อ่าน‘ฟ้าสางที่ดัคกา’ ในวันบังกลาเทศฟ้าหม่น l World Pulse
วิกฤติการเมืองบังกลาเทศกลายเป็นข่าวใหญ่มาตั้งแต่เดือน ก.ค. เมื่อนักศึกษาลงถนนต่อต้านการกำหนดโควตางานราชการให้กับทายาทนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ สื่อมวลชนทุกรายเมื่อพูดถึงข่าวนี้ต่างเล่าประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศที่ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยอินเดียได้เอกราชจากอังกฤษ
วันนี้ World Pulse อยากเล่าถึงประวัติศาสตร์บังกลาเทศบ้างเหมือนกัน แต่เป็นการรับรู้ผ่านนวนิยายที่เคยอ่านจากห้องสมุดโรงเรียนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เคยอ่านเพื่อความบันเทิงเริงใจจะกลายมาเป็นข้อมูลชนิดที่จำไม่ลืมในวันนี้
เมื่อ 37 ปีก่อน World Pulse เคยอ่านนวนิยายเรื่อง “ฟ้าสางที่ดัคกา” บทประพันธ์ของโสภาค สุวรรณ นักเขียนผู้ครองใจนักอ่านหญิงไทยมายาวนาน รักจะเป็นหนอนหนังสือไม่มีใครพลาดงานเขียนของเธอไปได้ ฟ้าสางที่ดัคกา บอกเล่าเรื่องราวของ “คริมา” หรือ แวว ลูกสาวของคุณณัฐ อุปทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบีย เรื่องเริ่มต้นเมื่อเด็กสาววัย 16 ปีใช้เวลาปิดภาคเรียนจากสวิตเซอร์แลนด์ มาเยี่ยมพ่อที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งพ่อมีเพื่อนสนิทรุ่นน้อง วัย 31 ปีเป็นเลขานุการโทสถานทูตปากีสถานประจำซาอุดีอาระเบียนาม “อับเดล รามัน เอล ราชิด” หรือ “รามัน” แววไม่ชอบรามันเลยสักนิด เพราะเขาชอบชวนคุณพ่อของเธอไปล่ากระต่ายป่าที่เธอเห็นว่าเป็นการทำบาป กรรมจะสนองเหมือนที่เธอต้องกำพร้าแม่มาตั้งแต่เยาว์วัย
สองปีผ่านไปคุณณัฐย้ายไปเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาประจำกรุงปารีส แววเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ส่วนรามันย้ายไปดำรงตำแหน่งเดียวกันกับคุณณัฐที่กรุงบอนน์ เยอรมนีตะวันตก รามันมาเยี่ยมคุณณัฐที่ปารีสแต่เจ้าภาพมีธุระด่วนต้องกลับกรุงเทพฯ จึงทิ้งแขกรุ่นน้องให้ลูกสาวดูแลด้วยถือว่า คุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยประจำการอยู่ประเทศทะเลทราย การต้อนรับขับสู้แขกของพ่อที่สูงวัยกว่าถึง 15 ปีกลับจุดประกายความรู้สึกประหลาดให้กับสาวน้อยที่ยังไม่เคยรู้จักว่าความรักคืออะไร
ระหว่างความรักก่อตัวขึ้นโดยที่แววต้องปกปิดไม่ให้พ่อทราบ ประเทศปากีสถานเกิดสงครามกลางเมืองในปี 1971 ธรรมชาติของประเทศปากีสถานนั้น อังกฤษเจ้าอาณานิคมแยกประเทศออกมาจากอินเดียในปี 1947 ในลักษณะแบ่งเป็นสองปีกตะวันตกและตะวันออกโดยมีอินเดียคั่นกลาง รามันเป็นชาวเบงกาลี บ้านเกิดอยู่ในเมืองดัคกา (ชื่อสมัยนั้น ปัจจุบันคือกรุงธากา) ปากีสถานตะวันออก เขาและคนอื่นๆ รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่ทรัพยากรมหาศาลต้องส่งไปเลี้ยงปากีสถานตะวันตกอันเป็นที่ตั้งรัฐบาล แต่ปากีสถานตะวันออกกลับไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ
รามันตัดสินใจกลับประเทศเข้าร่วมกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช “สันนิบาตอวามี” นำโดยชีค มูจิบูร์ ราห์มัน (บิดาของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา) เขาถูกจับกุมติดคุกในอิสลามาบัด และเหมือนพระเจ้าเข้าข้างคุณณัฐได้รับตำแหน่งสูงสุดในวิชาชีพ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอิสลามาบัดประเทศปากีสถานพอดี ส่วนแววเรียนจบจากซอร์บอนน์แล้วมาอยู่กับพ่อเพื่อดูแลงานรับแขกในแวดวงนักการทูต ระหว่างนั้นแววหาจังหวะไปเยี่ยมรามันในเรือนจำอยู่เรื่อยๆ
และแล้ววันแห่งการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างก็มาถึง แววมาเยี่ยมรามันในวันแหกคุก ด้วยสถานการณ์สุ่มเสี่ยงรามันไม่สามารถทิ้งลูกสาวทูตไทยไว้เพียงลำพังได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทันที รามันตัดสินใจพาแววระหกระเหินจากอิสลามาบัด ข้ามอินเดียอันกว้างใหญ่เพื่อไปให้ถึงเมืองดัคกา ร่วมต่อสู้กับคนหัวใจเดียวกันเพื่อเอกราชของปากีสถานตะวันออก และเมื่อ “ฟ้าสางที่ดัคกา” วันที่ 16 ธ.ค.1971 โลกได้ต้อนรับประเทศใหม่นาม “บังกลาเทศ” ส่วนนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพอย่างรามัน แม้มีสิทธิได้รับการตอบแทนเป็นถึงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เขากลับขอเป็นเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยคนแรก เพื่อมาหาแวว หญิงที่รัก
นั่นคือเรื่องราวอันตราตรึงใจจากนวนิยาย โสภาค สุวรรณเผยว่า เรื่องนี้เขียนจากชีวิตจริงของเพื่อนสนิทของคุณพ่อที่เล่าแง่มุมชีวิตให้เธอฟังอย่างละเอียด อับเดล รามัน เอล ราชิด มีตัวตนอยู่จริงๆ ซึ่งสำหรับผู้อ่านแล้วนั้นบรรยากาศระหว่างที่รามันพาแววหนีมาดัคกา สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เข้าใจความทุ่มเทของเหล่า Independence fighters เข้าใจว่าเมื่อแบ่งประเทศแล้วทำไมถึงต้องตอบแทนพวกเขา แต่ในโลกของความเป็นจริงการให้โควตาทำงานราชการแก่ทายาทของนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพจุดชนวนให้นักศึกษาประท้วงรัฐบาลนายกฯ ฮาสินา แล้วบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องให้เธอลาออก เป็นความขัดแย้งระหว่างคนเจน Z กับคนรุ่นเก่าที่มีนายกฯ หญิง วัย 76 ปีเป็นตัวแทน
ประชาชนเรือนล้านหลั่งไหลลงถนน บ้างก็บุกไปยังทำเนียบที่พักของนายกฯ ฮาสินาปล้นสะดมข้าวของในบ้าน อนุสาวรีย์ชีค มูจิบูร์ถูกทุบทำลาย พิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้เขาถูกเผา ภาพเหมือนวีรบุรุษแห่งอิสรภาพถูกไฟลามเลียอย่างไม่อาจจินตนาการว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้
“ผมรู้สึกดีใจมากที่ประเทศได้รับการปลดปล่อย เราเป็นอิสระจากเผด็จการ นี่คือการลุกฮือของเบงกอลอย่างที่เราเห็นในปี 1971 แล้วก็ตอนนี้ปี 2024” ซาซิด อาห์นาฟ วัย 21 ปี กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีโดยเปรียบเทียบกับสงครามเอกราชแยกตัวจากปากีสถานเมื่อ 53 ปีก่อน หลังมีรายงานเมื่อบ่ายวันจันทร์(5 ส.ค.) ว่า นายกฯ ฮาสินาลาออกและหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
ขณะนี้บังกลาเทศอยู่ระหว่างการตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ ทหารเข้าคุมอำนาจ อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอน ชนวนเหตุของการเปลี่ยนแปลงมาจากความไม่พอใจในการตอบแทนทายาทวีรบุรุษต่อสู้เพื่ออิสรภาพ แต่ในฐานะแฟนคลับนิยายอ่านข่าวบังกลาเทศทีไรก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าอับเดล รามัน เอล ราชิดยังมีชีวิตอยู่ เขาจะรู้สึกอย่างไรหนอ