ดีมานด์ข้าวฟิลิปปินส์สูง ‘ไทย' กำลังเร่งคว้าส่วนแบ่งตลาดจาก ‘เวียดนาม’

ดีมานด์ข้าวฟิลิปปินส์สูง ‘ไทย' กำลังเร่งคว้าส่วนแบ่งตลาดจาก ‘เวียดนาม’

ขณะที่ความต้องการข้าวในฟิลิปปินส์สูงมาก ประเทศไทยจึงพยายามคว้าโอกาสในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์เพิ่มและเจ้าตลาดใหญ่ก็คือเวียดนาม

ประเทศผู้ส่งออกข้าวทั้ง ไทยและเวียดนาม กำลังแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่เก็บเกี่ยวข้าวได้น้อย ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มการนำเข้าข้าวและลดภาษีนำเข้าข้าวเพื่อรักษาราคาให้เทียบเท่าระดับท้องถิ่น

ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า ฟิลิปปินส์ ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่า จะสามารถนำเข้าข้าวสูงถึง 4.1 ล้านตันในปีนี้ หลังจากที่ปีก่อนนำเข้า 3.2 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าการนำเข้าข้าวเฉลี่ยในระยะยาว 2 - 2.5 ล้านตัน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญบั่นทอนผลผลิตสำคัญ และทำให้ราคาพุ่งสูง จนทำให้เงินเฟ้อฟิลิปปินส์สูงตาม

เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ รัฐบาลมะนิลาจึงลดภาษีนำเข้าข้าวจากระดับ 35% สู่ระดับ 15% เมื่อเดือน มิ.ย.

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงกระตุ้นให้ไทยและเวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับสองและสามของโลก บุกตลาดมะนิลาเพื่อคว้าโอกาสจากความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นของฟิลิปปินส์

เลอ มิงห์ ฮวาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม และฟรานซิสโก ติว ลอเรล จูเนียร์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ พบกันเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ในกรุงฮานอย ทั้งสองเห็นด้วยที่เวียดนามจะพัฒนาคุณภาพข้าวของตน และเพิ่มผลผลิตเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในฟิลิปปินส์

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ได้ 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และปกติแล้วสัดส่วนนำเข้าข้าวประมาณ 80% ของฟิลิปปินส์มาจากเวียดนาม

ขณะที่เจ้าหน้าระดับอาวุโสของกระทรวงพาณิชย์ไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่จากองค์การอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (National Food Authority-NFA) ที่เป็นหน่วยงานรับซื้อข้าว ในกรุงมะนิลา เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่ามะนิลาจะนำเข้าข้าวไทยอย่างน้อย 130,000 ตัน ตลอดทั้งปี

ตามข้อมูลสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ไทยส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ได้ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวเมื่อปีก่อน 388% ที่ส่งออกได้เพียง 62,000 ตัน และส่งออกได้ 100,000 ตันตลอดทั้งปี 2566

เทรดเดอร์จากสถาบันการค้าระหว่างประเทศ เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า “ไทยส่งออกข้าวไปยังมะนิลาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก เพราะการขาดแคลนอุปทานข้าวทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเร่งนำเข้า ขณะที่เงินไทยอ่อนค่าทำให้ผู้ส่งออกไทยเสนอราคาที่แข่งขันได้”

ด้าน NFA ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้

กระทรวงพาณิชย์ไทย เผยเมื่อวันอังคาร คาด ไทยอาจส่งออกข้าวได้โดยรวม 8.2 ล้านตันในปีนี้ ลดลง 6.5% จากปี 2566 แต่ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีก่อนหน้า

เทรดเดอร์เผย ความสำเร็จของไทยในการกระตุ้นการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ อาจเป็นเครื่องปลุกรัฐบาลฮานอย

“แม้เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์ดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ แต่ปีนี้เวียดนามต้องกระตือรือร้นกว่านี้เพราะการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า “ไทยอาจแข่งขันได้ยากลำบากในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากอาจมีซัพพลายก้อนใหญ่จากปากีสถานเข้ามาในตลาด และเราอาจไม่สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ เพราะเขามีผลผลิตข้าวมากกว่า ซึ่งทำให้เขาเสนอข้าวในราคาที่แข่งขันได้ดีกว่า”

ตามข้อมูลของ USDA ระบุ ผลผลิตข้าวไทยเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เวียดนามผลิตได้ 700 - 900 กิโลกรัมต่อไร่

ด้วยการประหยัดต่อขนาดนี้ (economy of scale) ข้าวขาวเกรด “ข้าวหัก 25%” ของเวียดนาม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ฟิลิปปินส์นำเข้าเป็นปกตินั้น จำหน่ายในราคา 520 ดอลลาร์ต่อตัน หรือราว 18,000 บาทต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งถูกกว่าของข้าวไทยในเกรดเดียวกันราว 30% หรือประมาณ 1,000 บาท

เจริญ ย้ำว่า “ในตลาดฟิลิปปินส์ ราคาคือสิ่งสำคัญ ถ้าคุณสามารถเสนอราคาต่ำที่แข่งขันได้ คุณชนะ”

เจริญเสริมด้วยว่า อุตสาหกรรมข้าวทั่วโลกกำลังจับตาดูผลผลิตข้าวของอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากในปีนี้ นั่นหมายความว่า อินเดียอาจยุติระงับการส่งออกข้าวขาว และปล่อยให้ธัญพืชต่าง ๆ เข้าสู่ตลาดโลก และอาจก่อให้เกิดสงครามราคาในช่วงครึ่งปีหลังนี้

 

อ้างอิง: Nikkei Asia