เบื่อแล้วซอฟต์พาวเวอร์ ญี่ปุ่นขอโชว์ยุทธภัณฑ์ l World Pulse

เบื่อแล้วซอฟต์พาวเวอร์   ญี่ปุ่นขอโชว์ยุทธภัณฑ์ l World Pulse

เมื่อพูดถึงสินค้าญี่ปุ่น สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกได้ต้องเป็นเทคโนโลยียุคอนาล็อกสารพัดสารเพ ถ้าเป็นสาวๆ ก็ต้องนึกถึงเครื่องสำอาง หรือการจัดบ้านแบบคมมาริ ของมาริเอะ คนโดะ หนังสือเรื่องโต๊ะโตะจัง นอกจากนี้ยังมีมังงะ อนิเมะ ดนตรี ซีรีย์ ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์มากมายหลากหลายแขนง แล้วถ้าญี่ปุ่นขายยุทธภัณฑ์บ้างล่ะ พอจะนึกภาพกันออกหรือไม่

วันก่อน World Pulse ได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่า “งานเลี้ยงรับรอง” ไปมาแล้วหลายงานก็คงเหมือนๆ กัน แต่หมายเชิญน่าสนใจตรงที่ระบุว่า ภายในงานยังมีการออกบูทจัดแสดงยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศโดยบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ตรงนี้ต่างหากที่น่าดู เข้าไปในงานบูทแรกที่เจอคือมิซูโนะ (Mizuno) แบรนด์เครื่องกีฬาที่คนไทยคุ้นเคย แต่จริงๆ แล้วมิซูโนะผลิตอุปกรณ์ฝึกต่อสู้ด้วย มีทั้งส่วนป้องกันหน้า ส่วนป้องกันท้อง นวม กระจับ ถุงเก็บอุปกรณ์ กระบองฝึก น่าสังเกตว่า สินค้าที่ว่ามามีทั้งเมดอินเจแปน เมดอินไชนา เมดอินไต้หวัน และเมดอินอินโดนีเซีย 

ถัดไปเป็นบูทของคาวาซากิ ที่ขึ้นชื่อเรื่องรถจักรยานยนต์แต่บริษัทได้ปรับสินค้าให้เหมาะสมกับการใช้งานทางทหาร จัดจำหน่ายให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 ตั้งแต่ปี 2562 จำหน่ายไปแล้ว 368 คันให้เจ้าหน้าที่ใช้งานทางยุทธวิธี ลาดตระเวนได้สองคน (ที่ญี่ปุ่นเน้นใช้งานคนเดียว)  มีแท่นติดอาวุธและอุปกรณ์เสริม ยิงปืนได้บนรถ ตัวรถใช้สีพรางรังสีอินฟราเรดไม่สะท้อนแสง ตรวจจับไม่ได้ยามค่ำคืน ถังน้ำมันพ่นสารโพลิยูเรียป้องกันสะเก็ดระเบิด  คาวาซากิกล่าวว่าเป็นบริษัทแรกที่ผลิตรถจักรยานยนต์แบบนี้ ปัจจุบันใช้ในญี่ปุ่นและมาเลเซีย เห็นจักรยานยนต์ของคาวาซากิแล้วอดคิดถึงคาเมนไรเดอร์ไม่ได้

อีกหนึ่งบริษัทที่ชื่อคุ้นหูคืออิโตชู (Itochu) บริษัทการค้าที่ขายทุกอย่าง (ตามคำบอกเล่าของพนักงาน) แต่ในแวดวงกลาโหมส่งออกได้เฉพาะอุปกรณ์ defense (ป้องกันตัว) เท่านั้นไม่สามารถส่งออกอุปกรณ์ offense ที่ทำอันตรายคนอื่นได้ ตอนนี้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลญี่ปุ่นดูลู่ทางว่าผลิตภัณฑ์ใดมีโอกาสทำตลาด เท่าที่เล็งๆ ไว้ตอนนี้เช่น ชุดป้องกันสารเคมีปนเปื้อน เครื่องทำความสะอาดสารเคมี หรือ navigation drone ที่ทำงานบนผืนน้ำได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับฝ่ายเทคโนโลยีเพื่อนำมาผสมผสานให้เหมาะสม ถือเป็นอุตสาหกรรม New S curve ตามที่ไทยส่งเสริม 

ส่วนสินค้าที่ยึดแนวทาง Reuse  Reduce Recycle ต้องยกให้เครื่อง ASRR-B2 จากบริษัทฮิราตะ (Hirata) ที่ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์ถนนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการซ่อมแซมพื้นผิวถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ  เครื่องจักร ASRR-B2 เพียงเครื่องเดียวสามารถนำยางมะตอยเก่าที่ได้จากการขุดลอกผิวทางรวมถึงยางมะตอยเก่าที่เย็นตัวแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ มีเครื่องนี้สามารถสร้างถนนใหม่และซ่อมแซมถนนได้โดยไม่ต้องใช้ยางมะตอยจากโรงงาน เรียกได้ว่าเป็นการ “พึ่งพาตนเอง” โดยแท้ 

ด้านมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ผู้ผลิตอุตสาหกรรมการป้องกันทางทหารมานานกว่า 50 ปี นำแบบจำลองเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศมาสาธิต สมรรถนะตรวจจับขีปนาวุธและเครื่องบินได้จึงมีประโยชน์มากในช่วงที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่เล่าว่า ในญี่ปุ่นมีระบบเรดาร์ของมิตซูบิชิ 7 เครื่อง และแบบเคลื่อนที่อีกมากกว่า 30 เครื่อง ส่วนที่ฟิลิปปินส์มี 3 เครื่อง แบบเคลื่อนที่ 1 เครื่อง ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทส่งออกยุทธภัณฑ์  เบื่อแล้วซอฟต์พาวเวอร์   ญี่ปุ่นขอโชว์ยุทธภัณฑ์ l World Pulse

ที่เล่ามาเป็นเพียงบางส่วนของบริษัทญี่ปุ่นที่นำยุทธภัณฑ์มาโชว์ในงานวันกองกำลังป้องกันตนเอง แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแค่แบบจำลอง แผ่นพับ หรือเปิดคลิปวีดิโอให้ดู แต่ข้อมูลที่ได้ยินจากปากพนักงานชวนให้จินตนาการต่อว่าถ้าได้เห็นของจริงจะขนาดไหน เบื่อแล้วซอฟต์พาวเวอร์   ญี่ปุ่นขอโชว์ยุทธภัณฑ์ l World Pulse

 โอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ขยายความว่า เมื่อสองปีก่อนญี่ปุ่นและไทยได้สรุปข้อตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี ทำให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านอุปกรณ์ป้องกันทางทหารและเทคโนโลยีเป็นจริงได้ ถือเป็นการเปิดหน้าใหม่ในความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศ สำหรับผู้มาร่วมงานที่ได้รับชมการสาธิตสินค้าอย่างที่ว่ามาก็เห็นจริงตามนั้น