ปัญหาโค่น'เศรษฐีเบอร์ 1 จีน' ไม่ใช่พิษเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่อง’ชาตินิยม’

ปัญหาโค่น'เศรษฐีเบอร์ 1 จีน'  ไม่ใช่พิษเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่อง’ชาตินิยม’

ปัญหาโค่นเศรษฐีเบอร์ 1 จีน เจ้าของแบรนด์น้ำแร่ยักษ์ใหญ่’หนงฟู่สปริง’ ไม่ใช่พิษเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่อง’ชาตินิยม’ กดยอดขายดิ่ง ราคาหุ้นตก กระทบความมั่งคั่งหายวับ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

KEY

POINTS

  • ทรัพย์สินเศรษฐีเบอร์ 1 จีน 'จง ซานซาน' หดตัวลงอย่างรวดเร็วในปี 2567 สูญเสียไปถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์
  • "หนงฟู่สปริง" เจอปัญหาธุรกิจรอบด้าน ตลาดน้ำดื่มจีนแข่งดุ ยอดขายร่วง ผู้บริโภควิจารณ์'กระแสนิยม'
  • โลกออนไลน์ ถล่มวิจารณ์ "หนงฟู่สปริง" เป็นพวก "นิยมญี่ปุ่น" 

“จง ซานซาน” เป็น มหาเศรษฐีจีน อันดับ 1 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท "หนงฟู่สปริง" แบรนด์น้ำแร่ยักษ์ใหญ่ในจีน อาจต้องสละตำแหน่งคนรวยที่สุดในประเทศที่ครองไว้มานานเกือบ 3 ปี หลังจากธุรกิจเจอกับปัญหารอบด้าน จน ราคาหุ้นหนงฟู่สปริง ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง 

รายงานล่าสุดจากบลูมเบิร์กระบุว่า ทรัพย์สินของจง ซานซาน หดตัวลงอย่างรวดเร็วในปี 2567 สูญเสียไปถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเหลือทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 5.48 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ช่องว่างระหว่างเขากับมหาเศรษฐีอันดับ 2 อย่าง “โคลิน หวง” ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ PDD Holdings Inc.ที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ 4.73 หมื่นล้านดอลลาร์

สาเหตุหลักที่ทำให้มูลค่าสุทธิของจง ซานซาน มาจาก "หนงฟู่สปริง" กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลังจากถูกโจมตีด้วยสงครามราคาในตลาดน้ำดื่มอย่างหนัก นอกจากนี้ “กระแสชาตินิยม” และเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทอย่างเห็นได้ชัด 

พบสารอันตรายเกินค่ามาตรฐาน

ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา "หนงฟู่สปริง" ถูกหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของฮ่องกงเผยแพร่ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวด 30 ยี่ห้อ พบว่า"หนงฟู่สปริง" มีปริมาณโบรเมตสูงถึง 3 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานสูงสุดที่สหภาพยุโรปกำหนดสำหรับน้ำแร่ธรรมชาติและน้ำพุโอโซน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพเมื่อบริโภคมากเกินไป

 

แต่ภายหลังพบว่ามีการตรวจสอบผิดพลาด ทำให้หน่วยงานฮ่องกงออกมาขอโทษและให้คะแนนผลิตภัณฑ์สูงสุดระดับ 5 ดาว 

เอดา หลี่ นักวิเคราะห์ด้านผู้บริโภคของ Bloomberg Intelligence ระบุว่า ปัญหาที่หนงฟู่สปริงเผชิญในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการที่ซ้อนทับกัน ทั้งปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง และการคว่ำบาตรจากกระแสชาตินิยม

ราคาหุ้นร่วงลง 7.3% จึงส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของ จง ซานซาน ที่มาจากหุ้นในบริษัทเครื่องดื่มและธุรกิจเภสัชกรรม 

หนงฟู่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วยการประกาศแผนเข้าซื้อหุ้นมูลค่าสูงถึง 256 ล้านดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผ่านบริษัทโฮลดิ้ง Yangshengtang ที่ตนเองควบคุม และได้เริ่มดำเนินการตามแผนแล้ว โดยซื้อหุ้นไปแล้ว 3.5 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ตามเอกสารที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแล

วิจารณ์หนงฝูนิยม 'ญี่ปุ่น’

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารและบริษัทถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากการเสียชีวิตของจง ชิงโหว ผู้ก่อตั้ง Hangzhou Wahaha Group Co. คู่แข่งสำคัญ  ทำให้กระแส "ชาตินิยมจีน" ดุเดือดไปทั่วทั้งโลกออนไลน์ ถล่มวิจารณ์ "หนงฟู่สปริง" โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากกล่าวหาว่า Nongfu Spring เป็นพวก "นิยมญี่ปุ่น" 

ทว่ากระแสชาตินิยมแบรนด์ไม่ได้พูดถึงแค่แบรนด์เท่านั้น แต่ชาวเน็ตพูดถึงส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึง"ผู้บริหาร" และครอบครัวด้วย  มีการพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "จง ซู ซี" ลูกชายของเจ้าของบริษัท ถือหนังสือเดินทางสหรัฐอเมริกา

สงครามน้ำดื่มจีนระอุ

ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดในจีนกำลังร้อนระอุ เมื่อบริษัท China Resources Beverage Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์น้ำดื่ม "C'estbon" ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อระดมทุนมาขยายธุรกิจและแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ อย่าง "หนงฟู่สปริง"

ไม่รอช้า "หนงฟู่สปริง" ได้ตอบโต้ด้วยการเปิดตัวน้ำบริสุทธิ์ใหม่ ซึ่งเป็นการแข่งขันโดยตรงกับ "C'estbon" โดยตั้งราคาขายปลีกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง Tmall ของ Alibaba ในราคาที่ต่ำกว่า 1 หยวนต่อขวดขนาด 550 มิลลิลิตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าราคาขายปลีกปกติกว่าครึ่งหนึ่ง

แม้บริษัทจะรายงานผลประกอบการในปีที่ผ่านมาออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายชาพร้อมดื่มที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าธุรกิจหลักอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดกำลังเผชิญแรงกดดันจากคู่แข่งที่รุนแรงขึ้น

ข้อมูลล่าสุดเผยให้เห็นว่าสัดส่วนรายได้ของหนงฟู่สปริงที่ได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดลดลงจาก 54.9% ในปี 2565 เหลือเพียง 47.5% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ มากขึ้น และการแข่งขันในตลาดน้ำดื่มที่รุนแรงขึ้น