นัยทางการเมือง ในพิธีเปิด ‘โอลิมปิก’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

นัยทางการเมือง ในพิธีเปิด ‘โอลิมปิก’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกปารีส 2024 ทั้งโชว์พระนางมารี อังตัวเนตต์ และการแสดงที่อิงมาจากภาพเขียน The Last Supper หากมองเป็นการแสดงล้อเลียน เรียกเสียงหัวเราะ อาจดูตื้นเขินเกินไป เพราะที่จริงแล้วโชว์เหล่านั้น แฝงด้วยนัยการเมือง นำเสนอความเป็นฝรั่งเศสได้อย่างแท้จริง

ท่ามกลางสายฝนโปรย พิธีเปิดโอลิมปิกได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ตระการตา สมกับการเป็นประเทศเจ้าแห่งวัฒนธรรมอย่างฝรั่งเศส

และหนึ่งในธีมของงานก็คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาค ซี่ง 3 คำนี้ก็คือคำขวัญประจำชาติของคนฝรั่งเศส การผนวกอัตลักษณ์ต่างๆ ในความเป็นฝรั่งเศส ไม่ว่าจะผ่านการแสดง สถานที่ ดนตรี หรือแม้กระทั่งการเลือกนักร้อง ก็ล้วนแต่คิดมาแล้วอย่างดี เป็นส่วนผสมที่เรียกได้ว่าคือฝรั่งเศสแท้ๆ

และกว่าจะได้มาซึ่ง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพนั้น ฝรั่งเศสก็ต้องแลกมาด้วยประวัติศาสตร์ที่เรียกได้ว่านองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในยุโรป หนึ่งในการแสดงที่เรียกเสียงฮือฮาและก็สะท้อนที่มาของประเทศก็คือ การล้อเลียนพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ราชินีองค์สุดท้ายของฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ ที่ในที่สุดถูกประหารโดยกิโยติน ซึ่งก็ล่าสุดก็ได้เชื้อพระวงศ์ฝรั่งเศสที่ยังคงหลงเหลือต่างออกมาประท้วง

เช่นเดียวกับความไม่พอใจในการเอาพระเยซูจากภาพเขียน The Last Supper มาล้อเลียน ซึ่ง 2 กรณีนี้แสดงให้เห็นความชัดเจนถึงอารมณ์ขัน ความก้าวหน้า และ/หรือเสรีภาพที่อาจจะถูกมองว่าเกินขอบเขต ซึ่งก็ขึ้นกับทัศนมุมมองของแต่ละบุคคล ในวัฒนธรรมหนึ่งอาจจะมองว่าพระเจ้า หรือกษัตริย์สมควรอยู่ในที่สูง สมควรแก่การเคารพ ขณะที่ฝรั่งเศส นั้นทุกคนคือคนเท่ากัน

แต่โชว์ทั้ง 2 ที่เล่ามา ก็ยังไม่เท่ากับการปรากฏตัวของเซลีน ดิออน ราชินีนักร้องเพลงบัลลาดชื่อดังก้องโลก ที่ถึงแม้จะมีสัญชาติเป็นคนแคนาดา แต่แท้จริงคือลูกหลานของคนฝรั่งเศส ใช้ภาษาฝรั่งเศสคุยกับพ่อแม่ที่บ้าน ทั้งจากพลังเสียง และการผ่านพ้นจากโรคร้ายและกลับมาเปิดตัวอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้หอไอเฟลกับเพลงฝรั่งเศสคลาสสิกของ Edith Piaf ซึ่งคือนักร้องไอคอลที่ถ้าคิดถึงฝรั่งเศสต้องคิดถึงเธอ เรียกได้ว่า สะกดผู้ชมทุกคน และก็เป็นกระแสให้พูดถึงจนกระทั่งวันนี้

ตัดกลับมาฝั่งอังกฤษ ในปี 2012 ที่ลอนดอนก็มีการจัดโอลิมปิกเช่นกัน และก็เป็นเมืองที่ได้จัดโอลิมปิกถึง 3 ครั้ง เช่นเดียวกับปารีส ซึ่งในโลกมีแค่ 2 เมืองเท่านั้นที่เคยจัด 3 ครั้ง เล่าขนาดนี้ถ้ายังไม่เห็นภาพ ก็ต้องเล่าเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันฝรั่งเศสกับอังกฤษนั้นแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันมาตลอด ความเป็นคู่แข่งนี้ก็ได้ฝังรากลึกลงไปถึงในใจพลเมือง

ดังนั้นหากฝรั่งเศสและคนทั่วโลกกำลังพูดถึงค่ำคืนที่เซลีน ดีออนร้องเพลงใต้หอไอเฟล ฝั่งอังกฤษก็ต้องพูดถึงโอลิมปิก 2012 ที่สมเด็จพระราชินีทรงทำพิธีเปิดจากการกระโดดร่มภายใต้การอารักขาของเจมส์ บอนด์ ตัวละครสายลับชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งก็มีกระแสการฉายซ้ำถึงช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นนั้น

ทั้งหมดทั้งมวล กำลังจะบอกว่าความเป็นชาติ และสถาบันหลักของชาติแต่ละชาติ ล้วนมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และความละเอียดอ่อนที่ไม่เท่ากัน เรื่องตลกในวัฒนธรรมหนึ่ง อาจจะไม่ตลกในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความเปลี่ยนแปลงนั้นแน่นอน และสถาบันในโลกตะวันตก ทั้งชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์ก็ล้วนเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน

หากมองว่าพระนางมารี อังตัวเนตต์ ที่ถือหัวตัวเองนั้นมาเพื่อการล้อเลียนเรียกเสียงหัวเราะ ก็ดูจะตื้นเขินจนเกินไป เพราะโดยนัยแล้วการแสดงนั้นคือตัวตนของฝรั่งเศสที่แท้จริง ที่จะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งไม่ได้มาโดยง่าย แต่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของคนฝรั่งเศสเอง เพื่อให้คนเห็นคุณค่าเห็นถึงเส้นทางอันยากลำบากที่คนรุ่นปู่รุ่นทวดต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพื่อคนรุ่นหลังจะได้หวงแหนและรักษาสืบไป