สื่อนอกมองไทยสร้างสมดุล สมัครสมาชิก BRICS-OECD

สื่อนอกมองไทยสร้างสมดุล  สมัครสมาชิก BRICS-OECD

ประเทศไทยถูกจับตาหลังยื่นขอเป็นสมาชิกบริกส์ พร้อมๆ กับเริ่มกระบวนการเข้าร่วมโออีซีดีที่ต้องใช้เวลาหลายปี เมื่อบริกส์ถูกมองว่าเป็นเวทีที่นำโดยรัสเซียและจีน

เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงาน สองสัปดาห์ก่อน มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนจีนและอินเดียอย่างเป็นทางการครั้งแรก ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งกลุ่มบริกส์ (BRICS) จากนั้นไปเปิดสำนักงานบีโอในซาอุดีอาระเบีย  สำนักงานแรกในตะวันออกกลาง

นักการทูตไทยจำนวนหนึ่งเผยกับนิกเกอิว่า สมาชิกบริกส์ทั้งห้าประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เปิดกว้างกับใบสมัครของไทย นอกจากนี้กลุ่มยังติดต่ออินโดนีเซียและมาเลเซียด้วย ซึ่งฝ่ายหลังกำลังสมัครเป็นสมาชิก

แต่การที่บริกส์ภายใต้การนำของรัสเซียติดต่อกับแกนนำพรรคเพื่อไทยถูกตั้งข้อสงสัยในไทย เนื่องจากการเป็นสมาชิกบริกส์มีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าเศรษฐกิจ เห็นได้จากในปีที่ผ่านมาสมาชิกส่วนใหญ่ขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซี) เป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของไทยแซงหน้าสมาชิกบริกส์ไปแล้ว

นิกเกอิรายงานว่า ในแง่ทางการ ไทยประกาศวางตัวเป็นกลางในความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ไทยซ้อมรบร่วมกับสหรัฐทุกปีตามสนธิสัญญาพันธมิตร แต่ในทางเศรษฐกิจก็ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น

ผู้กำหนดนโยบายไทยมองว่าในระยะสั้นและระยะกลางการสมัครเป็นสมาชิกโออีซีดีเป็นโอกาสปฏิรูปเศรษฐกิจไทยและระบบกำกับดูแลของไทย แต่ผลประโยชน์ระยะยาวอยู่ที่บริกส์

“สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดแล้วในเวทีระหว่างประเทศ และเรากำลังวางสถานะตนเองในกรณีที่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ดำรงอยู่ถาวร ขณะที่จีนและกลุ่มใหม่กำลังพุ่งแรง” ปณิธาน วัฒนายากร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็น

ด้านกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า กำลังทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เข้ากับมาตรฐานอันเข้มงวดของโออีซีดี เช่น กฎหมายต่อต้านการทุจริต

ส่วนการเป็นสมาชิกบริกส์นั้นตัวแทนกระทรวงรายหนึ่งกล่าวกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ว่าไม่มี “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแน่ชัดในแง่ของการค้าหรือมาตรการทางภาษี แต่ก็ไม่มีข้อจำกัดที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน”

แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติแจ้งกับคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวว่า ไทยอาจมีส่วนร่วมกับบริกส์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ก่อนแทนที่จะรีบเป็นสมาชิกเต็มตัว ขณะที่คณะกรรมาธิการฯ กังวลที่ไทยดูเหมือนเข้าข้างรัสเซีย ซึ่งถูกนานาชาติคว่ำบาตรนับตั้งแต่รุกรานยูเครนในปี 2565

"รัสเซียรู้ว่าได้บริกส์ได้สมาชิกใหม่ระหว่างที่ตนเป็นประธานในปีนี้ ช่วยลดการรับรู้เรื่องที่ประเทศกำลังถูกโดดเดี่ยวได้“ ประศานต์ ปรเมศวรัญ จากวิลสันเซ็นเตอร์ กลุ่มคลังสมองในวอชิงตันกล่าวและว่า บริกส์ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 ในฐานะเวทีของเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมาก ซึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคของตน แม้บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้มีเสียงเท่ากันในกลุ่ม ”การเข้าร่วมบริกส์ใช่ว่าไม่มีต้นทุน เพราะกลุ่มถูกตะวันตกบางชาติมองว่า เล่นตามวาระของจีนและรัสเซียมากกว่า" ประศานต์กล่าวเสริม

ทั้งนี้ รมว.มาริษประกาศเรื่องไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ในเดือน มิ.ย. ตอนที่เขาและแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบริกส์ที่รัสเซีย บุคคลสำคัญภายในพรรคยินดีรักษาสัมพันธ์กับรัสเซียเอาไว้ รวมถึงการเชิญประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตามมาด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวรัสเซีย

ปณิธานกล่าวว่า การทำนโยบายต่างประเทศให้เป็นเรื่องส่วนตัวแบบนี้ถือเป็น “ดาบสองคม” “จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ส่วนตัวส่งเสริมนโยบายอย่างเป็นทางการ แต่อีกแง่หนึ่งมันจะกลายเป็นปัญหาถ้าคุณปล่อยให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวนำนโยบายทางการ หรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน”