‘โอลิมปิกปารีส’ กรณีศึกษา ‘soft power’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การจัดพิธีเปิดโอลิมปิกในแม่น้ำแซนด์ ที่ไม่ตรงตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของงาน และการออกแบบชุดพิธีเปิดของนักกีฬามองโกเลีย ที่ได้รับเสียงชมมากมาย บ่งบอกความพยายามนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์นอกกรอบ ในขณะที่การออกแบบชุดของไทยยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสสังคมวิจารณ์ถึงชุดทีมชาติไทยในโอลิมปิกที่กำลังจะมีพิธีเปิดเกมส์ในวันพรุ่งนี้
พิธีเปิดนี้จะถือเป็นพิธีเปิดที่แปลกพิสดารกว่าครั้งก่อนๆ ซึ่งปกติแล้วจะจัดในสนามกีฬาขนาดใหญ่ แต่รอบนี้จะจัดขึ้นกลางแม่น้ำแซนด์ แม่น้ำสายหลักที่ผ่านใจกลางกรุงปารีส ขบวนพาเหรดจะล่องไปตามแม่น้ำเป็นระยะทางกว่า 6 กม. ผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ หอไอเฟล มหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ที่เคยเป็นพระราชวังเก่า
ประมาณการว่าจะใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 4 ชั่วโมง โดยเริ่มที่เวลา 19.30 น. และในช่วงนี้ที่ถือเป็นฤดูร้อนของยุโรป พระอาทิตย์จะตกช้า โดยกว่าจะลับขอบฟ้าก็ปาเข้าไป 21.30 น. ผู้อ่านคงจะงงว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับงานพิธี คำตอบคงจะอยู่ในใจของผู้ที่เคยไปปารีสโดยเฉพาะช่วงตะวันตกดิน เพราะทั่วทั้งฟ้าจะกลายเป็นสีชมพูม่วง เจือด้วยสีทองระเรื่อ ส่งเสริมกับสถานที่สำคัญริมน้ำที่จะถูกฉายและตกแต่งด้วยไฟ ทำให้เกิดเป็นภาพความสวยงามที่ตราตรึงใจอย่างมาก
และนี่คือเหตุผลว่าทำไม ปารีสถึงได้ชื่อว่าเมืองแห่งแสงสี และได้ฉายาว่าเป็นเมืองแห่งความรัก เพราะด้วยบรรยากาศที่ดี เหตุผลเหล่านี้ทั้งหมดถูกคิดมาอย่างละเอียดพิถีพิถัน ฝรั่งเศสใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์ความสวยงามที่จะสะกดทุกสายตาผู้ชมทั่วโลก ซึ่งมีการประมาณการว่าอาจจะสูงถึง 40 ล้านคน และตัวเลขนี้ยังไม่เท่ากับเนื้อหาที่จะกระจายต่อในสื่อในโซเซียลที่น่าจะสูงกว่าอีกหลายเท่าตัว
ความคิดแบบนี้ก็คือฝรั่งเศสโดยแท้ คือต้องงดงามหรูเลิศอลังการเพอร์เฟ็ก ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงลิ่ว เพราะการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ใช้งบประมาณมหาศาล และข้อจำกัดกระทบกับชีวิตประจำวันของคนปารีสอย่างมาก อาทิเช่น การจำกัดการเดินทางในโซนต่างๆ การขึ้นค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ซึ่งก็ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ จนถึงกระทั่งคำขู่ในการนัดหยุดงานของหน่วยงานรักษาความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็หวังจะใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือสู่เป้าหมายหลายสิ่ง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การโปรโมตประเทศในเชิง Soft power เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อาทิ มองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ถือได้ว่าไม่ได้อยู่ในจอเรดาร์ความสนใจของคนทั่วโลกมากนัก แต่เพราะการออกแบบเครื่องแต่งกายที่สวยงามจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลก ทำให้คนหันมาสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประเทศนี้มากขึ้น
นี่คือตัวอย่างที่ดีของ soft power ถูกต้องที่ความสวยงามนั้นขึ้นกับตาของคนมอง แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่บอกว่าชุดสวย ก็แปลว่ามีความสวยจริง เช่นเดียวกับในทางตรงกันข้าม
ประเทศไทยเรามีความพยายามเป็นเมืองแฟชั่นมานานหลายปีแล้ว แต่ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น คือไม่มีอะไรคืบหน้าจนเกิดเป็นกระแสอะไรเลย ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีมีสิทธิเต็มที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ และก็เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในการรับฟังและนำไปปรับใช้ ไทยเราไม่ได้ขาดแคลนนักออกแบบที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ แต่สิ่งที่เราขาดคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการตัดสินใจแทนที่มักตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ไม่ทันโลก
ดังนั้นทั้งพิธีเปิดที่ไม่ตรงตามขนบมากนักของฝรั่งเศส กับการออกแบบชุดนักกีฬาที่สวยล้ำและไม่ทิ้งรากเหง้าของมองโกเลียจึงสามารถเป็นกรณีศึกษาให้แก่คนไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อให้เห็นโอกาสใช้โอลิมปิกเป็นเวทีโปรโมตประเทศ และเพิ่มการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน มากกว่าเอาง่ายเข้าว่า โดยทำตามรูปแบบที่เคยทำกันมาแต่ก่อน