ถอดบทเรียนลอบสังหาร ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ตอกย้ำการเมืองสหรัฐรุนแรง

ถอดบทเรียนลอบสังหาร ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ตอกย้ำการเมืองสหรัฐรุนแรง

นักการเมือง และนักวิเคราะห์ในสหรัฐเตือนกันมานานแล้วว่า วาทะการเมืองร้อนแรงจากทุกฝ่าย อาจนำไปสู่การนองเลือด ซึ่งสุดท้ายได้พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วจากความพยายามลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ กลางเวทีหาเสียงรัฐเพนซิลเวเนีย

เมื่อวันเสาร์ (14 ก.ค.67) ราว 18.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ขึ้นเวทีหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ห่างจากเมืองพิตส์เบิร์กไปทางเหนือราว 53 กิโลเมตร บทเพลง God Bless the USA ดังกระหึ่มท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้สนับสนุน เมื่อเสียงเพลงจบลง ทรัมป์เริ่มปราศรัยในเวลา 18.11 น. ทันใดนั้นมือปืนยิงปืนหลายนัดเข้าสู่เวที ทรัมป์จับใบหูตนเองแล้วทรุดตัวลงบนพื้น ได้ยินเสียงคนตะโกน “ยิง ยิง ยิง” 

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ประธานาธิบดีกระโดดขึ้นมาพาตัวเขาลงจากเวทีไปขึ้นรถ เจ้าตัวยกนิ้วโป้งเป็นสัญลักษณ์ปลอดภัย 

ต่อมาโฆษกหน่วยพิทักษ์ประธานาธิบดีแถลงว่า เจ้าหน้าที่สังหารมือปืนแล้ว เหตุการณ์นี้ยังมีผู้ร่วมงานเสียชีวิตหนึ่งคนบาดเจ็บสาหัสอีกสองคน

ส่วนทรัมป์หลังถูกนำตัวไปตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลท้องถิ่น อาการปลอดภัยดี เขาได้ออกนอกพื้นที่แล้วนั่งเครื่องบินไปยังรัฐนิวเจอร์ซีย์ 

สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) แถลงว่า มือปืนชื่อนายโทมัส แมทธิว ครุกส์ วัย 20 ปี จากเมืองเบเธล พาร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมเบเธลพาร์คในปี 2565 ลงทะเบียนเลือกตั้งในฐานะสมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้เขาอายุถึงจะได้ใช้สิทธิเป็นครั้งแรก

ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางเผยว่า เมื่อเดือนม.ค.2564 ผู้บริจาครายหนึ่งซึ่งใช้นามว่าโทมัส ครุกส์ มีที่อยู่ที่เดียวกับมือปืนเคยบริจาคเงิน 15 ดอลลาร์ให้กลุ่มการเมือง Progressive Turnout Project ซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคเดโมแครต

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อปี 2564 บรรดาสมาชิกรัฐสภา และนักวิเคราะห์ต่างพยายามส่งเสียงเตือนถึงการหาเสียงด้วยถ้อยคำรุนแรงอาจนำไปสู่การนองเลือด

อันตรายที่เห็นได้ชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2565 เมื่อสามีของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นถูกนักทฤษฎีสมคบคิดขวาจัดบุกเข้ามาในบ้านแล้วใช้ค้อนทุบหัว เดิมทีผู้ก่อเหตุตั้งใจเข้ามาจับเพโลซีเป็นตัวประกันแล้ว “หักหัวเข่าของเธอ” แต่เธอไม่อยู่บ้าน สามีจึงรับเคราะห์แทน 

ในกรณีของทรัมป์ แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามือปืนมีความมุ่งหมายใด แต่นักวิเคราะห์ และนักการเมืองต่างกล่าวโทษวาทกรรมการเมืองแบบสุดโต่ง

“หลายสัปดาห์มาแล้วที่เราผู้นำพรรคเดโมแครตโหมกระพือความตื่นตระหนกไร้สาระว่า ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งจะกลายเป็นจุดจบของประชาธิปไตยในอเมริกา

แน่นอนว่า เราเคยเห็นพวกซ้ายจัดใช้ถ้อยคำรุนแรงมาแล้วในอดีต วาทกรรมยั่วยุแบบนี้ต้องหยุดได้แล้ว”สตีฟ สคาลีส ผู้นำเสียงข้างมากพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X เขาเคยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ยิงกันในงานกีฬาของสภาคองเกรสเมื่อปี 2560

เช่นเดียวกับคริส ลาซิวิตา เจ้าหน้าที่อาวุโสดูแลการหาเสียงของทรัมป์ยกความผิดให้กับภาษาที่ “นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย, ผู้บริจาคให้พรรคเดโมแครต หรือแม้กระทั่งโจ ไบเดน” ใช้

ขณะที่อจามู บาราคา ผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กับจิล สทีน จากพรรคกรีน เมื่อปี 2559 ชี้ว่า วาทกรรมของพรรคเดโมแครตอาจทำให้มือปืนเห็นว่า “เป็นหน้าที่ความรักชาติของตน ที่ต้องกำจัดภัยคุกคามต่อประเทศชาติ”

“ถึงเวลาไก่ก็ต้องกลับรัง” บาราคาโพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X

แต่สิ่งที่ทั้งสามคนไม่พูดถึงก็คือ ทรัมป์เองก็เป็นผู้ใช้วาทกรรมการเมืองรุนแรงในระยะหลัง

ผู้ตกเป็นเป้าของทรัมป์หลายคนทั้งในสภาคองเกรส และในรัฐบาล ตั้งแต่มิตต์ รอมนีย์ สว.พรรครีพับลิกัน ไปจนถึงแอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาการแพทย์ของรัฐบาล เปิดเผยว่า โดนข่มขู่จากผู้สนับสนุนทรัมป์จนต้องจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนตัว 

ที่ผ่านมาคำพูดสร้างความแตกแยกเคยเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ตอนนี้กลับเป็นเรื่องปกติในกลุ่มขวาจัด สมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันใช้ภาษารุนแรง และภาพลักษณ์ไม่เหมาะสมในการหาเสียง

ข้อมูลจากตำรวจสภาชี้ว่า คำข่มขู่ที่มีต่อสมาชิกสภาคองเกรสทุกฝ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 9,625 ครั้งในปี 2564 เทียบกับ 3,939 ครั้งในปี 2560

โรเบิร์ต เพพ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งนับตั้งแต่เกิดเหตุบุกอาคารรัฐสภา โพลล่าสุดทำเมื่อเดือนก่อน ผู้ให้ข้อมูล 10% กล่าวว่า การใช้กำลัง “มีความชอบธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี”

“การยิงอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผลจากการสนับสนุนความรุนแรงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญในประเทศของเรา และเราต้องกังวลถึงภัยคุกคามเพื่อตอบโต้ไปยังประธานาธิบดีไบเดนด้วย ผลสำรวจชี้ว่า ผู้ใหญ่อเมริกัน 7% หรือ 18 ล้านคน สนับสนุนการใช้กำลังเพื่อให้ทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมีปืน” เพพกล่าวกับเอเอฟพี

ชาร์ลี โคลีน นักวิเคราะห์การเมืองหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กลยุทธ์ RED PAC บริษัทที่ปรึกษาสายอนุรักษนิยมเรียกร้องให้ชาวอเมริกันผนึกกำลัง “ประณามความรุนแรงดังกล่าว และร่วมมือกันสร้างหลักประกันความมั่นคงและปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคน”

“เหตุการณ์วันนี้เตือนใจเราชัดเจนถึงภัยคุกคามที่ผู้นำของเราต้องเผชิญ การทำร้ายผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการทำร้ายประชาธิปไตยของเรา” โคลีนสรุป

 หลังเกิดเหตุยิงทรัมป์ได้ไม่นาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงข่าวด่วนที่รีโฮโบธบีช รัฐเดลาแวร์

"ไม่มีที่ให้ความรุนแรงแบบนี้ในอเมริกา มันแย่มาก มันแย่ นี่คือ เหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราต้องหลอมรวมประเทศนี้เป็นหนึ่ง เราจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ เรายอมรับสิ่งนี้ไม่ได้

ความรุนแรงทางการเมืองหรือความรุนแรงแบบนี้ในอเมริกาไม่เคยได้ยินมาก่อน มันไม่เหมาะสม ทุกคนต้องประณาม ทุกคนเลย" ไบเดน กล่าว 

มีรายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐรีบกลับมาทำเนียบขาวก่อนกำหนดเพื่อรับฟังข้อมูลเพิ่มเติม ทำเนียบขาวแจ้งว่า ไบเดนได้มีโอกาสพูดคุยกับทรัมป์แล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์