ทรัมป์ 2.0 กับผลกระทบต่อ ‘จีน’ โกลด์แมน แซคส์ ชี้หนักกว่ารอบแรกเยอะ

ทรัมป์ 2.0 กับผลกระทบต่อ ‘จีน’ โกลด์แมน แซคส์ ชี้หนักกว่ารอบแรกเยอะ

นักวิเคราะห์มองข้ามช็อตถึงผลกระทบต่อ 'จีน' หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งสหรัฐ 'โกลด์แมน แซคส์' ชี้แย่กว่าปี 2561 หลังทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีจีน 60% 'ยูบีเอส' คาดจะฉุดจีดีพีจีนลงมากกว่าครึ่ง ด้าน 'ซิตี้ กรุ๊ป' มองจีนเก็บกระสุนไว้กระตุ้นตอนทรัมป์มา

หลังเกิดเหตุการณ์ความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการหาเสียงเมื่อวันที่ 13 ก.ค.67 ทิศทางศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้ ก็เริ่มเอนเอียงไปทางฝั่งรีพับลิกันมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันของฝั่งเดโมแครตที่ต้องการเปลี่ยนตัวผู้แทนพรรคจนล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศ "ถอนตัว" ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และหนุนรองประธานาธิบดี "คามาลา แฮร์ริส" ขึ้นมาเป็นผู้แทนพรรคแทนแล้ว

ทว่าก่อนการเปลี่ยนม้าศึกกลางคันดังกล่าวเพียงไม่นาน สำนักวิเคราะห์หลายแห่งได้ออกรายงานคาดการณ์ที่ "มองข้ามช็อต" ไปถึงชัยชนะของทรัมป์สมัยที่สอง หรือ "ทรัมป์ 2.0" กันแล้ว เช่น ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ที่วิเคราะห์ไปถึง "ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจีน หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง" 

Goldman Sachs มองหนักกว่ายุคทรัมป์ 1.0

สำหรับมุมมองวาณิชธนกิจใหญ่รายนี้แล้ว ความเสี่ยงขาลงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับจีนก็คือ การที่ทรัมป์เสนอแผนการว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ซึ่งจะเลวร้ายยิ่งกว่าสมัยที่เขานำร่องตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนในปี 2561 

ไม่เพียงแต่การตั้งกำแพงภาษีกับจีนเท่านั้น แต่ทรัมป์ยังเปรยด้วยว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าอีก 10% กับ "ทุกประเทศคู่ค้า" ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดใหญ่หรือเล็ก ซึ่งแน่นอนหากเป็นจริง "ประเทศไทย" ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงไปด้วย 

ฮุ่ย ซาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนของโกลด์แมน แซคส์เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า ตอนนี้ภาคการส่งออกคือ กลไกเศรษฐกิจที่ดีที่สุด สดใสที่สุดของจีน ดังนั้นทีมผู้กำหนดนโยบายของจีนจึงต้องเตรียมตั้งรับความพร้อมให้ดี 

"ไม่ได้มีแค่สหรัฐเท่านั้นที่มองเรื่องการขึ้นภาษีกับจีน แต่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อื่นๆ ของจีนด้วย การค้าจึงอาจจะไม่ใช่เครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับจีน" ซานกล่าว 

ไม่เพียงแต่ผลกระทบต่อจีนเท่านั้น ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุก่อนหน้านี้ว่าข้อเสนอการขึ้นภาษีจีนของทรัมป์จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.1% และฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงถึง 0.5%  

ทรัมป์ 2.0 กับผลกระทบต่อ ‘จีน’ โกลด์แมน แซคส์ ชี้หนักกว่ารอบแรกเยอะ

นอกเหนือจากทรัมป์แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐหลายคนก็ไม่ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อจีนมากนัก เช่น เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังเคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า นโยบายของปักกิ่งที่จะเพิ่มศักยภาพทางอุตสาหกรรม และพึ่งพาตนเองในเรื่องเทคโนโลยีให้ได้ ทำให้สหรัฐต้องแบกรับผลกระทบด้วยการที่คนอเมริกันตกงาน

โกลด์แมน แซคส์ มองว่าความเสี่ยงขาลงจากความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขึ้นภาษีจีนหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งนั้น หลักๆ แล้วมาจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น สภาพทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น และแรงกดดันจากค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งฮุ่ยมองว่าความเสี่ยงครั้งนี้จะแรงยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่ทรัมป์ขึ้นภาษีจีน 3 ครั้งในปี 2561 ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่กระทบต่อการส่งออกของจีนมากนัก  

ยิ่งข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันยิ่งพบว่า การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐนั้นลดลงมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้ว่าสหรัฐจะยังคงเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับจีนอยู่ก็ตาม โดยการส่งออกของจีนไปยังตลาดสหรัฐช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวได้เพียง 1.5% เท่านั้น 

"รัฐบาลปักกิ่งจำเป็นต้องหันมามองเรื่องการบริโภคภายในประเทศ และมุ่งไปที่กลไกอื่นที่ยั่งยืนและถาวรมากขึ้นสำหรับแนวโน้มการเติบโตของจีน"

ซาน กล่าวด้วยว่า "หากทรัมป์มีการขึ้นภาษีจีน 60% จริงๆ จะถือเป็นระดับที่สูงมาก และเราคิดว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาคจะเป็นสเกลที่ใหญ่มาก"  

Citi คาดจีนตุนกระสุนไว้รอรับทรัมป์

ขณะที่ข้อมูลของ "ซิตี้ กรุ๊ป" พบว่า ภาคการส่งออกของจีนเป็นส่วนที่สร้างการเติบโตในจีดีพีที่แท้จริงของจีนมากที่สุดในไตรมาส 2 ปีนี้ หรือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2565 ในขณะที่ส่วนความพยายามของจีนที่จะผลักดันการผลิตในภาคเทคโนโลยีชั้นสูงก็ยังไม่สามารถช่วยชดเชยวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคในประเทศที่ซบเซาลงได้ 

ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 4.7% เมื่อเทียบปีที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ และยังลดลงจากไตรมาสแรก ทำให้การเติบโตรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 ขยายตัวได้เพียง 5% หลายฝ่ายเรียกร้องให้จีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายจีดีพี 5% ในปีนี้ได้ 

จนถึงปัจจุบันจีนก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะออกมาตรการขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ของซิตี้ กรุ๊ป ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยอดค้าปลีกที่อ่อนแรงเกินคาด และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่ออกมาน่าผิดหวัง ยังไม่แรงพอที่จะทำให้รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพิ่มขึ้น  

"รัฐบาลอาจจะยอมทนต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแรงในระยะสั้นได้ เพราะกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากเดิมที่พึ่งพาภาคอสังหาฯ มาตลอด แต่ความกังวลที่มากขึ้นในเรื่องการค้า และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ อาจทำให้จีนต้องสงวนกระสุนทางนโยบายเอาไว้สำหรับอนาคต" ทีมวิเคราะห์ของซิตี้ กรุ๊ป ระบุ

อย่างไรก็ตาม ซิตี้ กรุ๊ปเชื่อว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีที่ประมาณ 5% ในปีนี้ได้ 

สำหรับการส่งออกของจีนไปสหรัฐในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวได้ 3.6% หลังจากอุปสงค์สินค้าจีนเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงไม่กี่เดือนหลัง 


UBS หวั่นฉุดจีดีพีจีนมากกว่าครึ่ง 

ทางด้าน เตา หวัง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชีย และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนของธนาคารยูบีเอสคาดการณ์ว่า การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการผลิตในจีนอาจจะยังแข็งแกร่งได้อยู่ ขณะที่การส่งออกก็อาจจะยังเติบโตได้ดีต่อในไตรมาส 3 (เทียบปีต่อปี)  ที่จริงแล้ว ความกลัวเรื่องสงครามการค้า และการขึ้นภาษีจีนในอนาคต จะทำให้ยอดออเดอร์สินค้าจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยิ่งปรับตัวสูงขึ้น 

ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งนั้นคาดว่าจะยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นใหญ่ๆ ออกมาในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เพราะต้องเก็บกระสุนเอาไว้ช่วยหนุนเศรษฐกิจในอนาคตหากเจอการขึ้นภาษีของสหรัฐจริงๆ โดยยูบีเอสคาดการณ์ทั้งปี 2567 จีนจะเติบโตได้ 4.9% หรือพลาดเป้าจากที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ประมาณ 5%

แต่หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง และประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจีน 60% จริงตามที่ขู่เอาไว้ "ยูบีเอส" มองลบยิ่งกว่าโกลด์แมน แซคส์ เพราะคาดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจีนนั้นจะฉุดจีดีพีของจีนให้ลดลง "มากกว่าครึ่ง" หรือมากถึง 2.5% ในปีหน้า ขณะที่จีนกำลังพยายามเข็นเศรษฐกิจให้โต 5% ในปีนี้ จากที่ขยายตัวได้ 5.2% ในปีที่แล้ว

การคาดการณ์นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการค้าบางส่วนจากจีนจะถูกดำเนินการผ่าน "ประเทศที่ 3" ,จีนจะไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้กลับ และประเทศอื่นๆ จะไม่เข้าร่วมวงสงครามการค้าตามอย่างสหรัฐด้วย โดยจีดีพีจีนที่จะหายไปถึง 2.5% นั้น ครึ่งหนึ่งจะมาจากการส่งออกที่ลดลง และที่เหลือจะมาจากการลงทุน และการบริโภคที่ลดลง 

"เมื่อเวลาผ่านไป การส่งออก และการผลิตที่มากขึ้นในประเทศอื่นๆ อาจจะช่วยลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ประเทศอื่นๆ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนตามสหรัฐเช่นกัน" หวังกล่าว

หากจีนดำเนินมาตรการตอบโต้อาจทำให้ผลกระทบยิ่งขยายวงมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น โดยหากเกิดสงครามการค้าขึ้นอีกครั้ง ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนอาจจะทำให้ผู้นำเข้าของสหรัฐหยุดซื้อสินค้าจากจีน แม้ว่าภาษีนำเข้าจะลดลงในที่สุดก็ตาม

ยูบีเอสคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.6% ในปี 2568 และ 4.2% ในปี 2569 แต่หากมีการกำหนดภาษีนำเข้าดังกล่าว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจลดลงเหลือ 3% ทั้งในปี 2568 และ 2569 แม้จีนจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์