'จีน' หายเงินฝืด ดัชนี CPI ก.ค.ฟื้นแรงนับตั้งแต่ตรุษจีน
จีนเผยดัชนี CPI เดือนก.ค.ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ก.พ. สื่อชี้อาจเป็นเพราะ 'หมูแพงขึ้น' กว่า 20% ด้านนักวิเคราะห์เชื่อเงินเฟ้อขึ้นระยะสั้น แต่ไม่กระทบการ 'ลดดอกเบี้ย' เชื่อปีนี้จีนจะลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคว่า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของจีนขยายตัวขึ้นเกินคาด 0.5% ในเดือน ก.ค. โดยเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวเพียง 0.2% ในเดือน มิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 0.3%
ซีเอ็นบีซีระบุว่า ดัชนีเงินเฟ้อจีนในครั้งนี้ถือเป็นการปรับตัวขึ้นแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยครั้งใหญ่ในประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นเงินเฟ้อของจีนก็ทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดกระแสความกังวลเรื่องภาวะ "เงินฝืด" ขึ้นในจีน
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุด้วยว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI ครั้งนี้เพิ่มขึ้นมากก็คือ "ราคาเนื้อหมู" ที่แพงขึ้น โดยเนื้อหมูซึ่งถือเป็นเนื้อสัตว์พื้นฐานที่มีการบริโภคสูงที่สุดในจีนนั้น มีราคาปรับตัวสูงขึ้นถึง 20.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565
สำหรับดัชนี CPI เดือนก.ค. ที่ไม่รวมอาหารและพลังงานนั้น ปรับตัวขึ้น 0.4% ลดลงจากที่ขยายตัว 0.6% ในเดือน มิ.ย.
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าประตูโรงงานในเดือนก.ค. ลดลง 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากลดลง 0.8% เช่นกันในเดือนมิ.ย. แต่ลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.9%
"จากสภาพการณ์ตอนนี้ทำให้เชื่อว่าจะเห็นทิศทางเงินเฟ้อเป็นขาขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่คาดว่าจะไม่กระทบต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของจีน" หลิน ซ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของธนาคาร ING กล่าว
ซ่งกล่าวด้วยว่าปัจจัยหลายอย่างภายในประเทศของจีน เช่น เงินเฟ้อที่ต่ำและกิจกรรมการปล่อยสินเชื่อที่อ่อนแรง จะยังคงเอื้อต่อการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในจีนต่อไป และคาดว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะดำเนินการปรับลดอัตราอีก "อย่างน้อย 1 ครั้ง" ในปีนี้ หรืออาจมากกว่านี้หากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของทั่วโลกเร่งตัวขึ้น