อีคอมเมิร์ซอาเซียน พุ่ง 1.14 แสนล้านดอลล์ ‘ติ๊กต็อก - ช้อปปี้' แรง
“อีคอมเมิร์ซ” อาเซียนไม่แผ่ว ยอดขายรวมทะลุ 114.6 พันล้านดอลลาร์ ปี 66 เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า “เวียดนาม-ไทย” เติบโตเร็วสุด “ติ๊กต็อก” มาแรงโต 4 เท่าแซง “ลาซาด้า” ขณะที่ "ช้อปปี้" ยังเป็นเบอร์ 1 ฟันยอดขายรวม 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์
KEY
POINTS
- “อีคอมเมิร์ซ” อาเซียน ยอดขายรวมทะลุ 114.6 พันล้านดอลลาร์ปี 2566 เพิ่มขึ้น 15%
- “เวียดนาม” และ “ไทย” เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุด
- “ติ๊กต็อก” มาแรงโต 4 เท่าแซง “ลาซาด้า”
- "ช้อปปี้" ยังครองเบอร์ 1 ฟันยอดขายรวม 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์
“อีคอมเมิร์ซ” อาเซียนไม่แผ่ว ยอดขายรวมทะลุ 114.6 พันล้านดอลลาร์ปี 2566 เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า “เวียดนาม-ไทย” เติบโตเร็วสุด “อินโดนีเซีย” ครองแชมป์ตลาดใหญ่สุด กินส่วนแบ่งเกือบ 50% ของยอดขายรวมทั้งภูมิภาค “ติ๊กต็อก” มาแรงโต 4 เท่าแซง “ลาซาด้า” ขณะที่ "ช้อปปี้" ยังเป็นเบอร์ 1 ฟันยอดขายรวม 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีการเติบโตที่น่าสนใจ ตามรายงานของ Momentum Works “Ecommerce in Southeast Asia 2024” ชี้ว่ามูลค่ารวมของ 8 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.14 แสนดอลลาร์ปี 2566 เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565
รายงานฉบับนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดอีคอมเมิร์ซหลักๆ ในภูมิภาค ตลอดจนความเคลื่อนไหวภาพรวมการแข่งขันของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ และผู้เล่นในอีโคซิสเต็มนี้รวมถึงแนวโน้มโลจิสติกส์
ทั้งนี้ “เวียดนาม” และ “ไทย” เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุด มี GMV (Gross Merchandise Volume) หรือยอดขายสินค้าออนไลน์รวมเพิ่มขึ้น 52.9% และ 34.1% ตามลำดับ "เวียดนาม" แซงหน้า “ฟิลิปปินส์” แล้วในฐานะตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ภูมิภาค ขณะที่ “อินโดนีเซีย” ยังเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดครองส่วนแบ่ง 46.9% ของยอดขายรวมในภูมิภาค
“ติ๊กต็อกช้อป” มาแรงแซงลาซาด้า
ด้านสำนักข่าว นิกเคอิเอเชีย รายงานว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ติ๊กต็อกช้อป” (TikTok Shop) ของติ๊กต็อก แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยมของ บริษัทไบต์แดนซ์ จากจีน กำลังกลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยถูกครองโดยแพลตฟอร์มท้องถิ่นอย่างช้อปปี้ (Shopee) จากสิงคโปร์ และลาซาด้า (Lazada) จากจีนในเครือของอาลีบาบามาเป็นเวลานาน
รายงานล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ โมเมนตัม เวิร์กส์ ระบุว่า ปีที่แล้ว ติ๊กต็อกช้อปเติบโตแซงหน้าลาซาด้าขึ้นมาเป็นผู้เล่นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 28.4% มีมูลค่ายอดขายรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจาก 4.4 พันล้านดอลลาร์ (เกือบ 1.6 แสนล้านบาท) ในปี 2565 เป็น 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์ (เกือบ 5.9 แสนล้านบาท) ในปี 2566 เมื่อนับยอดขายรวมของ “โทโกพีเดีย” (Tokopedia) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียที่ติ๊กต็อกถือหุ้นใหญ่เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในบรรดาคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่ช้อปปี้ยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 48% ตามด้วยลาซาด้า 16.4% ขณะที่ติ๊กต็อก และโทโกพีเดียมีส่วนแบ่งอย่างละ 14.2%
"เจียงกาน ลี" ซีอีโอ โมเมนตัม เวิร์กส์ กล่าวว่า ติ๊กต็อกกลายมาเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทมีความมุ่งมั่นลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์
“สำหรับสถานการณ์ปีนี้ ขึ้นอยู่กับโทโกพีเดียที่อาจกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ในอินโดนีเซียได้”
ทุ่มจ้างงานครั้งใหญ่
ทั้งนี้ หากย้อนไปช่วงเริ่มต้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซของติ๊กต็อก ในปี 2564 บริษัทเริ่มการจ้างงานครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ ผู้เล่นรายเดิมได้ลดจำนวนพนักงานลงเพื่อพยายามทำกำไร ถัดมาในปี 2566 ทางติ๊กต๊อกได้เพิ่มจำนวนพนักงาน 4 เท่า เป็นกว่า 8,000 คน ซึ่งใหญ่พอๆ กับลาซาด้า
นอกจากนี้ ติ๊กต็อกยังได้พัฒนาฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซ โดยใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันไลฟ์สตรีมมิ่ง ซึ่งใช้อินฟลูเอนเซอร์กับร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ความงาม แฟชั่น ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อช่วยให้ยูสเซอร์สามารถซื้อสินค้าได้แบบเรียลไทม์
ขณะเดียวกัน ช้อปปี้ ที่ได้ลดต้นทุนเพื่อทำกำไร เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาดจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นกับติ๊กต็อก โดยเดือนส.ค.“ซี ลิมิเต็ด” (Sea Limited) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ช้อปปี้ กล่าวว่า จะเพิ่มการลงทุนในขีดความสามารถด้านไลฟ์สตรีมมิ่งและโลจิสติกส์
โตเร็วจนโดนสกัดดาวรุ่ง
อย่างไรก็ตาม ติ๊กต็อกถูกตรวจสอบเข้มงวดในสหรัฐ และยุโรป ต้องเผชิญกับอุปสรรคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยในอินโดนีเซีย ติ๊กต็อกชอบถูกบังคับให้หยุดบริการหลังจากรัฐบาลห้ามการทำธุรกรรมซื้อขายออนไลน์บนสื่อสังคมออนไลน์
หลังจากถูกห้ามไม่ให้ทำธุรกรรมการชำระเงินบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อกช้อปในอินโดนีเซีย เพียงไม่กี่เดือนต่อมา ติ๊กต็อกก็กลับมาลุยตลาดอีคอมเมิร์ซอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะลงทุนมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ และเข้าถือหุ้น 75% ในโทโกพีเดียอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในเครือ GoTo Group ของอินโดนีเซีย
ปัจจุบัน ติ๊กต็อก และโทโกพีเดียเติบโตขึ้นจนมีส่วนแบ่งการตลาด 39% ในอินโดนีเซีย ตามหลังช้อปปี้เพียง 1%เท่านั้น ส่วนในเวียดนาม ติ๊กต็อกช้อป กลายเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 24%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์