A journey of chocolate จากพิธีกรรมโบราณสู่ขนมครองใจคนทุกวัย

การเดินทางของ "ช็อกโกแลต" เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจตั้งแต่ต้นกำเนิดในวัฒนธรรม "มาโย-ชินชิเป" (Mayo-Chinchipe) เมื่อราว 5,300 ปีก่อน จนปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนทุกวัยทั่วโลก

"ช็อกโกแลต" เป็นขนมที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีประวัติศาสตร์อันยาวนานครอบคลุมหลายทวีปและหลายศตวรรษ ตั้งแต่ต้นกำเนิดในวัฒนธรรมมาโย-ชินชิเป (Mayo-Chinchipe) เมื่อราว 5,300 ปีก่อน จนปัจจุบันที่กลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนทุกวัย 

การเดินทางของช็อกโกแลตเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้นพบ นวัตกรรม ความสำคัญทางเศรษฐกิจ และวิวัฒนาการของรสนิยม
 

ประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลตเริ่มต้นจากอารยธรรมโบราณในดินแดนที่ปัจจุบันคือ ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกต้นโกโก้ (Theobroma Cacao) แห่งแรก ชาวพื้นเมืองนิยมบดเมล็ดโกโก้เพื่อทำเครื่องดื่มรสขมและมีฟองสำหรับใช้ในพิธีกรรม ต่อมาอารยธรรม "มายา" และ "แอซเท็ก" สืบสานประเพณีนี้ โดยถือว่าโกโก้เป็นของขวัญจากเทพเจ้า ชาวแอซเท็กยังใช้เมล็ดโกโก้แทนสกุลเงินด้วย 

A journey of chocolate จากพิธีกรรมโบราณสู่ขนมครองใจคนทุกวัย

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อนักสำรวจชาวสเปนพบจักรวรรดิแอซเท็กในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 พวกเขาได้รู้จักเครื่องดื่มโกโก้และนำเมล็ดโกโก้ไปยังยุโรป แรกเริ่มเครื่องดื่มชนิดนี้สงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่แปลกใหม่และต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการแปรรูป เมื่อเวลาผ่านไป ชาวยุโรปได้ดัดแปลงเครื่องดื่มรสขมให้เข้ากับรสนิยมของตน โดยเติมน้ำตาล วานิลลา และนม จนกลายเป็นช็อกโกแลตรสหวานอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน

การเดินทางของช็อกโกแลตได้เปลี่ยนไปอีกครั้ง จากสินค้าฟุ่มเฟือยมาสู่สินค้าทั่วไปที่ทุกชนชั้นเข้าถึงได้ สร้างบทบาทใหม่และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกาตะวันตก ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ปัจจุบันแอฟริกาตะวันตกถือเป็นผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยประเทศไอวอรีโคสต์และกานาถือครองสัดส่วนการผลิตกว่า 60% ของปริมาณโกโก้ทั้งโลก ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและครอบครัวหลายล้านชีวิต แม้ต้องเผชิญกับข้อครหาเรื่องการใช้แรงงานเด็กและการตัดไม้ทำลายป่า ในละตินอเมริกา ประเทศอย่างบราซิล เอกวาดอร์ และเปรู ยังถือเป็นแหล่งปลูกสำคัญ โดยเอกวาดอร์ยังคงรักษาชื่อเสียงด้านรสชาติของโกโก้สำหรับแปรรูปเป็นช็อกโกแลตเกรดพรีเมียม ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ด้วยภูมิอากาศร้อนชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การปลูก

ส่วนช็อกโกแลตใน "ไทย" เป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างใหม่แต่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงผลักดันจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ความสนใจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ปลูกหลักอยู่ในภาคตะวันออกและใต้ เช่น จันทบุรีและชุมพร ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้เป็นพืชทางเลือกมากขึ้น 

A journey of chocolate จากพิธีกรรมโบราณสู่ขนมครองใจคนทุกวัย

ช็อกโกแลตฝีมือคนไทยกำลังได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ โดยแบรนด์อย่างเช่น KanVela Craft Chocolate และ Siamaya นำเสนอรสชาติโกโก้ไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เข้มข้นและซับซ้อน มักมีโน้ตของผลไม้เมืองร้อน ถั่ว และเครื่องเทศ ผู้ผลิตยังนำเสนอช็อกโกแลตที่ผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่น สร้างประสบการณ์การชิมที่เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนถึงวัฒนธรรมอาหารไทย 

ข้อมูลการบริโภคจาก Euromonitor สรุปสภาพตลาดช็อกโกแลตในไทยปี 2566 พบ ยอดขายปลีกของช็อกโกแลตเติบโตขึ้นกว่า 8% มีมูลค่ารวม 8.1 พันล้านบาท โดยช็อกโกแลตแบบแท่งเป็นประเภทที่มียอดขายสูงสุด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้นำ ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 21% ของมูลค่าการขายปลีกทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต่างชาติยังครองตลาดส่วนใหญ่ในไทยทั้ง Kit Kat, Ferrero Rocher, Milo และ M&M's 

อนาคตของสินค้าชนิดนี้จะถูกนำทางด้วยกระแสรักษ์สุขภาพ ที่ผลักดันให้เกิดการแนะนำให้ช็อกโกแลตเป็นตัวเลือกของขนมเพื่อสุขภาพ โดยแบรนด์อย่าง Hershey's ได้เปิดตัวช็อกโกแลต Plant-based นอกจากนี้แบรนด์ต่าง ๆ ยังแข่งขันกันโดยใช้กลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจ ทั้งการ Collaboration ระหว่างแบรนด์ เช่น ความร่วมมือของ Kit Kat กับเชนร้านอาหารต่าง ๆ หรือ การส่งเสริมแคมเปญวันสตรีสากลของ Hershey's

A journey of chocolate จากพิธีกรรมโบราณสู่ขนมครองใจคนทุกวัย

สำหรับแบรนด์คราฟท์ช็อกโกแลตท้องถิ่น แม้ขนาดตลาดจะยังไม่ใหญ่เท่าแบรนด์ต่างชาติ แต่การใช้ "ความคิดสร้างสรรค์" ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ จะสามารถสร้างฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นได้ เช่น การนำเสนอส่วนผสมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และรสชาติตามฤดูกาล การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดกิจกรรมชิมและเวิร์คช็อปเพื่อสร้างประสบการณ์ การเล่าเรื่องราวของแบรนด์และต้นทางวัตถุดิบ รวมถึงการทำความร่วมมือกับศิลปินและร้านกาแฟท้องถิ่นจะช่วยขยายฐานลูกค้า ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าร่วมเทศกาลต่าง ๆ และสร้างช็อกโกแลตธีมพิเศษตามเทศกาลจะช่วยเพิ่มการมองเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้แบรนด์คราฟท์ช็อกโกแลตของไทยจะสามารถสร้างเอกลักษณ์และเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างดี

TCDC COMMONS Creative Food ร่วมกับ TCCF เชิญชวนเข้าร่วมชม Showcase และ Workshop ภายใต้หัวข้อ “Cacao Walk: A Journey of Craft Chocolate” ให้ผู้สนใจได้สวมบทบาทเป็นเกษตรกร และนักทำช็อกโกแลต เรียนรู้กระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจากผลโกโก้สด จนถึงปลายทางช็อกโกแลตบาร์ ผ่านขั้นตอนที่พิถีพิถันและได้คุณประโยชน์จากโกโก้อย่างครบถ้วน ระหว่างวันที่ 4-28 ก.ค.67 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย