เศรษฐีหนีสหราชอาณาจักรปักหลักดูไบ

เศรษฐีหนีสหราชอาณาจักรปักหลักดูไบ

นครดูไบแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขึ้นชื่อเรื่องเป็นเมืองดึงดูดอภิมหาเศรษฐีมานานแล้ว รายงานHenley Private Wealth Migration Report ฉบับล่าสุดเดือนมิ.ย.เผยว่า ยูเออีเดินหน้าดึงดูดคนมีเงินได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะเดียวกันสหราชอาณาจักรที่เศรษฐีหลายคนย้ายไปอยู่ยูเออี คาดว่าจะมีประชากรเศรษฐีลดลง 17% ภายในปี 2028

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานข้อมูลจากธนาคารหลายแห่งพบว่า ในช่วงที่ภาษีและค่าครองชีพในบ้านเกิดเพิ่มสูงขึ้น บุคคลผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงหลายคนต้องการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เช่น เมืองที่คนต่างชาติไม่ต้องเสียภาษีอย่างดูไบ หรือเมืองหาดทรายสวย เทรนด์นี้เห็นได้ชัดมากขึ้นหลังพรรคแรงงานชนะเลือกตั้งสหราชอาณาจักรอย่างถล่มทลายในเดือน มิ.ย.

คาริม เจทา นักลงทุนในตะวันออกกลางมายาวนาน เขาย้ายจากสหราชอาณาจักรมาอยู่ดูไบเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาด ได้เผยกับซีเอ็นบีซีว่า มีปัจจัยทั้งผลักดันและดึงดูดให้มหาเศรษฐีเลือกย้ายมาอยู่ดูไบ

"ปัจจัยผลักดัน เช่น แนวโน้มรัฐบาลพรรคแรงงานขึ้นภาษี พรรคเคยหาเสียงไว้ว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 20%

ส่วนปัจจัยดึงดูด เช่น ภาพลักษณ์ของดูไบที่ปลอดภัยมาก และการปฏิรูปวีซ่าส่งเสริมให้เกิดการย้ายถิ่น"

รายงานเฮนลีย์เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. ระบุว่า ยูเออีเตรียมมีมหาเศรษฐีจากทั่วโลกย้ายเข้ามาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6,700 คน ภายในสิ้นปี 2567 เกือบสองเท่าของประเทศอันดับสองอย่างสหรัฐ ที่คาดว่าจะมีมหาเศรษฐีย้ายเข้ามาสุทธิ 3,800 คนในช่วงเดียวกัน

“ด้วยภาษีเงินได้เป็นศูนย์, โกลเดนวีซา, ไลฟ์สไตล์หรูหรา และทำเลยุทธศาสตร์ ยูเออีครองตำแหน่งปลายทางมหาเศรษฐีย้ายถิ่นเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่แล้ว”

รายงานระบุ โดยอธิบายว่า โกลเดนวีซาของยูเออีเป็นวีซาพำนักระยะยาวที่เปิดให้ชาวต่างชาติใช้ชีวิต ทำงาน หรือเรียนหนังสือในยูเออีได้

แม้มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ที่ย้ายเข้ามาส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย และแอฟริกา แต่คาดว่าชาวอังกฤษและยุโรปจะย้ายเข้ามามากขึ้นเช่นกัน

สุนิตา ซิงห์ ดาลัล หุ้นส่วนสำนักงานครอบครัวและจัดการความมั่งคั่งส่วนตัวฮูรานีในดูไบกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะการพัฒนาและการปฏิรูปใน “ระบบนิเวศการจัดการความมั่งคั่ง” ของดูไบกล่าว

“ในเวลาไม่ถึงห้าปี ยูเออีใช้กรอบกฎระเบียบที่ชัดเจนมอบทางออกใหม่ๆ มากมายให้คนมีเงินได้ปกป้อง รักษา และเสริมสร้างความมั่งคั่งของพวกเขาได้” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวต่อ

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและระบบโรงเรียนนานาชาติที่เข้มแข็ง, การเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์, อาชญากรรมต่ำ, ไม่เก็บภาษีเงินได้, วีซ่าคนทำงานทางไกล และแรงจูงใจการลงทุนมากมายยังช่วยดึงดูดคนมีเงินเข้ามาดูไบด้วย

ตรงข้ามกับอังกฤษ รายงานความมั่งคั่งโลกของยูบีเอสเมื่อเดือน มิ.ย.คาดว่าประชาชนเศรษฐีเงินล้านน่าจะลดลงจาก3,061,553 คนในปี 2566 มาอยู่ที่2,542,464 คนภายในปี 2571

แต่ข้อน่าสังเกตคือสหราชอาณาจักรมีประชากรเศรษฐีจำนวนมากสูงสุดเป็นอันดับสามของโลก ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติจากรัสเซีย ตะวันออกกลาง และที่อื่นๆ รวมอยู่ด้วย

ตอนนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังขจัดสถานะ “ไม่มีถิ่นที่อยู่” ซึ่งเปิดช่องให้คนมีเงินและมักเป็นชาวต่างชาติไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากต่างแดน ประชากรกลุ่มนี้หลายคนจะหาทางยกเลิกสถานะการพำนักในสหราชอาณาจักร

“ตอนนี้มีคนย้ายออกกันแล้วผลจากเศรษฐกิจและการเมืองในอังกฤษเสี่ยงปั่นป่วนมากขึ้น เนื่องจากการตัดสินใจออกนโยบายโหด” ฮันนาห์ ไวท์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อรัฐบาล กลุ่มคลังสมองอิสระในกรุงลอนดอนกล่าวในรายงานของเฮนลีย์ พร้อมยกตัวอย่างการเก็บภาษี 40% จากอสังหาริมทรัพย์ราคาเกิน 325,000 ปอนด์ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และระบอบภาษีผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่จะยกเลิกต้นปี 2568

ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลพรรคแรงงานชุดปัจจุบันยังให้คำมั่นยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มค่าเล่าเรียนโรงเรียนเอกชน 20% ซึ่งจะทำให้การส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสถาบันชั้นสูงแพงขึ้นมาก