คาด 'อีวีจีน' เจ๊งยับนับร้อยภายใน 2030 แข่งเดือดเหลือบริษัทรอดไม่ถึง 20 ราย

คาด 'อีวีจีน' เจ๊งยับนับร้อยภายใน 2030 แข่งเดือดเหลือบริษัทรอดไม่ถึง 20 ราย

บริษัทวิเคราะห์ประเมินจะมีบริษัทรถยนต์ 'อีวีจีน' เป็นผู้เหลือรอดทำกำไรได้ไม่ถึง 20 ราย จากทั้งหมด 137 รายทั่วประเทศภายในปี 2030 เหตุการแข่งขันดุเดือด ไม่แกร่งจริง-สายป่านสั้น อยู่ไม่ไหว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างบริษัทที่ปรึกษาเอลิกซ์ พาร์ทเนอร์ส ว่า จะมีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในจีนเพียง 19 ราย จากทั้งหมด 137 รายเท่านั้น ที่สามารถทำกำไร และอยู่รอดได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายใน 6 ปีข้างหน้า โดยที่เหลืออาจจะต้องออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป หรือหาทางออกด้วยการควบรวมกิจการ หรือหันไปแข่งขันในตลาดอื่นที่เล็กกว่าแทน 

"สงครามราคา" ในตลาดรถยนต์อีวีที่รุนแรง และดำเนินมานานเกือบ 2 ปีแล้ว เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันกำไรของบริษัทรถอีวีบางราย และคาดว่าจะยังดำเนินไปอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด เช่น บีวายดี (BYD) และเทสลา (Tesla) ยังมีแผนที่จะเดินหน้ากลยุทธ์ครองส่วนแบ่งการตลาดต่อ

"ตราบใดที่ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น BYD ยังทำกำไรได้ สงครามราคาก็ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป" สตีเฟน ไดเออร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาเอลิกซ์ พาร์ทเนอร์สในเซี่ยงไฮ้ กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าราคาขายรถยนต์โดยเฉลี่ยในจีนจะปรับตัวลงถึง 13.4% เมื่อปีที่แล้ว แต่บริษัทรถยนต์จีนกลับยังทำกำไรเฉลี่ยเพิ่มถึง 7.8% ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นจาก 6.3% เมื่อปีก่อน ในขณะที่บรรดาค่ายรถยนต์ต่างพากันลดต้นทุนด้วยการกดราคาซัพพลายเออร์ และปรับกลยุทธ์ด้วยการเร่งออกรถรุ่นใหม่ๆ วางตลาดให้เร็วขึ้น 

รายงานระบุว่า ภายในปี 2573 บริษัทรถยนต์สัญชาติจีนจะครองส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์โลกเพิ่มขึ้นเป็น 33% สำหรับตลาดรถยนต์ทั้งหมด และ 45% สำหรับตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) อย่างไรก็ตาม สำหรับส่วนแบ่งการตลาดในยุโรปนั้นจะลดลงเหลือเพียง 12% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 15% เนื่องจากผลกระทบของมาตรการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีจากจีนล่าสุด

ยอดส่งออกอีวีจีนลดฮวบ 13% หลังเจออียูขึ้นภาษี

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีนเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ยอดการส่งออกรถยนต์อีวีของจีนในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 86,000 คัน หรือลดลงถึง 13.2% จากเดือนก่อน ส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดในภาพรวมเดือนเดียวกัน ขยายตัวได้เพียง 0.7% เท่านั้น 

ตัวเลขส่งออกรถอีวี ดังกล่าวยังนับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม นับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสะท้อนถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอีวีจีนภายหลังจากที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในอัตราสูงสุดอีก 37.6% ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนนี้

สำหรับภาพรวมในรอบครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของจีนไปทั่วโลกระหว่างเดือนม.ค. - มิ.ย. ขยายตัวขึ้น 26.9% โดยเป็นดีมานด์จากตลาดรัสเซียและเม็กซิโกมากที่สุด 

ส่วนยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศช่วงเดียวกันเติบโต 1.4% อยู่ที่ 11.25 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้เป็นยอดขายรถยนต์อีวีเติบโตถึง 35.1% อยู่ที่ 4.33 ล้านคัน โดยได้มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากรัฐบาลที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนรถยนต์เก่าที่เป็นรถยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถยนต์อีวี อย่างไรก็ตาม ยอดขายในกลุ่มรถอีวีที่เติบโตดีขึ้นก็ยังขยายตัวได้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งเติบโตถึง 44.1% 

อีวีจีนกระจายความเสี่ยงมา 'ไทย'

นักวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์เรื่องภาษีรถยนต์อีวีจีนของยุโรปว่า แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายุโรป และจีนจะสามารถเจรจาตกลงเรื่องนี้กันได้หรือไม่อย่างไร แต่ที่แน่ชัดก็คือ ความตึงเครียดทางการค้าได้เพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลให้บรรดาบริษัทรถยนต์จีนต้องกระจายความเสี่ยงด้านตลาดส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ แทน

บริษัท ฟิทช์ เรตติงส์ วิเคราะห์ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าอาจฉุดแนวโน้มการเติบโตของอีวีจีนในตลาดยุโรป โดยมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันด้านราคามากขึ้น และลดความสามารถในการแข่งขันของจีนลง จึงทำให้ค่ายรถจีนอาจต้องหันไปลงทุนเพิ่มในตลาดทางเลือกอื่นๆ แทน โดยยกตัวอย่างตลาดส่งออกสำคัญๆ ของค่ายรถใหญ่อย่างบีวายดีซึ่งรวมถึงบราซิล ไทย อิสราเอล ออสเตรเลีย และมาเลเซีย 

ทางด้านบริษัทที่ปรึกษายูเรเซีย กรุ๊ปในสหรัฐได้ส่งสัญญาณเตือนเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาด้วยว่า การที่จีนเปลี่ยนทิศทางไปสู่อีวียังทำให้เกิดผลกระทบในแง่ของรถยนต์สันดาป "ล้นตลาด" และอาจกลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นพิพาททางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศตามมา  

ยูเรเซีย กรุ๊ประบุว่ารถยนต์สันดาปภายในคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 78% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของจีนในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ แม้ว่าประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางรายจะยินดีเปิดตลาดรับรถยนต์โลว์คอสต์จากจีน แต่ตลาดนี้ก็ถือเป็นเซกเมนต์ที่ต้องแข่งขันโดยตรงกับบริษัทรถยนต์ดั้งเดิมจากตะวันตก และในประเทศต่างๆ ด้วย 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์