'เงินเฟ้อ - ต้นทุนสูง' ฉุดธุรกิจเก่าแก่ 100 ปีญี่ปุ่น ล้มละลายเกลื่อน 74 แห่ง ในครึ่งปีแรก

'เงินเฟ้อ - ต้นทุนสูง' ฉุดธุรกิจเก่าแก่ 100 ปีญี่ปุ่น ล้มละลายเกลื่อน 74 แห่ง ในครึ่งปีแรก

เตโกกุ ดาต้าแบงก์ เผย ครึ่งปีแรกยอดล้มละลายของบริษัทเก่าแก่อายุ 100 ปีในญี่ปุ่นพุ่ง 95% ปิดตำนานไปแล้ว 74 แห่ง เพราะพิษเงินเฟ้อ และต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น

รายงานจาก เตโกกุ ดาต้าแบงก์ (Teikoku Databank) ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (19 ก.ค.) พบ ยอดยื่นล้มละลายของ ธุรกิจญี่ปุ่น อายุมากกว่า 100 ปี เพิ่มสูงขึ้น 95% เป็นประวัติการณ์ ในช่วงม.ค. - มิ.ย. 2567

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีบริษัทถูกตัดสินล้มละลายโดยศาลทั้งสิ้น 74 บริษัท ซึ่งถือเป็นยอดล้มละลายในช่วงครึ่งปีแรกที่มากที่สุด นับตั้งแต่เก็บข้อมูลในปี 2543 และคาดว่าบริษัทที่ล้มละลายในปีนี้อาจมากกว่าสถิติเดิมในปี 2551 ที่มี บริษัทญี่ปุ่นล้มละลาย 120 แห่ง ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลก

บริษัท 14 แห่งที่ล้มละลายในครึ่งปีแรก โทษว่าเป็นเพราะต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ขณะที่อีก 11 บริษัทบอกว่า ธุรกิจไม่มีใครมารับช่วงต่อจากเจ้าของเดิมที่มีอายุมากแล้ว และบริษัทที่ล้มละลายราว 30% จาก 74 แห่ง เป็นธุรกิจด้านการผลิตและค้าปลีก ซึ่งธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตมักประสบปัญหาในการใช้จ่ายเพื่ออัปเกรดอุปกรณ์

นิกเคอิเอเชีย ยกตัวอย่าง 2 ธุรกิจเก่าแก่ญี่ปุ่น ได้แก่ โอกิ มันเนนโด (Aoki Mannendo) บริษัทผลิต “วากาชิ” ขนมหวานดั้งเดิมของญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียวมานานกว่า 200 ปี ยื่นล้มละลายในเดือน มี.ค. เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาเกี่ยวกับค่าซ่อมบำรุงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกทั้งการปิดร้านและการลดเวลาดำเนินงานในช่วงการแพร่ระบาดโควิด กระทบกระแสเงินสดของบริษัท ขณะที่จำนวนลูกค้ายังไม่ฟื้นตัวแม้การแพร่ระบาดโควิด-19 บรรเทาลงแล้วก็ตาม ทำให้บริษัทต้องปิดสาขาทั้งหมด

ขณะที่ Mitaniya เชนร้านขายของชำที่ก่อตั้งเมื่อปี 2401 ได้ยื่นล้มละลายในเดือน มิ.ย. เนื่องจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในจ.ฮิโรชิมานี้ ประสบปัญหาขาดทุนมานานติดต่อกัน 4 ปี เพราะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากบรรดาร้านขายยา และคู่แข่งร้านอื่น ๆ

เชนร้านขายของชำดังกล่าวพยายามรักษากระแสเงินสดไว้ ด้วยการจำหน่ายร้านค้าและทรัพย์สินอื่น ๆ มาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดธุรกิจก็ต้องปิดตัวลงเพราะต้นทุนค่าสาธารณูปโภคและค่าขนส่งแพงขึ้น

ไคทาโร อาซาฮี” จากเตโกกุ ดาต้าแบงก์ บอกว่า

“ด้วยเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของซัพพลายเออร์และลูกค้า จึงทำให้ยากที่จะใช้ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานในการต่อรองด้านราคา”

รายงานดังกล่าวคาดว่า บริษัทเก่าแก่ยังคงเผชิญกับอุปสรรคต่อไป เนื่องจากคู่แข่งที่รายใหญ่กว่าและมีเงินมากกว่า สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ด้วยราคาสินค้าที่ถูกกว่า และมีซัพพลายที่มั่นคงมากกว่า

ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจนถึงเดือนก.ย. 2566 ญี่ปุ่นมีบริษัทเก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปีมากถึง 43,631 บริษัท โดยในแต่ละปีจะมีบริษัทที่กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจเก่าแก่ราว 2,000 แห่ง

 

 

 

อ้างอิง: Nikkei Asia