อนาคตบังกลาเทศในอุ้งมือทหาร (อีกครั้ง)

อนาคตบังกลาเทศในอุ้งมือทหาร (อีกครั้ง)

นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ผู้ดำรงตำแหน่งมายาวนานถูกประชาชนประท้วงอย่างหนักจนต้องลาออกและหนีออกนอกประเทศ ปล่อยให้บังกลาเทศตกอยู่ในอุ้งมือทหารอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยมีประสบการณ์กับการรัฐประหารมายาวนาน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ความไม่สงบในบังกลาเทศเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน ก.ค. ในรูปของการประท้วงโควตางานราชการ จากนั้นขยายวงเป็นเรียกร้องให้ฮาสินาลาออก รัฐบาลของเธอถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า ใช้สถาบันของรัฐในทางมิชอบเพื่อรวบอำนาจและกำจัดคนเห็นต่าง รวมถึงการใช้ศาลเตี้ยสังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม

ฮาสินา วัย 76 ปี อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2009 แต่ถูกกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้งในเดือน ม.ค. ตลอดเดือนที่ผ่านมาประชาชนนับล้านคนลงถนนเรียกร้องให้เธอลาออก ผลปรากฏว่า ถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างรุนแรงมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน แต่การประท้วงยิ่งมีพลังเพิ่มขึ้นจนฮาสินาต้องลาออกในท้ายที่สุด ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกนอกประเทศไปเมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.) เพราะกองทัพไม่สนับสนุนเธออีกต่อไป

นายพลวาเกอร์ อัซ ซามาน ผู้บัญชาการทหารบกแถลงผ่านโทรทัศน์ของรัฐเมื่อบ่ายวันจันทร์ว่า ฮาสินาลาออกและกองทัพจะแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ขึ้นมาทำหน้าที่

“ประเทศชาติเจ็บปวดมามากแล้ว เศรษฐกิจเสียหาย ประชาชนมากมายโดนฆ่า ถึงเวลาต้องหยุดความรุนแรงนี้” ผบ.กล่าวไม่นานหลังจากฝูงชนบุกเข้าไปและปล้นสะดมในทำเนียบนายกฯ

หลังคำประกาศของ ผบ. ทบ. ชาวบังกลาเทศนับล้านๆ คนหลั่งไหลกันมาบนท้องถนนในกรุงธากาด้วยความยินดีปรีดา

“ผมรู้สึกดีใจมากที่ประเทศได้รับการปลดปล่อย เราเป็นอิสระจากเผด็จการ นี่คือการลุกฮือของเบงกอลอย่างที่เราเห็นในปี 1971 แล้วก็ตอนนี้ปี 2024” ซาซิด อาห์นาฟ วัย 21 ปี กล่าวกับเอเอฟพีโดยเปรียบเทียบกับสงครามเอกราชแยกตัวจากปากีสถานเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน

แต่บรรยากาศความโกลาหลและโกรธเกรี้ยวก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ตำรวจรายงานว่า ประชาชนอย่างน้อย 66 คนถูกสังหารในวันจันทร์ เมื่อม็อบเปิดฉากโจมตีแก้แค้นพันธมิตรของฮาสินา

ผู้ประท้วงบุกรัฐสภา เผาสถานีโทรทัศน์ บางคนถึงขนาดทุบทำลายรูปปั้นชีค มูจิบูร์ ราห์มัน บิดาของฮาสินา วีรบุรุษเอกราชแห่งบังกลาเทศ

บางคนเผาพิพิธภัณฑ์ชีค มูจิบูร์ เปลวไฟลามเลียภาพเหมือนของอดีตผู้นำเสียหายชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ เพราะกองทัพภักดีกับฮาสินาภายใต้การคุมอำนาจเด็ดขาดของเธอ

“ตอนนี้ถึงเวลาเอาพวกเขามาแสดงความรับผิดชอบกับกับซ้อมทรมาน ชีค ฮาสินาต้องรับผิดชอบการฆ่าประชาชน” คาซา อาเหม็ด ผู้ประท้วงคนหนึ่งเผยกับเอเอฟพี ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนเล่าด้วยว่า สำนักงานพรรคอวามีลีกของฮาสินาทั่วประเทศถูกเผาและปล้นสะดมเช่นกัน

เอเอฟพีรวบรวมข้อมูลจากตำรวจ หน่วยงานราชการ และแพทย์ในโรงพยาบาลพบว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 366 คนจากความไม่สงบที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.

  • สุญญากาศการเมือง

เมื่อกลางดึกวันจันทร์ ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดินสั่งปล่อยตัวนักโทษจากการประท้วง รวมถึงคาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ วัย 78 ปี เซียมีสุขภาพย่ำแย่ เธอถูกฮาสินาคู่อริจำคุกในข้อหาทุจริตเมื่อปี 2018

ในคืนวันจันทร์เช่นกันประธานาธิบดี ผบ.ทบ. และผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญได้หารือกัน ทีมสื่อของประธานาธิบดีเผยว่า พวกเขา “ตัดสินใจตั้งรัฐบาลรักษาการณ์โดยเร็ว” แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเวเกอร์จะเป็นนายกฯ หรือไม่ ขณะเดียวกันชะตากรรมของฮาสินาก็ยังไม่แน่นอน

แหล่งข่าวคนสนิทเผยว่า ฮาสินา วัย 76 ปี ออกนอกประเทศโดยเฮลิคอปเตอร์ สื่อในอินเดียประเทศเพื่อนบ้านรายงานว่า ฮาสินามาลงที่ฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งใกล้กรุงนิวเดลี

แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งเผยว่า เธอต้องการ “ต่อเครื่อง” ไปลอนดอนแต่การที่รัฐบาลอังกฤษเรียกร้องให้สหประชาชาตินำการสอบสวนถึง “ความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” ทำให้ฮาสินาไม่แน่ใจ

เมื่อฮาสินาหนีไปได้ผู้ประท้วงจึงเรียกร้องเป็นวงกว้างให้สร้างหลักประกันว่าพันธมิตรใกล้ชิดของฮาสินยังคงอยู่ในประเทศ กองทัพเผยว่า ได้สั่งปิดสนามบินนานาชาติธากาไปแล้วตั้งแต่เย็นวันจันทร์โดยไม่ได้บอกเหตุผล

บังกลาเทศนั้นมีประวัติการทำรัฐประหารมายาวนาน เดือน ม.ค.2007 กองทัพประกาศภาวะฉุกเฉินหลังเกิดความไม่สงบทางการเมืองเป็นวงกว้าง แล้วตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ที่มีทหารหนุนหลังอยู่ในอำนาจสองปี

ไมเคิล คูเกิลแมน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้ ศูนย์วิลสันในกรุงวอชิงตันเตือนว่า การออกไปของฮาสินา “อาจทำให้เกิดสุญญากาศครั้งใหญ่ ประเทศเข้าสู่ความไม่แน่นอน  ช่วงเวลาข้างหน้านี้ถือว่าสำคัญมาก”

ด้านโฆษกแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เผยว่า เลขาฯ เน้นย้ำความสำคัญของ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติและเป็นระเบียบ” เช่นเดียวกับเสียงเรียกร้องของโจเซป บอร์เรล ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ขณะที่อังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมและสหรัฐเรียกร้อง “ความสงบ”