‘ทูร์เคีย’ มีเงินเฟ้อแตะ 70% แต่ทำไม ‘ความมั่งคั่ง’ กลับโตมากที่สุดในโลกที่ 157%

‘ทูร์เคีย’ มีเงินเฟ้อแตะ 70% แต่ทำไม ‘ความมั่งคั่ง’ กลับโตมากที่สุดในโลกที่ 157%

แม้เผชิญเงินเฟ้อสูงถึง 70% แต่ ‘ทูร์เคีย’ กลับเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเพิ่มสูงที่สุดในโลก ถึง 157% แต่นี่กลับไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะมีฐานะดีขึ้น เพราะค่าแรงอาจไม่ได้ปรับขึ้นตาม ส่งผลให้ประชาชนไม่น้อย ‘มีสินทรัพย์รวย แต่จนเงินสด’

ในภาวะที่เศรษฐกิจหลายประเทศเผชิญเงินเฟ้อหนัก จนสูบเอากำลังซื้อและความมั่งคั่งของผู้คนไปเกือบหมด แต่มีประเทศหนึ่งที่ดูเหมือนแตกต่าง นั่นคือ “ทูร์เคีย” หรือ ตุรกี” ในชื่อเดิม แม้ว่าประเทศนี้มี “เงินเฟ้อ” ที่สูงเสียดฟ้า แตะระดับราว 70% สำหรับเดือน มิ.ย. แต่ “ความมั่งคั่ง” กลับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลกที่ 157% แซงหน้าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกจนน่าประหลาดใจ

ธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุไว้ในรายงานความมั่งคั่งประจำปีโลก 2024 (UBS Global Wealth Report 2024) ว่า “ทูร์เคีย โดดเด่นด้วยการเติบโตของความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่กว่า 157% ระหว่างปี 2022 ถึง 2023 อย่างน่าทึ่ง จนทิ้งห่างประเทศอื่น ๆ ไปไกล”

ขณะที่ประเทศอื่นที่มีอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่สูงรองลงมา ได้แก่ รัสเซียและกาตาร์ ที่ประมาณ 20% และแอฟริกาใต้ที่กว่า 16% ส่วนสหรัฐ กลับอยู่ที่ประมาณ 2.5% จุดคำถามว่า ทำไมประเทศที่มีปัญหาเงินเฟ้อน้อยกว่า ถึงมีการเติบโตด้านความมั่งคั่งที่สู้ทูร์เคียไม่ได้

‘ทูร์เคีย’ มีเงินเฟ้อแตะ 70% แต่ทำไม ‘ความมั่งคั่ง’ กลับโตมากที่สุดในโลกที่ 157% - ความสวยงามของทูร์เคีย (เครดิต: Shutterstock) -

ทำไมทูร์เคียเติบโตด้านความมั่งคั่งสูง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในทูร์เคียอยู่ที่ประมาณ 72% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับประชาชน 85 ล้านคนของประเทศ หลายคนเผชิญภาวะกำลังซื้อลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินสกุลลีราตุรกีสูญเสียมูลค่าไปเกือบ 83% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

แต่สำหรับชาวเติร์กที่ถือครองสินทรัพย์อย่าง “บ้านเรือน” ความมั่งคั่งกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อส่งผลต่อการพุ่งสูงของราคาสินทรัพย์เหล่านั้น

รายงานของ UBS นิยาม “ความมั่งคั่ง” ว่า เป็น “มูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน บวกกับ สินทรัพย์จริงอย่างที่อยู่อาศัยซึ่งครัวเรือนเป็นเจ้าของ ลบด้วยหนี้สินของพวกเขา”

ซามูเอล อดัมส์ (Samuel Adams) นักเศรษฐศาสตร์จาก UBS Global Wealth Management กล่าวว่า “ในบางแง่ อัตราเงินเฟ้อที่สูงยังช่วยอธิบายด้วยว่า ทำไมความมั่งคั่งในสกุลเงินท้องถิ่นจึงเพิ่มขึ้นมากมาย อย่างน้อยก็มากกว่าในประเทศอื่น ๆ”

เขาอธิบายต่อว่า “หากเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ เมื่อคุณมีสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ราคามักจะปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อ หรืออาจจะเร็วกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้น คนที่มีบ้านเป็นของตัวเอง หรือผู้ที่มีหุ้น มักได้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น และมักเห็นความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มเร็วขึ้น”

อดัมส์กล่าวเสริมว่า “แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์ในระดับเดียวกัน หากคุณไม่ได้ถือครองสินทรัพย์เหล่านั้น หากเงินเดือนของคุณไม่ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ แน่นอนว่า คุณจะได้รับผลกระทบด้านลบอย่างมาก”

ความมั่งคั่งในสกุลเงินท้องถิ่นพุ่งแรงกว่าสกุลดอลลาร์

รายงาน UBS ระบุว่า “ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน” เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการเติบโตของความมั่งคั่งมากที่สุด โดยตัวเลขการเติบโตของความมั่งคั่งในสกุลเงินท้องถิ่น มักจะแตกต่างอย่างมากจากตัวเลขที่แสดงเป็นดอลลาร์สหรัฐ

ดังเห็นได้จากการเติบโตที่โดดเด่นของทูร์เคียที่เกินกว่า 63% ในสกุลดอลลาร์สหรัฐ เป็นเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็นเกือบ 158% ในสกุลลีราตุรกี และตัวอย่างอื่น ๆ ในรายงานรวมถึงญี่ปุ่น ในแง่ของดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ น้อยกว่า 2% ระหว่างปี 2022-23 แต่ในสกุลเงินท้องถิ่น การเติบโตนั้นอยู่ที่ 9%

เมื่อประเมินการเติบโตเฉลี่ยของความมั่งคั่งในแต่ละประเทศระหว่างปี 2008 ถึง 2023 ธนาคาร UBS ระบุว่า ทูร์เคียมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งที่สุด โดยความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ในช่วงเวลานี้ พุ่งสูงขึ้นถึง 1,708% ในสกุลเงินท้องถิ่น

รวยสินทรัพย์แต่จนเงินสด?

พอล ดอโนแวน (Paul Donovan) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ UBS Global Wealth Management ชี้ให้เห็นว่า การมีสินทรัพย์มากมาย ไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินสดมากมายเสมอไป ในกรณีของทูร์เคียอาจเป็นตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ

เขาเสริมว่า “สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ ถึงแม้คุณจะมีบ้าน มูลค่าของบ้านคุณจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงที่แท้จริงของคุณอาจติดลบในเวลาเดียวกัน ดังนั้นคุณอาจจะรวยสินทรัพย์ แต่จนเงินสด”

“อีกทั้งความเครียดมากมายที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจทูร์เคียตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล้วนเกิดขึ้นจากรายได้ที่แท้จริงติดลบ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับด้านสินทรัพย์เสมอไป” ดอโนแวนกล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง: cnbctradingdaba