างชาติที่ทำงานในอินโดนีเซียพึงพอใจกับจำนวนชั่วโมงการทำงานที่สั้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยทำงานเฉลี่ย ต่ำกว่า 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะกฎหมายแรงงานของอินโดนีเซียกำหนดให้ทำงานสูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

แม้ว่าชาวต่างชาติจะพึงพอใจกับชั่วโมงการทำงานที่สั้นในอินโดนีเซีย แต่กลับประสบปัญหากับการใช้ชีวิตแบบดิจิทัลในอินโดนีเซีย จากเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตัวเลือกการชำระเงินแบบไร้เงินสด บริการภาครัฐออนไลน์ และการเข้าถึงบริการออนไลน์ทั่วไปที่ยังไม่สะดวก รวมไปถึงระบบดูแลสุขภาพที่เข้าถึงยากและคุณภาพอากาศต่ำ 

อ้างอิง cnbc