เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งลงทุนชิงทำเลยุทธศาสตร์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งลงทุนชิงทำเลยุทธศาสตร์

ในยุคของการแข่งความเร็วทำเลยุทธศาสตร์ถือหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งช่องแคบมะละกา และอ่าวไทยที่หลายประเทศเร่งทำโครงการช่วงชิงความได้เปรียบ

หลังจากถูกพูดถึงมานาน โครงการระดับเมกะโปรเจกต์ของกัมพูชา “คลองฟูนันเตโช” ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต กำลังจะเริ่มต้นขึ้นภายในไม่กี่วันนี้ ท่ามกลางการเฉลิมฉลองพิธีวางศิลาฤกษ์ขุดคลองอย่างยิ่งใหญ่ 

นายกฯ ฮุน มาแนต เคยประกาศว่า โครงการขนาด 1.7 พันล้านดอลลาร์ จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 ส.ค.67 เงินทุนส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนท้องถิ่น แม้ต้องใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ แต่เมกะโปรเจกต์ชิ้นนี้อาจไม่แพงเท่าโครงการก่อนหน้า เช่น สนามบิน ทั้งยังมีลักษณะพิเศษตรงที่เชื่อมโยงชาวกัมพูชาในทุกแห่งหนเข้าด้วยกัน

ตามพิมพ์เขียว คลองฟูนันเตโช ความยาว 180 กิโลเมตร เริ่มต้นจากปรักตาแก้วบนแม่น้ำโขง ผ่านปรักตาเอกและปรักตาหิงในแม่น้ำบาสัก อำเภอเกาะธม แล้วเข้าสู่ จ.แกบ รวมตลอดเส้นทางครอบคลุม จ.กันดาล, ตาแก้ว, กัมปอต และแกบ ประชากรบนเส้นทางน้ำ 1.6 ล้านคน

คลองกว้าง 100 เมตรบริเวณเหนือน้ำ และ 80 เมตรท้ายน้ำ ลึก 5.4 เมตร (ความลึกในการเดินเรือ 4.7 เมตร ระยะปลอดภัย 0.7 เมตร) ประกอบด้วยเส้นทางเดินเรือสองเลนเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้โครงการยังมีเขื่อนกั้นน้ำ 3 แห่ง สะพาน 11 แห่ง ทางเดิน 208 กิโลเมตร โครงสร้างพื้นฐานช่วยเดินเรือ และการข้ามแม่น้ำ คาดว่าใช้งบประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ตามสัญญา BOT(build-operate-transfer) เอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบทั้งด้านการลงทุน การออกแบบ ดำเนินการก่อสร้าง และการบริหารจัดการ

เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าคลองฟูนันเตโชจะส่งเสริมกิจกรรมการเกษตร สร้างโอกาสการจ้างงาน ลดต้นทุนขนส่งสินค้าจากพนมเปญออกสู่ทะเล

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คลองฟูนันเตโชที่เชื่อมแม่น้ำโขงเข้ากับท่าเรือกัมพูชาในอ่าวไทยจะเป็นทางเลือกการขนส่งที่ไม่ต้องพึ่งพาเวียดนาม ถือเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับซิกเนเจอร์โครงการหนึ่งของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมแรงสนับสนุนต่อนายกฯ ฮุน มาแนต บุตรชายของเขาด้วย

ฮุนเซนผู้ปกครองกัมพูชามากว่าสามทศวรรษ กล่าวว่า คลองสายนี้ทำให้กัมพูชา “หายใจได้ด้วยจมูกของตนเอง”ทางการท้องถิ่นได้รับคำสั่งให้จุดพลุฉลองพิธีขุดคลองในวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเกิดของอดีตนายกฯ

รัฐบาลพนมเปญกล่าวว่า คลองจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 21-30% ของต้นทุนจ้างงานหลายหมื่นอัตราในกัมพูชา หนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รัฐบาลไม่ได้แสดงหลักฐานประกอบคำอธิบายนี้

ทว่า ผลประโยชน์ของคลองจะเป็นอย่างไร อาจขึ้นอยู่กับเงินทุนโครงการด้วย ในปี 2566 บริษัทไชนาโรดแอนด์บริดจ์ (ซีอาร์บีซี) ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างจีนที่ทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในกัมพูชา เห็นชอบศึกษาความเป็นไปได้โครงการคลองฟูนันเตโช

ทางการกัมพูชาเผยว่า รัฐวิสาหกิจของจีนแห่งนี้อาจลงทุนบางส่วนแต่ซีอาร์บีซียังไม่ได้เผยผลการศึกษาหรือประกาศทำโครงการต่อสาธารณะ และไม่ได้ให้ความเห็นกับเอเอฟพี

และแม้กัมพูชาเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่ง ฮุนเซนปฏิเสธว่า คลองฟูนันเตโชไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสายแถบและเส้นทางของจีน

  • กังวลกระแสแม่น้ำโขง

นักวิเคราะห์อย่างนายวันริธ ชะเอิง ประธานอังกอร์โซเชียลอินโนเวชันพาร์ค กล่าวว่าต้นทุน และผลประโยชน์ของคลองยังมีที่ไม่ทราบ และไม่แน่นอนอีกมาก

ทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องการไหลของแม่น้ำโขง ที่เป็นแหล่งจับปลาน้ำจืดมากถึงหนึ่งในสี่ของโลก และเป็นแหล่งน้ำ 50% ในการปลูกข้าวของเวียดนาม

เมื่อปี 2538 กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทยเคยลงนามในข้อตกลงแม่น้ำโขง กำกับดูแลการไหลของกระแสน้ำ แต่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.67 ที่ผ่านมา นายสัน จันทร รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้แจ้งเรื่องโครงการคลองฟูนันเตโชต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) แล้ว แต่จะไม่ปรึกษาเรื่องนี้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ถ้าเอ็มอาร์ซีร้องขอกัมพูชาจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายให้ทำเช่นนั้น

ด้านเอ็มอาร์ซี กล่าวว่า ไม่ได้รับรายงานใดๆ เกี่ยวกับกระแสน้ำ “เอ็มอาร์ซีได้ร้องขอไปแล้ว และกำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมจากกัมพูชา” เช่นเดียวกับเวียดนามที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และหวังว่ากัมพูชาจะเดินหน้าให้ความร่วมมือกับประเทศอื่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป

จันทร รองนายกฯ หัวหอกโครงการโต้แย้งด้วยการเปรียบเทียบคลองฟูนันเตโชเป็น “หลอด”

“คุณจะใช้หลอดดูดน้ำจากแม่น้ำโขงได้แค่ไหนกันเชียว” จันทรกล่าวกับสเตรทส์ไทม์สเมื่อเดือนก่อนและว่า การศึกษาพบว่า คลองกระทบน้ำในแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้งแค่ 0.06% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ทางการกัมพูชาปฏิเสธด้วยว่า เรือรบจีนไม่สามารถใช้คลองได้ นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าคลองฟูนันเตโชไม่น่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเนื่องจากใช้ทางบกและทางทะเลเหมาะสมกว่า นายวัณริธมองว่า ความสำคัญของคลองสายนี้เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ เป็นการสร้างตำนานทางการเมือง

“รัฐบาลทำแน่และจะทำทุกวิถีทางให้สำเร็จด้วยต้นทุนทุกอย่าง พวกเขาต้องพิสูจน์อะไรบางอย่าง” นักวิเคราะห์ย้ำ 

  • มาเลเซียสร้างท่าเรือใหม่

มาเลเซียมีแผนสร้างท่าเรือตู้สินค้า (container port) แห่งใหม่ในรัฐเนกริเซมบิลัน ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูติดกับช่องแคบมะละกา

ช่องแคบมะละกาตั้งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียกับคาบสมุทรมลายู เป็นทางน้ำสำคัญเชื่อมมหาสมุทรอันดามันและแปซิฟิก ทอดยาวตั้งแต่ทะเลอันดามันผ่านช่องแคบสิงคโปร์ไปจนถึงทะเลจีนใต้ ช่วยเชื่อมโยงหลายเขตเศรษฐกิจในเอเชียเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย

ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองรับสินค้าราว 30% ของการค้าโลก แต่ละปีเรือแล่นผ่านราว 94,000 ลำ

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า ท่าเรือตู้สินค้าแห่งใหม่ของมาเลเซียจะตั้งอยู่ภายในเมืองพอร์ท ดิกสัน ในรัฐเนกรี เซมบีลันใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์มูลค่าประมาณ 2 พันล้านริงกิต (ราว 1.56 หมื่นล้านบาท) และจะมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการ ทั้งยังเป็นท่าเรือแห่งแรกในมาเลเซียที่จะมีการใช้เทคโนโลยีสมาร์ตเอไอด้วย

ท่าเรือสมาร์ตเอไอแห่งนี้จะมีท่าเทียบเรือยาว 1.8 กิโลเมตร มีอาคารขนถ่ายตู้สินค้า และพื้นที่การจัดการตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 809,300 ตารางเมตร สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้ แต่เบื้องต้นยังไม่มีการระบุเป้าหมายช่วงเวลาการก่อสร้างที่แล้วเสร็จออกมา

  • มาเลเซียลงทุนหนักแข่งเพื่อนบ้าน

แผนการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียกำลังลงทุนในท่าเรือแห่งใหม่เป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์บนช่องแคบมะละกา

ตัวอย่างเช่น การลงทุน 8.1 พันล้านดอลลาร์ขยายศักยภาพท่าเรือกลัง (Port Klang) เป็นสองเท่า จากรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ 14 ล้านตู้เป็น 27 ล้านตู้ตลอดหลายสิบปีข้างหน้า

หันไปดูเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามช่องแคบมะละกาก็มีแผนการใหญ่พัฒนาท่าเรือของตนเช่นกัน สิงคโปร์กำลังก่อสร้างท่าเรือตูอัส (Tuas Port) เมื่อแล้วเสร็จในปี 2583 จะกลายเป็นท่าเรืออัตโนมัติใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนไทยก็มีโครงการแลนด์บริดจ์ ระยะทาง 100 กม. มูลค่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เชื่อมท่าเรือสองฝั่งลดเวลาเดินทางโดยรวมสี่วัน กล่าวคือไม่ต้องใช้ช่องแคบมะละกาทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินเคยกล่าวถึงโครงการนี้ว่า  จากเดิมการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาต้องใช้ 9 วัน แต่หากใช้โครงการแลนด์บริดจ์จะเหลือเวลาขนส่งเพียง 5 วัน ซึ่งท่าเรือแต่ละฝั่งจะสามารถรองรับการขนส่งสินค้ากว่า 20 ล้านคอนเทนเนอร์ต่อปี

 หากพิจารณาในภาพรวมเห็นได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินหน้ามีบทบาทสำคัญในการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาท่าเรือที่กล่าวมาตอกย้ำให้เห็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และความพยายามใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ด้วยการลงทุนและการวางแผนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องจึงส่อเค้าว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นผู้กำหนดอนาคตการค้าทางทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์