‘เน็ต’ เสี่ยงล่มทั้งโลก? ‘สายเคเบิลใต้ทะเล’ การเผชิญหน้าใหม่ของจีนกับสหรัฐ

‘เน็ต’ เสี่ยงล่มทั้งโลก? ‘สายเคเบิลใต้ทะเล’ การเผชิญหน้าใหม่ของจีนกับสหรัฐ

โลกออนไลน์ทั้งใบอยู่ในความเสี่ยง เพราะ 90% ของสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วโลกถูกส่งผ่าน ‘สายเคเบิลใต้ทะเล’ ซึ่งหากจีนกับสหรัฐตึงเครียดจนปะทุเป็นสงคราม สายเคเบิลเหล่านี้อาจตกเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกโจมตี จนอินเทอร์เน็ตทั่วโลกหยุดชะงัก

KEY

POINTS

  • สัญญาณอินเทอร์เน็ตกว่า 90% ถูกส่งผ่าน “สายเคเบิลใต้ทะเล” ซึ่งพาดผ่านมหาสมุทรและเชื่อมระหว่างทวีปเข้าด้วยกัน
  • ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านสายเคเบิลใต้น้ำ มีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินสูงถึงราว 10 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละวัน
  • เจ้าหน้าที่สหรัฐได้เตือน Google และ Meta อย่างเป็นการส่วนตัวว่า สายเคเบิลใต้ทะเลในภูมิภาคแปซิฟิก อาจเสี่ยงต่อการถูกสอดแนมโดยเรือซ่อมบำรุงของจีน

จะเกิดอะไรขึ้นถ้า “อินเทอร์เน็ต” ที่เราใช้เป็นประจำใช้งานไม่ได้อีก ความเสี่ยงนี้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อการเผชิญหน้าระหว่าง “จีน” กับ “สหรัฐ” ถูกยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนอาจสงสัยว่าเกี่ยวข้องอะไรกับอินเทอร์เน็ต

ก่อนอื่นขอเล่าก่อนว่า แม้โลกจะมีเทคโนโลยีดาวเทียมลอยฟ้าต่าง ๆ มากมาย แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตกว่า 90% ถูกส่งผ่าน “สายเคเบิลใต้ทะเล” ซึ่งพาดผ่านมหาสมุทรและเชื่อมระหว่างทวีปเข้าด้วยกัน นั่นเพราะเป็นการส่งสัญญาณที่เสถียร ต่างจากการส่งผ่านดาวเทียมที่เผชิญคลื่นรบกวนต่าง ๆ มากมาย รวมถึงปัญหาลมฟ้าอากาศแปรปรวน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณทะเลแดง สายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมเครือข่ายโทรคมนาคมระหว่างเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง “ขาดไป 4 เส้น” จากทั้งหมด 15 เส้น ในบริเวณจุดปะทะระหว่างกลุ่มกบฏฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน กับอิสราเอลและพันธมิตร

เหตุการณ์นี้จุดความกังวลทั่วโลกว่า ถ้าเกิดสงครามใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะสงครามระหว่าง “สหรัฐ” กับ “จีนสายเคเบิลเหล่านี้อาจตกเป็น “เป้าหมายทางทหาร” อันดับต้น ๆ ที่จะถูกทำลาย เพราะสำคัญต่อระบบอินเทอร์เน็ต โทรคมนาคม รวมไปถึงเป็นช่องทางส่งข้อมูลทางทหารด้วย

‘เน็ต’ เสี่ยงล่มทั้งโลก? ‘สายเคเบิลใต้ทะเล’ การเผชิญหน้าใหม่ของจีนกับสหรัฐ - เคเบิลใต้ทะเล (เครดิต: imaginima) -

สายเหล่านี้สำคัญขนาดไหน แอนดี้ แชมเปญ (Andy Champagne) หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Akamai บริษัทด้านเครือข่ายคลาวด์ กล่าวว่า “ถ้าคุณเคยส่งอีเมล ข้อความ หรือวิดีโอคอลกับใครสักคนบนทวีปอื่น แสดงว่าคุณได้ใช้สายเคเบิลใต้ทะเลแล้ว ซึ่งคุณอาจไม่เคยคิดถึงสายนี้มาก่อน”

สำหรับข้อมูลที่ถูกส่งผ่านสายเคเบิลเหล่านี้ มีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินสูงถึงราว 10 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละวัน และเกือบทั้งหมดของการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตของนาโต ก็เดินทางผ่านสายเคเบิลเหล่านี้เช่นกัน

ในการลงไปติดตั้งสายเคเบิลที่ใต้ทะเล ถือเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค โลจิสติกส์ การรับมือกับกระแสน้ำใต้ทะเล และการรับประกันความทนทาน โดยสายเหล่านี้มีขนาดมหึมาหลายร้อยเส้น พาดผ่านเป็นระยะทางไกลเกือบ 1.4 ล้านกิโลเมตร และเชื่อมโลกทั้งใบเหมือนใยแมงมุม

ดังนั้น ถ้าสายสำคัญเหล่านี้ถูกทำลายจนขาด ต่อให้บางส่วนก็ตาม ก็จะทำให้การส่งสัญญาณบริเวณนั้นติดขัด จนต้องเปลี่ยนไปใช้สายข้างเคียงแทน ซึ่งการกระจุกตัวของข้อมูลนี้จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตช้าลง และหากเลวร้ายกว่านั้น ไม่มีสายแทนที่ได้ ก็อาจทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดไป

‘เน็ต’ เสี่ยงล่มทั้งโลก? ‘สายเคเบิลใต้ทะเล’ การเผชิญหน้าใหม่ของจีนกับสหรัฐ - แผนที่สายเคเบิลใต้ทะเล (เครดิต: submarinecablemap) -

“สายเคเบิลใต้ทะเลเส้นเดียวที่ถูกตัดขาดในบริเวณนั้น อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ทุกเจ้า” โจ แวคคาโร (Joe Vaccaro) รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของ ThousandEyes บริษัทด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกล่าว

ความเสี่ยงสายเคเบิลถูกโจรกรรมทางข้อมูล

สำหรับสายเคเบิลใต้ทะเลนั้นเป็นกรรมสิทธิ์และดำเนินการโดยบริษัทโทรคมนาคมของประเทศต่าง ๆ  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐไม่ว่า Meta, Google, Microsoft และ Amazon ต่างลงทุนเงินเป็นจำนวนมากในการวางสายเคเบิลของตัวเอง

ในปี 2021 Meta และ Google ประกาศแผนการวางสายเคเบิลใต้ทะเลขนาดใหญ่สองเส้น เพื่อเชื่อมระหว่างชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยสายเคเบิลทั้งสองที่พาดผ่านแปซิฟิกนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มความจุข้อมูลระหว่างภูมิภาคอีก 70%

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลเคยรายงานอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐได้เตือนบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึง Google และ Meta อย่างเป็นการส่วนตัวว่า สายเคเบิลใต้ทะเลในภูมิภาคแปซิฟิก อาจเสี่ยงต่อการถูกสอดแนมโดยเรือซ่อมบำรุงของจีน

สหรัฐกล่าวหาว่า S.B. Submarine Systems ผู้ให้บริการซ่อมสายเคเบิลใต้ทะเลระหว่างประเทศ สัญชาติจีน ดูเหมือนว่ามีการปิดบังตำแหน่งเรือของตนเองจากระบบติดตามทางวิทยุและดาวเทียม

นอกจากนี้ รัฐบาลเอสโตเนียสงสัยว่า เรือจีนได้ตัดสายเคเบิลใต้ทะเลสองเส้นของตน และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากจีนในการสืบสวนคดีนี้เมื่อหกเดือนที่แล้ว ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับเอสโตเนียในการสืบสวนเรื่องนี้

จะเห็นได้ว่า “สายเคเบิลใต้ทะเล” กำลังกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวด้านความมั่นคงของชาติ เพราะข้อมูลที่เครือข่ายเหล่านี้ส่งผ่าน อาจเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านความมั่นคง และการรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง

ด้วยเหตุนี้ โครงการสายเคเบิลระหว่างประเทศที่สร้างโดยสหรัฐ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางผ่านจีน เพราะกังวลการถูกจารกรรม ขณะเดียวกัน จีนเองก็ลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสายเคเบิลใต้ทะเลเป็นของตัวเอง ให้เทียบเท่ากับสหรัฐ

นาโตคิดวิธีย้ายข้อมูลจากใต้ทะเลไปอวกาศ

ด้วยความเสี่ยงอันใหญ่หลวงดังที่กล่าวมา กลุ่มพันธมิตรทางทหารของฝั่งตะวันตกหรือ “นาโตจึงก่อตั้งโครงการใหม่ขึ้น เพื่อวางระบบใหม่ที่สามารถ “ย้าย” การส่งสัญญาณทางใต้ทะเลไปสู่ช่องทางอวกาศแทนได้ ในกรณีที่สายเคเบิลใต้ทะเลถูกโจมตี

ในตอนนี้ เหล่านักวิจัยและนักวิชาการจากสหรัฐ ไอซ์แลนด์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์กำลังร่วมกันพัฒนาวิธีการเปลี่ยนเส้นทางรับส่งข้อมูลจากสายเคเบิลใต้ทะเลไปยังระบบดาวเทียม หากสายถูกก่อวินาศกรรมหรือประสบภัยธรรมชาติ

สำหรับโครงการวิจัยมูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์นี้ นาโตได้อนุมัติเงินทุนเบื้องต้นภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์เพื่อสันติภาพและความมั่นคงราว 400,000 ยูโร หรือราว 15 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาดังกล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยยังมองหาแนวทางตรวจจับภัยคุกคามต่อสายเคเบิลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่า เมื่อใดต้องเปลี่ยนเส้นทางการรับส่งข้อมูล โดยในปัจจุบัน ผู้ดูแลเครือข่ายสายเคเบิลใต้น้ำสามารถตรวจจับความผิดปกติของสายได้ละเอียดเพียงระดับ “กิโลเมตร” เท่านั้น แต่เป้าหมายของโครงการนี้คือ การเพิ่มความละเอียดไปถึงระดับ “เมตร”

เห็นได้ว่า โลกอินเทอร์เน็ตที่มนุษย์ขาดไม่ได้นั้น จำเป็นต้องพึ่งพา “สายเคเบิลใต้ทะเล” ในการส่งสัญญาณข้อมูล ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมกระทบความมั่นคงของระบบสายเคเบิลโดยตรง

ยิ่งทั้งสองมหาอำนาจมีศักยภาพทางทหารที่ล้ำสมัย การโจมตีหรือทำลายสายเคเบิลเหล่านี้จึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจละเลยได้ ซึ่งสามารถทำให้การสื่อสารทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจถดถอย เข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์ไม่ได้ จนอาจกลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทุกฝ่ายต้องรับมือให้ดี

อ้างอิง: cnbcsubsubmbloomberg