ทูตสหรัฐงดร่วมงานรำลึก‘นางาซากิ’ ตอบโต้อิสราเอลไม่ได้รับเชิญ
ทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่นไม่ร่วมงานรำลึก 79 ปี ระเบิดปรมาณูถล่มนางาซากิ ประท้วงที่อิสราเอลไม่ได้รับเชิญ หันไปสวดมนต์ที่วัดในกรุงโตเกียวแทน
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นายราห์ม เอมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศญี่ปุ่น ไม่ร่วมงานรำลึก 79 ปีระเบิดปรมาณูถล่มนางาซากิ แต่ไปร่วมสวดมนต์ที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวแทน พร้อมกับนายจิลาด โคเฮน เอกอัครราชทูตอิสราเอล และนางจูเลีย ลองบอตทอม เอกอัครราชทูตอังกฤษที่คว่ำบาตรงานรำลึกนางาซากิเช่นกัน
นายชิโร ซูซูกิ นายกเทศมนตรีนางาซากิน ยืนยันว่าการไม่เชิญนายโคเฮน มาร่วมงาน “ไม่ใช่เรื่องการเมือง” แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงที่อาจเกิดขึ้นอันมีชนวนเหตุมาจากความขัดแย้งในกาซา และเพื่อสร้างหลักประกันว่าพิธีรำลึก “เป็นอย่างราบรื่นภายใต้บรรยากาศเคร่งขรึม” แต่นายเอมานูเอล อดีตหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างดังกล่าว
“ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัย เนื่องจากนายกรัฐมนตรี (ญี่ปุ่น) ก็ไปร่วมงานนี้” เจ้าตัวกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จพิธีที่วัด และว่า การไม่เชิญทำให้ “เกิดความเท่าเทียมกันในแง่จริยธรรมระหว่างรัสเซียกับอิสราเอล ประเทศหนึ่งที่เป็นผู้รุกรานกับอีกประเทศหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของการรุกราน”
ทั้งนี้ รัสเซีย และพันธมิตรเบลารุสไม่ได้รับเชิญมาร่วมงานรำลึกทั้งที่นางาซากิ และฮิโรชิมาตั้งแต่รัฐบาลมอสโกรุกรานยูเครนในปี 2022
“การเข้าร่วมงานของผมต้องเคารพการตัดสินใจ และการกระทำทางการเมืองนั้น ผมไม่สามารถทำอย่างสบายใจได้” นายเอมานูเอล อธิบาย
ด้านนายโคเฮน ระบุ
“ในนามของรัฐ และประชาชนอิสราเอล เราขอส่งความเห็นใจ และยืนเคียงข้างเหยื่อระเบิดปรมาณูนางาซากิ ครอบครัวของพวกเขา และประชาชนญี่ปุ่นในวันนี้”
ภายในงานนายกเทศมนตรีนางาซากิ ไม่ได้เอ่ยถึงอิสราเอลโดยตรง แต่แสดงความกังวลเกี่ยวกับสันติภาพโลกหลังเกิดความขัดแย้งในยูเครน และกาซา
“เมื่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียยังไม่รู้จะจบที่ใด และเกรงกันว่าความขัดแย้งติดอาวุธในตะวันออกกลางจะบานปลาย ปทัสถานสำคัญที่เคยยึดถืออาจสูญหายไป เรากำลังเผชิญสถานการณ์สำคัญดังกล่าว” นายซูซูกิกล่าว
มีรายงานว่า สหรัฐ อังกฤษ ส่งนักการทูตระดับต่ำกว่าเอกอัครราชทูตเข้าร่วมงานที่นางาซากิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สหภาพยุโรป แคนาดา และออสเตรเลียก็ทำเช่นเดียวกัน
ด้านสถานทูตอังกฤษ และเยอรมนีแสดงท่าทีต่อรัสเซีย และเบลารุสแบบเดียวกับนายเอมานูเอล ขณะที่โฆษกสถานทูตฝรั่งเศสเรียกการตัดสินใจของนายซูซูกิว่า “น่าเสียใจ และเกิดคำถาม”
ขณะที่นายโคเฮน ซึ่งไปร่วมงานรำลึกฮิโรชิมา มาแล้วเมื่อวันอังคาร (6 ส.ค.67) กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การตัดสินใจของนางาซากิ “เป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ถึงโลก”
ที่กรุงวอชิงตัน นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.67) ตามเวลาท้องถิ่น ปกป้องการตัดสินใจของนายเอมานูเอล
“ผมคิดว่าจุดยืนของเราในเรื่องนี้ และความเคารพของเราที่มีต่อญี่ปุ่นในงานรำลึกดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และไปไกลยิ่งกว่าการที่เอกอัครราชทูตไม่ร่วมงานครั้งเดียว” นายมิลเลอร์ กล่าว
นายโยชิมาซา ฮายาชิ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ให้ความเห็น กล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องของผู้จัดงานในนางาซากิ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.1945 สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา คร่าชีวิตประชาชน 140,000 คน ถัดมาสามวัน สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูที่นางาซากิคร่าชีวิตประชาชน 74,000 คนรวมถึงคนที่เสียชีวิตในภายหลัง ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลก ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ส.ค.67
นายจอห์น รูส อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐเป็นตัวแทนสหรัฐคนแรกที่ร่วมงานรำลึกฮิโรชิมาในปี 2010 และงานรำลึกที่นางาซากิในสองปีต่อมา
ตอนที่โอบามา มาเยือนฮิโรชิมาในปี 2016 สหรัฐไม่เคยขอโทษที่ทิ้งระเบิดใส่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์