Trumponomics 2 อาจไม่แย่อย่างที่คาด

Trumponomics 2 อาจไม่แย่อย่างที่คาด

หลังสิ้นเสียงปืน ผู้เขียนทราบทันทีว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นดังคาด คะแนนนิยมของทรัมป์พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง โดยผลโพลของ Real clear politics ระบุว่า คะแนนนิยมของทรัมป์พุ่งขึ้นเกิน 60% ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคเดโมเครต รวมแล้วได้เพียงประมาณ 30%

ในความเป็นจริง คะแนนนิยมทรัมป์เพิ่มขึ้นตั้งแต่หลังการโต้วาทีกับไบเดน หลังจากที่ผู้ชมเริ่มมีคำถามในประเด็นด้านสุขภาพและความชราภาพ และมีกระแสให้เปลี่ยนตัว แต่ไบเดนยังคงส่งสัญญาณว่าพร้อมจะลงชิงตำแหน่ง ขณะที่หลังที่มีความพยายามลอบสังหารทรัมป์ ยิ่งทำให้โอกาสที่ทรัมป์จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากจะทำให้ประชาชนรู้สึกเห็นใจว่าเป็นเหยื่อในความรุนแรง และแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามพัฒนาการของการสอบสวนคดีอย่างต่อเนื่อง

หลายฝ่ายรวมทั้งตลาดการเงินมองว่า การกลับมาของทรัมป์จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จากหลากหลายนโยบายของทรัมป์ เช่น (1) การขึ้นภาษีการค้าจากจีน 60% และจากทั่วโลก 10% จะเพิ่มต้นทุนการนำเข้า (2) การเนรเทศหรือส่งกลับผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายอาจผลักดันค่าจ้าง และ (3) การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเป็นการถาวรจะทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง (Fed) 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า โอกาสในการที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นมากอาจมีไม่มากนัก โดยสามารถพิจารณาได้จากแนวนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ 6 ประการ

1.การยกเลิกกฎระเบียบ (Deregulation) โดยในสมัยทรัมป์ 1 มีแนวนโยบาย One-in-Two-Out หรือออกกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ จะต้องโละของเดิม 2 ฉบับ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เนื่องจากทรัมป์เป็นมือใหม่ ยังไม่เข้าใจกระบวนบริหารราชการ/ ไม่มีทีมงานดีพอ ปัจจุบันเตรียมงาน/ เตรียมทีมดีขึ้น ทำให้เป็นไปได้ว่า ทรัมป์ 2 จะสามารถลดกฎระเบียบได้มากขึ้น

2.แนวนโยบายในด้านการลดภาษีเป็นการถาวร ที่ผ่านมา ทรัมป์ 1 ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และจะหมดในปี 2568 ซึ่งทรัมป์ 2 จะต่อเป็นการถาวร ซึ่งการลดภาษีเหล่านี้ มีหลายส่วน เช่น ภาษีนิติบุคคลปัจจุบันขั้นสูงอยู่ที่ 21% ขณะที่ไบเดนจะเพิ่มเป็น 28% ส่วนทรัมป์จะให้คงที่ 21% หรือลดลงมาเล็กน้อยที่ 20% ส่วนภาษีบุคคลธรรมดา ปัจจุบันมี 7 ขั้น โดยอัตราสูงสุดอยู่ที่ 37% ไบเดนต้องการขึ้นเป็น 39.6% ส่วนทรัมป์ กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 37% และเมื่อหักส่วนลดหย่อนต่าง ๆ จะทำให้อัตราสูงสุดเหลือ 30%

หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี สำนักงานงบประมาณของรัฐสภาหรือ Congressional Budget Office: CBO คาดจะทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 1% GDP และรายได้หายไปปีละ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่ทรัมป์มีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้า และยกเลิกส่วนลดจากมาตรการ Inflation Reduction Act ของไบเดน ซึ่งอาจทำให้ได้เงินมาทดแทนประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้การขาดดุลอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

3.แนวนโยบายด้านกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยในสมัยทรัมป์ 1 มีการเก็บภาษีจากจีนประมาณ +/-25% จากสินค้าประมาณ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ และมีข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง (Trade deal phase 1) โดยจีนจะต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้ได้ 2 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 2 ปี โดยในจำนวนนั้น จะต้องมีสินค้าเกษตร 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ และพลังงาน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แลกกับการที่สหรัฐจะลดภาษีสินค้าจำนวน 1.2 แสนล้านจากจีนลงจาก 25% เป็น 7.5% แต่เมื่อครบกำหนดในปี 2563 จีนไม่สามารถนำเข้าตามข้อตกลงได้ แต่สหรัฐไม่ได้ทำมาตรการลงโทษแต่อย่างใด (เพราะเปลี่ยนรัฐบาล)

ขณะที่ทรัมป์ 2 มีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และจากทั่วโลก 10% ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำได้ (โดยเฉพาะจากจีน) แต่กรณีโลก ผู้เขียนมองว่าอาจทำได้ยาก หรือทำได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะ ทรัมป์ชอบการถ่วงดุลในเชิงนโยบาย เนื่องจากทรัมป์ชอบที่จะให้มีการรวมทีมของผู้ที่มีแนวคิดเป็นคู่แข่งกัน และเขาจะตัดสินระหว่างความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยผู้กำหนดนโยบายสายเหยี่ยวอย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร อาจได้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ แต่เขาอาจแต่งตั้งนักการเงินจากวอลล์สตรีทมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

4.การแทรกแซงธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยในยุคทรัมป์ 1 เข้าแทรกแซง Fed ให้ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขู่จะปลดประธาน Fed หากไม่ทำตาม แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ปลดจริง ในขณะที่ในยุคทรัมป์ 2 ผู้เขียนมองว่า เขามีแรงจูงใจที่จะแทรกแซง Fed น้อยลง เนื่องจากในช่วงต่อไปเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง รวมถึงกระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการไม่อนุญาตให้ปลดประธานได้โดยง่าย

5.ผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในยุคทรัมป์ 1 มีนโยบายสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก และส่งผู้อพยพกลับประเทศ ขณะที่ในยุคทรัมป์ 2 อาจเข้มงวดการอนุญาตผู้อพยพเข้าประเทศขึ้นได้บ้าง แต่การเนรเทศผู้อพยพออกไปเป็นจำนวนมากอาจทำได้ยาก ซึ่งทั้งหมดไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

6.ความสัมพันธ์กับสภาคองเกรส ในต้นปี 2568 จะมีปฏิทินกฎหมายที่หนาแน่น โดยตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ทำเนียบขาวต้องเจรจาประเด็นเพดานหนี้กับสภาคองเกรส ก่อนจะเกินเพดานในปลายเดือน เม.ย. ซึ่งหากรายจ่ายชนเพดาน รัฐบาลจะต้องหยุดการเบิกจ่ายงบประมาณ (ซึ่งอาจรวมถึงการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล)

ผู้เขียนมองว่า ประเด็นดังกล่าวขึ้นอยู่กับการที่พรรครีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนและวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งหากได้ทั้ง 2 สภา จะสามารถทำนโยบายตามที่หาเสียงได้มากขึ้น แต่หากไม่ได้ทั้ง 2 สภา อาจทำให้การเจรจาต่อรองประเด็นหนี้สาธารณะและงบประมาณกับสภาคองเกรสยากขึ้น

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนมองว่า Trumponomics 2 อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง โดยความสามารถของรัฐบาลทรัมป์ในการดำเนินนโยบายที่สร้างความเสียหายจะถูกจำกัด โดยมีสภาคองเกรส สถาบันตุลาการ ตลาดการเงิน หรือแม้แต่สมาชิกในคณะบริหารของทรัมป์เองต่างทำหน้าที่เป็นตัวตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรัมป์เป็นผู้ที่จะสร้างความประหลาดใจได้เสมอ เห็นได้จากความพยายามลอบสังหารครั้งนี้

แต่ที่แน่นอนคือ เมื่อทรัมป์กลับมา ความผันผวนปั่นป่วนจะมากขึ้นอย่างแน่นอน นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้อ่านทุกท่าน โปรดระวัง

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่)