จับตาจีนประชุม ‘Third Plenum’ ลุ้นนโยบายกระตุ้น-ปฏิรูปเศรษฐกิจ

จับตาจีนประชุม ‘Third Plenum’  ลุ้นนโยบายกระตุ้น-ปฏิรูปเศรษฐกิจ

“จีน”เตรียมเปิดม่านการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่สาม ‘Third Plenum’ ในสัปดาห์หน้า กำหนดทิศทางเศรษฐกิจจีนภาพใหญ่รอบ 5 ปี ทั่วโลกจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

ในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดม่านการประชุมใหญ่ในจีนที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง นั่นก็คือการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 (Third Plenum) ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค. 2567

โดยปกติแล้วการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แต่ละชุด ถือเป็นครั้งที่มีความสำคัญอย่างมากในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาบ่งชี้ให้เห็นว่า การประชุมใหญ่ครั้งที่สามที่มีขึ้นทุกๆ 5 ปี มักจะเป็นวาระเพื่อการตัดสินใจ “นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ” เช่น การประชุมในปี 1978 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ “เปิดประเทศ” ปฏิรูปเศรษฐกิจจีนไปสู่ระบบตลาดเสรีในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง หรือในปี 1993 ซึ่งมีการรับรองระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีแบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นรากฐานของการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ทว่าในครั้งนี้ยิ่งพิเศษและถูกจับตามองมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นครั้งที่มีขึ้นหลังจากจีนเพิ่งเผชิญ “วิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์” ครั้งเลวร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศเป็นวงกว้างจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ “สงครามการค้า” กับโลกตะวันตกกลับมาทวีความร้อนแรงอีกครั้ง

ยังไม่ต้องพูดถึงด้วยว่านี่เป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ที่ “ล่าช้า” ไปจากช่วงปกตินานถึง 6 เดือน จนนักวิเคราะห์หลายฝ่ายยิ่งจับจ้องไปที่จีนและ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพิเศษ

จับตาจีนประชุม ‘Third Plenum’  ลุ้นนโยบายกระตุ้น-ปฏิรูปเศรษฐกิจ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ประเมินเหตุผลหลักๆ ที่การประชุม Third Plenum ครั้งนี้มีความสำคัญต่อนักลงทุนทั่วโลกเอาไว้ดังนี้

การประชุม 5 ปีครั้งที่กำหนดชะตาจีนและโลก

Plenum คือการประชุมใหญ่แบบเต็มคณะของของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งภายใต้วาระ 5 ปี ของคณะกรรมการกลางฯ แต่ละชุดจะมีการประชุมใหญ่ 7 ครั้งด้วยกัน เช่น ครั้งที่ 1 คือการประชุมเลือกโปลิตบูโร โดยเฉพาะ 7 อรหันต์สมาชิกถาวรที่เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด ส่วนครั้งที่ 3 คือการประชุมเพื่อเสนอนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในภาพกว้าง จากนั้นจะนำไปสู่การประชุมครั้งที่ 5 เพื่อเสนอแผนการทำงานระยะ 5 ปีของจีน และในครั้งสุดท้ายครั้งที่ 7 จะเป็นการกำหนดวาระครั้งต่อไป

โดยปกติแล้วการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 จะเป็นโอกาสที่คณะผู้บริหารชุดใหม่ได้แถลงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของจีนที่กำลังจะมุ่งไปใน 5 ปีข้างหน้า เช่น การประชุมในปี 2013 ที่ประธานาธิบดีสีเสนอการผ่อนคลาย “นโยบายลูกคนเดียว” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

การประชุม Third Plenum ครั้งที่ผ่านมา

  • ปี 1978 (2521) - ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ
  • ปี 1984 (2527) - ขยายการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่เมืองต่างๆ และพื้นที่ชนบท
  • ปี 1988 (2531) - อนุมัติแผนการปฏิรูปราคาและค่าแรง
  • ปี 1993 (2536) - อนุมัติกรอบการทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจระบบตลาดสังคมนิยม
  • ปี 1998 (2541) - มุ่งการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นและปฏิรูปที่ดิน
  • ปี 2003 (2547) - สนับสนุนการขยายตัวของภาคเอกชนและเพิ่มสิทธิในการซื้ออสังหาฯ
  • ปี 2008 (2551) - อนุมัติแผนปฏิรูปชนบทเชิงลึก ปรับปรุงระบบถ่ายโอนสิทธิในที่ดิน
  • ปี 2013 (2556) - มุ่งปฏิรูปตลาด เปิดทางให้สั่งสมทรัพยากรได้มากขึ้น หนุนภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ และผ่อนปรนกฎลูกคนเดียว
  • ปี 2018 (2561) - มุ่งปฏิรูปเชิงโครงสร้างในพรรคฯ รัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานอื่นๆ รักษาสมดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น

ประชุมที่ไหน มีใครเข้าร่วมบ้าง

โดยส่วนใหญ่แล้วทางการจีนจะจัดการประชุมสำคัญๆ ขนาดใหญ่ของพรรคที่โรงแรมจิงซี (Jingxi) ทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาที่สุดจากกองทัพ มีโอเปอเรเตอร์ทหารหญิงที่พูดได้ทุกสำเนียงท้องถิ่น และซักประวัติอย่างเข้มข้นในการเลือกพนักงานที่เป็นพลเรือนเข้ามาทำงาน เพราะระหว่างการประชุมหลายวันสมาชิกพรรคทุกคนจะต้องพักในโรงแรมห้ามออกไปไหน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นฐานบัญชาการของพรรคที่มีความสำคัญในแง่การประชุมใหญ่ไม่แพ้มหาศาลาประชาคม และเรือนรับรองแขกบ้านแขกเมืองเตี้ยวหยูไถ

การประชุมทั้ง 4 วัน ประกอบไปด้วยคณะกรรมการกลางของพรรคราว 200 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสมทบประมาณ 170 คน สมาชิกทั้งหมดมีตำแหน่งและบทบาทสำคัญในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกันไปตั้งแต่รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และกองทัพ ส่วนผู้ที่นำการประชุมโดยหลักจะเป็นคณะโปลิตบูโรที่นำโดยสี จิ้นผิง

อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวถือเป็นการประชุมลับ โดยจะมีการออกแถลงการณ์ผ่านสื่อหลังการประชุมเสร็จสิ้น และมีการเผยแพร่รายละเอียดตามมาในภายหลัง

ประเด็นต้องจับตาในการประชุมรอบนี้

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานก่อนหน้านี้ว่า วาระในการประชุมครั้งนี้คือการทบทวน “ข้อมติเกี่ยวกับการปฏิรูปเชิงลึกอย่างครอบคลุมและการพัฒนาของจีนให้ทันสมัย”

ทั้งนี้แม้นักลงทุนจะไม่สามารถคาดหวังถึงการปฏิรูปขนานใหญ่ได้ แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายจับตาก็คือ “การส่งสัญญาณ” ว่าจะมีการออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ หรือไม่ ตั้งแต่ปัญหาในด้านการคลังระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ การขับเคลื่อนในภาคเทคโนโลยี และปัญหาเชิงโครงสร้างกับประชากรสูงวัย

บลูมเบิร์กระบุว่าสิ่งที่นักลงทุนจับตาเป็นพิเศษคือ “การปฏิรูปทางการคลัง” เนื่องจากผู้นำทางเศรษฐกิจหลายคนในจีนเคยส่งสัญญาณเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่า กำลังดำเนินการปฏิรูปทางการคลังและภาษีรอบใหม่ ทำให้คาดว่าอาจเห็นภาพชัดเจนขึ้นในการประชุมครั้งนี้ เช่น การเปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นหารายได้จากการขายที่ดิน หรืออาจมีการปฏิรูปภาษีบริโภคหรือภาษีแวตเพื่อเพิ่มรายได้ หลังจากทางการจีนทุ่มเงินไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนักก่อนหน้านี้

ส่วนในภาค “อสังหาริมทรัพย์” ซึ่งยังคงเป็นปัญหาและความเสี่ยงใหญ่สุดต่อเศรษฐกิจจีนนั้น ต้องติดตามว่าจะมีสัญญาณช่วยเพิ่มเติมหรือไม่ หรือจากธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่งออกมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้านหยวนให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้ไปช่วยซื้อโครงการอสังหาฯ ที่ขายไม่ออก และเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนก็เพิ่งกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการใหม่ๆ มาดูดซับผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น

ขณะที่ตลาดทุนจีนยังมีสัญญาณขาลงมากขึ้นก่อนการประชุม ดัชนีฮั่งเส็ง ไชน่า เอ็นเตอร์ไพรซ์ ลดลง 1.4% เมื่อวันจันทร์ที่ 8 ก.ค. หรือลดลงมาแล้วกว่า 9% จากราคาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. จนใกล้แตะระดับของการปรับฐานในเชิงเทคนิค ในขณะที่ดัชนี CSI 300 ในวันเดียวกันร่วงต่อเนื่อง 5 วันทำการ หลังจากปิดลบไปในสัปดาห์ที่แล้ว และเป็นการปิดลบรอบสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 หรือยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2555