‘ยูเอสเอส อับราฮัมลินคอล์น’ มุ่งหน้าตะวันออกกลาง แปซิฟิกยิ่งเสี่ยง!
นักวิเคราะห์กลาโหมมอง การที่สหรัฐตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางเรือยูเอสเอสอับราฮัมลินคอล์น จากเอเชียไปตะวันออกกลางแทน เป็นการปล่อยให้แปซิฟิกตะวันตกเปิดโล่งจนน่าอันตราย จนกว่าจะได้เรือบรรทุกเครื่องบินปรับปรุงใหม่มาประจำการที่ญี่ปุ่นหลังจากนี้
KEY
POINTS
- เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เพิ่งสั่งการให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตียูเอสเอสอับราฮัม ลินคอล์น ที่ปฏิบัติการใกล้เกาะกวม มุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลางแทนที่เรือยูเอสเอสธีโอดอร์ โรสเวลต์
- การสับเปลี่ยนกำลังในครั้งนี้ตั้งใจ “เพิ่มการสนับสนุนการป้องกันอิสราเอล” หลังอิสมาอิล ฮานิเยห์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองฮามาส ถูกสังหารในกรุงเตหะราน เมื่อสัปดาห์ก่อน
- การที่กองทัพเรือสหรัฐหายไปจากภูมิภาคตอกย้ำคำพูดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐอเมริกา “ไม่ได้มีพลานุภาพทางทะเลมากพอครอบคลุมภารกิจที่ต้องทำ”
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เพิ่งสั่งการให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตียูเอสเอสอับราฮัม ลินคอล์น ที่ปฏิบัติการใกล้เกาะกวม มุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลางเพื่อแทนที่เรือยูเอสเอสธีโอดอร์ โรสเวลต์
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่ถึงสองเดือน ออสตินนี่เองที่สั่งการให้เรือโรสเวลต์ ซึ่งประจำการในแปซิฟิกด้วย ย้ายไปแทนกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตียูเอสเอสดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ในทะเลแดง ซึ่งเรือทั้งสองลำมีกำหนดต้องกลับสหรัฐ ส่วนเรือลินคอล์น และเรือโรสเวลต์ประจำการในเอเชียแปซิฟิก เพื่อทดแทนเรือบรรทุกเครื่องบินในญี่ปุ่นที่หายไประยะหนึ่ง
ไบรอัน แมคแกรธ เจ้าหน้าที่เรือรบผิวน้ำเกษียณแล้ว ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาThe FerryBridge Group กล่าวว่า การที่กองทัพเรือสหรัฐหายไปจากภูมิภาคตอกย้ำคำพูดประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐอเมริกา “ไม่ได้มีพลานุภาพทางทะเลมากพอครอบคลุมภารกิจที่ต้องทำ”
คอลลิน โก๊ะ นักวิจัยอาวุโส สถาบันกลาโหม และยุทธศาสตร์ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า เพนตากอนได้ข้อสรุปว่า “สถานการณ์ในแปซิฟิกตะวันตกมั่นคงอย่างน้อยๆ ก็ในตอนนี้” สืบเนื่องจากความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เบาบางลงนับตั้งแต่จีน และฟิลิปปินส์ตกลงกันได้ และแม้ไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี “ยังคงตึงเครียด แต่อย่างน้อยก็ควบคุมได้” แต่ถ้าความขัดแย้งติดอาวุธเต็มรูปแบบปะทุขึ้นในเอเชีย
"ขีดความสามารถของกองทัพสหรัฐในแปซิฟิกตะวันตกน่าจะเสียหายเพราะไร้กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี โครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดินจึงมีประโยชน์มาก แต่ไม่คล่องตัวเท่ากองทัพเรือ และกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของสหรัฐถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น"
เหตุผลของสหรัฐพิจารณาได้จาก เมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.67) ซาบรีนา ซิงห์ รองโฆษกเพนตากอน แถลงว่า การสับเปลี่ยนกำลังในครั้งนี้ตั้งใจ “เพิ่มการสนับสนุนการป้องกันอิสราเอล” หลังอิสมาอิล ฮานิเยห์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองฮามาสถูกสังหารในกรุงเตหะรานเมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วอิหร่านประกาศว่าจะเอาคืน
แผนการที่กองทัพเรือสหรัฐส่งให้นิกเคอิเอเชียยืนยันว่า “ช่องว่างเรือบรรทุกเครื่องบิน” ในแปซิฟิกตะวันตกกำลังเกิดขึ้นแล้ว เรือยูเอสเอสคาร์ล วินสัน ที่นักสังเกตการณ์ความมั่นคงสันนิษฐานว่า เมื่อซ้อมรบริมแปซิฟิกในฮาวายเสร็จแล้วจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตก กลับพุ่งตรงกลับไปซานดิเอโกแทนตามที่โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวไว้เมื่อวันจันทร์
เรือบรรทุกเครื่องบินลำต่อไปที่ต้องมาประจำการในแปซิฟิกตะวันตกคือ เรือยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน ที่จะมาถึงโยโกสุกะแทนที่เรือยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน คาดว่าจะมาถึงในฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.- พ.ย.) ตามที่กองทัพเรือเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้
สหรัฐนั้นมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 11 ลำ แต่หลายลำหากไม่อยู่ระหว่างการบำรุงรักษาก็เพิ่งกลับจากการปฏิบัติภารกิจยาวนานหลายเดือนจึงไม่พร้อมใช้งาน ที่พร้อมใช้งานได้ทุกเมื่อมีแค่ไม่กี่ลำเท่านั้น
เรือจอร์จ วอชิงตัน กำลังอยู่ระหว่าง “สับเปลี่ยนลูกเรือ” กับเรือโรนัลด์ เรแกน ในซานดิเอโก โดยกะลาสี 350 นาย หรือ 13% ของลูกเรือเรแกนกำลังย้ายมาอยู่เรือจอร์จ วอชิงตัน
นักสังเกตการณ์กองทัพเรืออีกรายหนึ่งเผยว่า การขาดแคลนเรื่องบรรทุกเครื่องบินอาจเปิดให้มีการอภิปรายกันเรื่องการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐไปประจำการในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันกองเรือสนับสนุนวางกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำไว้ที่โยโกสุกะเท่านั้น
“ทางเลือกหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนสมการเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐทั่วโลกอาจเป็นการจอดเรือหนึ่งลำไว้ที่ใดสักแห่งในเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กรีซ อิตาลี ฝรั่งเศส หรือสเปน”แหล่งข่าวในสภาคองเกรสสหรัฐรายหนึ่งให้ข้อมูลแบบไม่เปิดเผยตัวตน
โดยปกติกองทัพเรือสหรัฐดูแลสามพื้นที่รอบยูเรเชีย ได้แก่ น่านน้ำยุโรปในแอตแลนติกเหนือ และเมดิเตอร์เรเนียน, ทะเลอาหรับตอนเหนือ และแปซิฟิกตะวันตก และมีแนวโน้มจะขยายขอบเขตเมื่อต้องดูแลทะเลอาหรับตอนเหนือ ซึ่งต้องมีการดูแลสูงสุดเนื่องจากระยะทางที่ห่างจากสหรัฐ
ในกรณีนี้คือ ต้องคงเรือบรรทุกเครื่องบินไว้หนึ่งลำเพื่อปฏิบัติการในย่านนี้ ส่วนการดูแลหมายรวมถึงระยะเวลาที่เรือต้องเดินทางมาถึงพื้นที่ การสับเปลี่ยนกำลังพล และความจำเป็นในการบำรุงรักษาเรือ
การจอดเรือบรรทุกเครื่องบินไว้ที่ใดสักแห่งในเมดิเตอร์เรเนียนจะเป็นการง่ายขึ้นสำหรับสหรัฐในการคงเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำไว้ในพื้นที่นี้ พร้อมๆ กับอีกหนึ่งลำในแปซิฟิก
ช่วงต้นทศวรรษ 1970 สหรัฐเคยจอดกองเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งกองไว้ในญี่ปุ่น และอีกหนึ่งกองในกรีซ แต่ยกเลิกในกรีซไปเพราะทหารทำรัฐประหาร
แมคแกรธ กล่าวว่า รัฐบาลไบเดนรับตำแหน่งด้วยการมุ่งมั่นตัดแพลตฟอร์มเก่าๆ ออก เช่น เรือบรรทุกเครื่องบิน และลดการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพเรือสหรัฐทั่วโลก เพื่อมาเน้นที่แปซิฟิกใต้
"แต่โลกจริงตบหน้าพวกเขาอย่างแรง พวกเขาเริ่มตื่นมาเผชิญกับความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรมาทดแทนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ฝูงบิน และเรือรบผิวน้ำคุ้มกันด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลไปได้" แมคแกรธกล่าวก่อนจะสรุปกับนิกเคอิเอเชีย
“ความรับผิดชอบ และความปรารถนาของเราที่ต้องการมีอิทธิพลทั่วโลก เกินกว่าพละกำลังที่เรามีอยู่มาก”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์