‘JPMorgan’ เตือน! เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาส 35% สู่ภาวะถดถอยในสิ้นปีนี้
‘JPMorgan’ ส่งสัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจสหรัฐ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วกว่าคาด โดยปรับเพิ่มโอกาสเป็น 35% ขณะแรงกดดันเงินเฟ้อลด แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกยังต้องจับตา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “เจพีมอร์แกน เชส” (JPMorgan Chase) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ปรับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ภายในสิ้นปีนี้เป็น 35% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 25% เมื่อต้นเดือนที่แล้ว
ตอนนี้ เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณว่าความต้องการแรงงานลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเริ่มมีสัญญาณการลดจำนวนแรงงาน โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan นำโดย บรูซ แคสแมน ระบุในบันทึกถึงลูกค้าเมื่อวันพุธ ว่า ทีมงานยังคงประเมินโอกาสเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าหรือปี 2025 ไว้ที่ 45%
“การปรับเพิ่มประมาณการความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับการปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เรากำลังทำอยู่” แคสแมน กล่าว โดย JPMorgan ได้ปรับลดโอกาสที่เฟด และธนาคารกลางอื่นๆ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นเวลานาน เหลือเพียง 30% เมื่อเทียบกับการประเมินเมื่อสองเดือนก่อนที่มองว่ามีโอกาส 50-50
เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังลดลง JPMorgan คาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือนกันยายน และพฤศจิกายน
ด้านเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ JPMorgan Chase แสดงความกังขาว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐได้หรือไม่ โดยอ้างถึงความเสี่ยงจากการขาดดุลการคลัง และยุทธาภิวัฒน์ที่หลายประเทศในตะวันตกเพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากขึ้น
ไดมอนเสริมต่อว่า โลกยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ และการดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ (QT)
ไดมอน เคยเตือนมานานกว่าหนึ่งปีแล้วว่า อัตราเงินเฟ้ออาจลดลงช้ากว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ และได้เขียนในจดหมายประจำปีถึงผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายน ว่า JPMorgan เตรียมพร้อมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วง 2% ถึง 8% หรืออาจจะมากกว่านั้น
อีกทั้งเขากล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า มีความคืบหน้าในการลดอัตราเงินเฟ้อบ้างแล้ว แต่ยังมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกหลายอย่างอยู่ข้างหน้า
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าธนาคารกลางอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดในเดือนกันยายน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ตลาดแรงงานจะอ่อนแอลง ความกังวลดังกล่าวกลายเป็นประเด็นสำคัญในวันศุกร์ เมื่อข้อมูลการจ้างงานของเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานชะลอตัวลง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิด
ไดมอนเขียนในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปควรให้ภาคเอกชน “มีที่นั่งในโต๊ะเจรจา” โดยไม่ได้ระบุชื่อหรือสนับสนุนผู้สมัครคนใด และปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เขายังปฏิเสธที่จะบอกว่าจะพิจารณาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลต่อไปหรือไม่ โดยตอบแทนว่า “ผมรักในสิ่งที่ผมทำอยู่”
อ้างอิง: bloomberg, bloomberg(2)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์