สงครามราคาใน 'จีน' ลามถึง AI สตาร์ตอัปเหงื่อตก บิ๊กเทคลดโหด 97%
สงครามราคาขยายไปธุรกิจทุกแขนงในจีน ล่าสุดตลาด 'เอไอ' หั่นราคาดึงลูกค้ากันสนั่น สตาร์ตอัปเหงื่อตกหลังบิ๊กเทคเข้ามาแข่งดุ 'อาลีบาบา' ลดราคาโหด 97% ผู้เชี่ยวชาญหวั่นราคาถูกเกินทำตลาดเอไอไม่ยั่งยืน
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่าสตาร์ตอัปด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในจีนกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดใน "สงครามราคา" เพื่อแย่งชิงลูกค้าให้ได้เร็วที่สุด หลังจากผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาแข่งขันด้านราคาที่โหดกว่า จนก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของอุตสาหกรรมนี้
บรรดาบริษัทสตาร์ตอัปเอไอในจีนที่ระดมเงินทุนได้หลายร้อยล้านดอลลาร์กำลังเผชิญกับความท้าทายของการต้องเร่งหาลูกค้าอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจไม่สามารถอยู่รอดได้เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง, ไบต์แดนซ์ และไป่ตู้ ต่างก็เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้
รายงานได้ยกตัวอย่างของ Baichuan AI ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปชั้นนำด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีน และเป็นหนึ่งในบริษัทเอไอที่มาร่วมออกงานแสดงเทคโนโลยีที่เซี่ยงไฮ้เมื่อต้นเดือน ก.ค.นี้ โดยมีการสาธิตการใช้ระบบที่ปรึกษาสุขภาพผ่าน "แชตบอท" ที่ช่วยให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเก่าและดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม
แชตบอทตัวนี้ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่สุดล้ำที่มีชื่อว่า Baichuan4 ซึ่งทางไป่ฉวนอ้างว่าในบางด้านนั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4 ของค่าย "โอเพนไอไอ" เสียอีก หากมีคนถามเรื่องอาการเจ็บตา แชตบอทตัวนี้ก็จะตอบคำถามได้อย่างละเอียดจนถึงขั้นให้คำปรึกษาว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ควรไปโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งพนักงานของไป่ฉวนระบุว่า นี่คือแชตบอทที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการใช้งานในด้านเฮลท์แคร์โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของไป่ฉวนขึ้นอยู่กับว่า "โรงพยาบาลยินดีที่จะจ่าย" เพื่อใช้เอไอของบริษัทนี้ในราคาที่สูงกว่าเจ้าอื่น หรือไม่ โดย Baichuan4 มีราคา 100 หยวน (ราว 500 บาท) ต่อ 1 ล้านโทเค็น ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้วัดจํานวนคําในแบบสอบถามหรือคําตอบ ราคานี้เป็นอัตราเดียวกับ GPT-4o รุ่นล่าสุดของโอเพนเอไอ
ในขณะที่ศึกค่าบริการเอไอของผู้เล่นรายใหญ่นั้น นำโดยบริษัท "ไบต์แดนซ์" ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มดังติ๊กต๊อก เสนอค่าบริการเอไอ Doubao Pro รุ่นล่าสุดในราคาเพียง 0.8 หยวน (ราว 5 บาท) ต่อ 1 ล้านโทเค็น เพื่อแย่งชิงตลาดจาก "อาลีบาบา" ที่ลดราคา Qwen ลงมากถึง 97% จนต่ำกว่า 0.5 หยวน (ราว 3 บาท) ส่วนไป่ตู้ (Baidu) บริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นเบอร์ 1 ในจีนถึงขั้นสนอให้บริการ "ฟรี" ในบางรุ่น
ผู้จัดการผลิตภัณฑ์จากหน่วยธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งของอาลีบาบากล่าวว่า "การตั้งราคาที่ถูกเหล่านี้ ช่วยเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นใช้งานเอไอของผู้ใช้"
นอกจากนี้ การที่แชตบอทเอไอที่ได้รับความนิยมของโอเพนเอไอและบริการอื่น ๆ ของสหรัฐไม่สามารถใช้งานได้ในจีนนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตและสตาร์ตอัปอย่างร้อนแรงในประเทศนี้
เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2567 มีปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) มากถึงกว่า 117 รายการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้จีนเป็นผู้นำระดับโลกด้านเอไอ รวมทั้งรัฐบาลยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านสตาร์ตอัปเอไอด้วย
หวัง เสี่ยวฉวน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไป่ฉวนกล่าวว่า การแข่งขันด้านราคาเป็นสิ่งที่ดี อย่างแรกคือทำให้บริษัทและผู้คนจํานวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงได้ ประการที่สองคือบริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรจำนวนมากเพื่อลงทุนทำเอง
อย่างไรก็ตาม จาง เผิง ซีอีโอของ Zhipu AI หนึ่งในสตาร์ตอัปเอไอระดับยูนิคอร์นกล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทําให้ต้นทุนลดลง แต่การลดราคาที่มากเกินไปก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี
"ในเวลานี้ ผู้ใช้เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ปัญหาก็คือแนวโน้มแบบนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน มันไม่ใช่ตรรกะทางธุรกิจปกติ" จางกล่าว
MiniMax เป็นยูนิคอร์นอีกรายที่พยายามหาทางสร้างรายได้โดยมุ่งไปที่ลูกค้าบุคคลเป็นหลัก ผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า Talkie ที่ให้ผู้ใช้สามารถแชทกับเอไอที่มีคาแรคเตอร์ต่างๆ โดยบริษัทหาช่องทางทำเงินจากฟีเจอร์การเพิ่มคุณสมบัติและรายการเพิ่มเติมเกี่ยวกับคาแรคเตอร์เหล่านี้
การสร้างรายได้จากเอไอเป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ทั่วโลก บริษัทเวนเจอร์ แคปิทัลชื่อดังในสหรัฐอย่าง เซควอญา แคปิทัล เพิ่งประมาณการว่า อุตสาหกรรมเอไอต้องทำรายได้มากถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยต้นทุนของบรรดาศูนย์ข้อมูลที่ใช้เจนเนอเรทีฟ เอไอ
แม้ว่าสตาร์ตอัปเอไอในจีนจะได้รับเงินระดมทุนกันเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่หากเทียบสเกลกับระดับสตาร์ตอัปเบอร์ต้นๆ ในสหรัฐอย่างโอเพนเอไอนั้นยังถือว่าห่างกันหลายเท่าตัว โดยโอเพนเอไอเพิ่งระดมทุนได้ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์จากบริษัท "ไมโครซอฟท์" เมื่อปีที่แล้ว
และสุดท้ายแล้วการแข่งขันของสตาร์ตอัปเอไอในจีนก็อาจจบลงที่การ "ซื้อกิจการ" ของบรรดาผู้เล่นรายใหญ่อย่างอาลีบาบาและเท็นเซนต์ ที่เปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นผู้ลงทุนในสตาร์ตอัปดาวรุ่งทั้งหลาย เพื่อต่อยอดนวัตกรรมโดยผ่านมือของบิ๊กเทคสายป่านยาวในที่สุด