คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก

คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก

คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ในวันที่ ‘ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย’ ในระเบียบการเมือง-เศรษฐกิจโลก

หากนับว่าช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 เป็นจุดสิ้นสุดสงครามเย็นและเข้าสู่โลกแห่งโลกาภิวัตน์ภายใต้ระบบการเมืองโลกที่โน้มเอียงไปทางซ้าย-เสรีนิยม และการที่ “มหาอำนาจยักษ์ใหญ่” ของโลกได้โดนัลด์ ทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ในปี 2560 คือช่วงที่ระบบการเมืองโลกเบนเบี่ยงไปในทิศทาง “กึ่งอนุรักษนิยม” มากขึ้น

“สัญญาณ” จำนวนมากเริ่มแสดงไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า ในปี 2567 และ 2568 นี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ภูมิทัศน์การเมืองโลกจะขยับเข้าใกล้ความเป็นฝ่ายขวา-อนุรักษนิยมมากขึ้น

หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึง “สัญญาณ” ความเป็นขวาของระบบการเมืองโลกจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศที่มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มากอันดับต้นๆ ของโลกต่างได้ผู้นำที่มีแนวคิดแบบขวา-อนุรักษนิยมตบเท้าเข้าไปไปบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นประเทศอิตาลีที่ได้ จอร์เจีย เมโลนี ผู้นำพรรคพี่น้องอิตาลี (Fratelli d’Italia) พรรคการเมืองอนุรักษนิยมสุดโต่ง หลังจากเลือกตั้งช่วงกลางปี 2565

ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ได้ เคียร์ต วิลเดอร์ส จากพรรคขวาจัดจาก Freedom Party ซึ่งได้ที่นั่งในรัฐสภาฯ เกือบ 1 ใน 4 จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในช่วงกลางปี 2566

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอาร์เจนตินาในช่วงปลายปี 2566 ที่ได้ฮาเวียร์ มิเล นักเศรษฐศาสตร์วัย 53 จากพรรคขวาจัด ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน เสียงสูงถึง 56%

มหาอำนาจในแห่งโกลบอลเซาท์อย่างประเทศอินเดียที่ได้ผู้นำขวาจัดชาตินิยมอย่าง นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เข้าไปดำรงตำแหน่งอีกสมัยจากการเลือกตั้งช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ส่วนประเทศฝรั่งเศสที่ถึงแม้ว่าสุดท้ายจะได้กลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายที่นำโดยพรรค New Popular Front ซึ่งได้ที่นั่งมากสุดในรัฐสภาฯ ทว่ากระแสการบูมของพรรคขวาจัดอย่าง National Rally ก็แรงถึงขนาดที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ต้องประกาศยุบสภาฯ เพราะหลังการเลือกตั้งในรอบแรกพวกเขาได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1

ท้ายที่สุดการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่จะมาถึงในช่วงเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ก่อนที่โจ ไบเดนจะประกาศถอนตัวและลงชื่อสนับสนุนกมลา แฮริส รองประธานาธิบดีเป็นผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่จะถึง

นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองส่วนหนึ่งก็ประเมินว่ามีโอกาสสูงมากที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยต่อไปซึ่งก็เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าภูมิทัศน์การเมืองโลกเริ่ม “หันขวา” มากขึ้นทุกวัน

ดังนั้น วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงบริบทการเมืองโลกที่กลุ่มการเมืองที่มีทัศนคติแบบขวาเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในเวทีการเมืองระดับประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้น

คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก

 

1. นิยามของขวาและซ้ายในมุมมองของอาจารย์คืออะไร

ขวากับซ้ายคือการ “ปิด” กับ “เปิด”

ภาพรวมของการเป็นซ้ายคือเปิด มีความเป็นเสรีนิยมแฝงอยู่ มีพฤติกรรมพฤตินัยและนิตินัยที่อิงกับการเป็นสังคมที่เปิดทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

สังคมที่เปิดในระดับประเทศคือ “เสรีประชาธิปไตย” ถ้ามีสิทธิเสรีภาพสูงสังคมก็ยิ่งเปิด ยิ่งเสรี ยิ่งซ้าย ส่วนขวาในมุมมองของผมคือค่านิยม มุมมองโลกที่ปิด (ปิดนี่ไม่ได้หมายความว่าปิดประตูตายนะครับ) แต่จะไม่ได้เอียงหรือฝักใฝ่ในทางที่เปิดเพราะคนที่เชื่อในอุดมการณ์แบบนี้จะกังวลเรื่อง ความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยและความมั่นคง

ทั้งความเป็นขวาและซ้ายในสังคมหนึ่งๆ มีพลวัตและวัฏจักรของมันอยู่ อย่างตอนนี้สังคมประชาธิปไตยของโลกกำลังถูกคุกคามจากกระแสของ “เผด็จการนิยม” กระแสปิดพรมแดน สร้างรั้วไม่ให้ใครเข้า อย่างที่ทรัมป์พูดในสหรัฐอเมริกา

ยกตัวอย่างพลวัตของวงจรขวา-ซ้ายที่เล่าไปคือประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว ช่วงกรีก-โรมัน เขาก็มีความเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบที่เราเข้าใจเพราะคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเป็นแค่กลุ่มขุนนางและชนชั้นนำเท่านั้น

การปกครองของกรีกสมัยก่อนก็จะมีเสียงมาจากข้างล่างและตรงกลาง ไม่ใช่แบบเผด็จการ (แต่เป็นเผด็จการก็มี) ดังนั้นในสเปกตรัมหรือในขั้วทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งก็จะเป็นประชาธิปไตยแบบสุดโต่งไปเลย อีกข้างหนึ่งก็จะเป็นเผด็จการนิยมสุดขั้ว แบบอำนาจนิยม คุมอำนาจคนเดียว

ที่เล่ามาทั้งหมดต้องการจะสื่อสารว่า การพัฒนาทางการเมืองมีขึ้นและลงอยู่ในวงจรนี้ ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาสาธารณสุข การพัฒนาเหล่านี้มักจะต่อยอดให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นพัฒนาการทางการเมือง จะเหมือนกับว่า มีขึ้นมีลง บางยุคสมัยเปิดกว้างเป็นประชาธิปไตย สักพักหนึ่งก็ปิดลง เป็นเผด็จการ ไม่ได้เป็นการต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแบบนี้มาเป็นพันปีแล้ว

2. ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นเทรนด์อะไรบ้างที่เป็นแนวโน้ม ‘ขวาพิฆาตซ้าย’

สำหรับบริบทของเวทีต่างประเทศ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเกือบ 80 ปีมาแล้ว ระเบียบการเมืองและสังคมโลกมีทิศทางไปในแนว “เปิด”  โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายฝ่ายตกผลึกว่า สาเหตุที่มีสงครามโลกครั้งนั้น เพราะผลต่อเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และสาเหตุที่มีสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเพราะปรากฎการณ์ การกีดกันทางการค้า การไม่สวมกอด การไม่พึ่งพาพึ่งพิง การบริหารประเทศตามอำเภอใจ แบบเห็นแก่ตัวไม่เน้นความร่วมมือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เห็นได้ว่าเยอรมนีในฐานะผู้แพ้สงครามถูกลงโทษให้ต้องเสียค่าชดเชยจนต้องล้มลุกคลุกคลาน ในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกช่วงนั้นตกต่ำ ฟองสบู่แตก และเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

ทีนี้ในประเทศเยอรมนีก็เป็นปัจจัยให้เกิด “ขบวนการของฮิตเลอร์” ขึ้นมา คือพรรค National Socialism ของฮิตเลอร์ สุดท้ายก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความเหี้ยมโหด โหดร้ายทารุนจากการสู้รบแบบเต็มกำลัง ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์เพราะเพิ่งมามีอาวุธนั้นช่วงใกล้จบสงคราม การรบกันแบบไม่ยับยั้งทำให้มีคนเสียชีวิตมากมาย เกิดภาวะทารุณกรรมกับประชาชน และภาวะยากลำบากไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นนี่เป็นโจทย์สำหรับผู้ชนะ และผมคิดว่าหลังจากนั้นเขาก็ตกผลึกว่าต้องสร้างระเบียบโลกที่อิงกับกระแสเปิดเพื่อที่จะทำให้ประเทศต่างๆ เอื้อต่อกัน ร่วมมือกัน แล้วก็สวมกอดกัน โดยยิ่งทำเช่นนั้นได้มากเท่าไรโลกก็จะมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น และนี่ก็คือที่มาของการก่อร่างสร้างตัวของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกเอื้อต่อกัน ระเบียบโลกใหม่นี้ประกอบด้วย ธนาคารโลก (สมัยก่อนเรียกว่าธนาคารฟื้นฟูและพัฒนา) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) องค์การสหประชาชาติ (UN) แล้วก็แนวร่วมขององค์การสหประชาชาติทั้งปวง

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดก็เป็นการสร้างสถาบันระหว่างประเทศ กฎกติการะหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อการเปิดซึ่งกันและกัน ระเบียบโลกนี้ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นสิบๆ ปี ซึ่งผลงานชิ้นโบแดงคืออียู ที่ถือว่าเป็นการรวมกลุ่มที่บูรณาการทางเศรษฐกิจแบบเต็มรูปแบบ จนกระทั่งนำมาสู่การใช้เงินสกุลเดียวกัน นโยบายการต่างประเทศนโยบายความมั่นคงและธนาคารกลางเดียวกัน และถือว่าเป็นความร่วมมือที่สวมกอดกัน เป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามตำราเลยก็ว่าได้

คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก

ระหว่างการดำเนินไปของระบบที่เปิดมากแบบนี้ มันก็เหมือนกับเป็นสัจธรรมหรือธรรมชาติของสังคม นัยหนึ่งคือมันจะมีกระแสโต้กลับ คือไม่ว่าเราจะทำอะไรมักจะมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีก็คือว่าการสวมกอดหรือการบูรณาการทางเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในยุโรปขยายตัวกว่าครึ่งศตวรรษหลัง 1960

ผลของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคือประเทศที่เคยเป็นประเทศโลกที่สาม ประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งรวมถึงไทย เกาหลีใต้ ใต้หวัง ฮ่องกง สิงคโปร์ แม้กระทั่งญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นภาคีฝ่ายแพ้สงครามก็ได้รับการพัฒนามาในระบบนี้ด้วย เพราะเอื้อต่อการเปิด การค้า การลงทุน การส่งออก การผลิต การบริโภค และยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกระแสโลกาภิวัตน์ ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยีที่รุดหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดจึงทำให้เกิด “ยุคชื่นมื่น” ของทั้งโลก

ถึงแม้ว่าช่วงนั้นจะมีสงครามเย็น มีการต่อกรกันระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา แต่ในที่สุดแล้วสหภาพโซเวียตและเครือข่ายก็สู้ไม่ไหว ล่มสลายไป

ส่วนฝั่งตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำระเบียบโลกแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทว่าอย่างที่บอกไปว่าระบบนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเศรษฐกิจโลกขยายตัวและมีดุลยภาพขณะที่ประเทศที่เคยยากจนและเคยด้อยพัฒนาก็สามารถลืมตาอ้าปากได้

ส่วนข้อเสียคือประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่สองและสร้างระบบนี้ขึ้นมาอย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศตะวันตก เขาก็มีต้นทุนในการรักษาและยืนหยัดกับระเบียบโลกนี้

ทั้งหมดเหมือนกับว่า วันดีคืนดีประเทศยากจน อัตคัด ไม่มีจะกิน กลับผงาดขึ้นมาแล้วค่อยๆ พัฒนามาเทียบเคียงกับประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเทศจีน

หากย้อนกลับไปช่วง 30-40 ปีที่แล้ว ประเทศจีนพบความยากลำบากมา 100กว่าปี เคยเป็นเบี้ยล่าง เป็นกึ่งเมืองขึ้นของประเทศในแถบตะวันตก รวมทั้งในศตรรษที่ 20 ตั้งแต่มีการปฏิวัติภายในและโค่นล้มราชวงศ์ชิง จีนก็ระหกระเหิน มีพวกเจ้าเมือง (Warlords) ยุคของเจ้าพ่อ ยุคของอาชญากรรม

จนกระทั่งมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางสงครามกลางเมืองระหว่าง คอมมิวนิสต์กับกลุ่มเจียงไคเชก หลังจากมีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตุง ประเทศจีนก็อัตคัดแต่ก็พยายามพัฒนาอย่างรวดเร็วทว่าก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไรและยังเป็นสังคมเกษตรกรรมอยู่

แต่วันดีคืนดีประเทศจีนก็อาศัยระบบนี้ ระบบที่ประเทศในแถบตะวันตกตั้งขึ้นมา ที่มี WTO โดยจีนเข้าร่วมWTO และผู้ที่สนับสนุนให้จีนเข้ากลุ่มดังกล่าวคือสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐคิดว่าเขาจะได้ประโยชน์ บริษัทในสหรัฐฯ ต้องการลงทุนในประเทศจีน เพราะมีแรงงานเกือบจะไม่อั้นในสมัยนั้น แล้วประเทศจีนก็เป็นตลาดใหญ่ ลงทุนในประเทศจีนแล้วขายให้แผ่นดินใหญ่เองได้อีก และยังส่งออกไปขายทั่วโลกได้ด้วย

ทั้งหมดก็เป็นที่มาของความไม่พอใจ ของการย้อนศร ของเผด็จการนิยม ของกระแสที่ตีกลับ เพราะระบบนี้ของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศที่เคยยากจนกลายมาเป็นคู่แข่ง มาเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริการวมทั้งประเทศต่างๆ ในแถบตะวันตก 

ทั้งนี้ความไม่พอใจกับระบบที่สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกสร้างขึ้นมามีอยู่สองระดับ ระดับหนึ่งคือคนสร้างระบบนี้จะเอาให้ทุกอย่างดำเนินไปแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว เปิดเสรีแล้วให้พวกจีน พวกเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลางหรือลาตินอเมริกา สามารถลืมตาอ้าปาก แล้วผงาดขึ้นมาท้าทายความเจริญมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกไม่ได้อีกแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกกำลังย่ำแย่ มีหนี้ท่วมหัว ชักหน้าไม่ถึงหลัง เก็บภาษีไม่พอใช้จ่าย ประชากรบางกลุ่มในประเทศก็ยังยากจน รัฐบาลไปสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาก็เป็นหนี้เพิ่มขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลในการค้ำจุนระบบนี้ ระบบที่พวกเขาสร้างขึ้นมา

ดังนั้นถึงจุดหนึ่งจึงมีกระแสที่ว่า ไม่ได้แล้ว ซึ่งยุทธศาสตร์ตีกลับของสหรัฐอเมริกาในลักษณะนี้มีมาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ผมยังเรียนหนังสืออยู่สหรัฐฯ ผมจำได้ว่า ในปี ค.ศ. 1988 มีคนที่พูดคล้ายๆ ทรัมป์ เขาคือ “แพท บูแคนัน” (อดีตผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน) จะว่าไปแล้วก็ถือว่าเป็นพี่เลี้ยงและผู้เบิกทางของทรัมป์ เพราะกระแสของ America First ผมได้ยินครั้งแรกประมาณค.ศ. 1987-1988 หรือเกือบจะ 40 ปีแล้ว

นอกจากนี้กลุ่มคนบางกลุ่มในสหรัฐฯ ก็ไม่เห็นด้วยกับระเบียบโลกแบบเปิดเสรี เพราะทำให้สหรัฐฯ ย่ำแย่ พวกเขามองว่ารัฐบาลจะทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องมาดูแลตัวเองก่อน ต้องเรียกร้อง ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ขึ้นมา อเมริกาต้องไม่เป็นเบี้ยล่างประเทศอื่นอีกต่อไป แต่สายนี้ มีมานานแล้ว แต่มันเป็นกลุ่มเล็กๆ ทว่าเวลาผ่านไปหลายสิบปีกว่ากระแสลักษณะนี้กลายเป็นกระแสหลักที่อยู่ใต้ปีกของทรัมป์ แล้วก็ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไปแล้ววาระหนึ่งและก็อาจจะชนะอีกรอบหนึ่ง

กระแสนี้ในอเมริกา เรียกว่าเป็นขวาก็ได้ มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมที่ไม่ศรัทธาระเบียบโลกแนวเปิดเสรีนิยมอีกต่อไป ความเชื่อแบบนี้คือต้องการเข้มงวดมากขึ้นกับการเป็นประเทศที่เปิด จะเปิดก็ต่อเมื่อมีประโยชน์ต่ออเมริกาโดยตรง ยกตัวอย่างเช่นถ้าเกิดมีใครที่เป็นอัจฉริยะ เก่งเรื่องการเขียนโปรแกรม เรื่องเทคโนโลยี หรือร่ำรวยมหาศาล ต้องการจะไปอยู่อเมริกา อันนี้เขาให้เข้า แต่ถ้ามีแต่แรงงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีความรู้ ต้องการจะหนีเข้ามาหางานทำ มาแสวงโชค เขาต้องการจะปิดไม่ให้คนพวกนี้เข้า

ซึ่งกระแสในลักษณะนี้ก็ลามไปที่ยุโรป ทั้งยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ เนเธอแลนด์ เบลเยียม ฮังการี อิตาลี กรีก โปแลนด์ โรมาเนีย ทั่วไปหมดเลย

จะมียกเว้นก็เป็นกลุ่มสแกนดิเนเวียร์ แต่จริงๆ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียร์ อย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน เขายังเป็นสังคมเสรีนิยมแนวเปิดอยู่ แต่ก็มีทางเลือกแบบขวาจัดที่ต้องการปิดไม่ให้คนเข้าเมืองเหมือนกัน แต่พวกนั้นยังเข็นไม่ค่อยขึ้น แต่ถ้าในเยอรมนีทุกครั้งที่เลือกตั้ง กลุ่มขวาเหล่านี้ก็ได้คะแนนเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นกระแสนี้มันลามอยู่ทั่วแล้ว

3. แล้วจุดเวลาไหนของประวัติศาสตร์ที่อาจารย์มองว่าโลกเริ่มเข้าสู่วงจรแบบ ‘ปิด’ มากขึ้น

จังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ จุดที่หักเห จุดที่เรียกว่าระเบียบโลกแบบเสรีนิยมถูกตีกลับแบบจังๆ ผมคิดว่ามันคือการ “ผงาดขึ้นมาของจีน” จริงๆ แล้วเขาก็ค่อยๆ ผงาดขึ้นมาแหละครับ หลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิงพยายามเปิดประเทศ แต่จังหวะที่จีนก้าวขึ้นมาแบบเต็มรูปแบบคือการขึ้นสู่อำนาจของสี จิ้นผิง

ถ้าให้ผมปักหมุด ต้องชี้ไปว่าจังหวะไหนที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อผมคิดว่าเป็นจุดที่สี จิ้นผิง ขึ้นสู่อำนาจ ตอนนั้นประเทศจีนเริ่มพร้อม ตั้งแต่ที่เขาจัดงานโอลิมปิก ค.ศ. 2008 แล้วจัดได้อย่างอลังการ ทั่วโลกก็เริ่มคิดแล้วว่าจีนจากประเทศที่เคยยากจนทำได้ขนาดนี้ แล้วพอ สี จิ้นผิง ขึ้นมาในช่วง ค.ศ. 2012-2013 เขาก็ประกาศโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทั้งทางทะเลและบนบก ซึ่งก็เป็นการประกาศศักดา ประกาศเจตนารมณ์ ประกาศยุทธศาสตร์ของประเทศจีนที่ว่าต้องการจะฟื้นความยิ่งใหญ่ที่เคยมีมาก่อน

ผมเคยเขียนงานมาก่อนว่าที่ประเทศจีนเป็นอยู่ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยเป็นนะ เขาเคยมีความยิ่งใหญ่แบบนี้มาก่อนเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว แต่มันหายไปนาน ในช่วงที่หายไปประเทศจีนย่ำแย่ มีสงครามภายใน สงครามกลางเมือง ต่อสู้กันเองในประเทศ แล้วก็โดนจักรวรรดินิยมภายนอกมาคุกคามและยึดไปด้วย แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นการกลับมาของจีน

แล้วดูหมือนว่า จีนจะมีความกร่าง เหิมเกริมมากขึ้น ที่จะแสดงบทบาท แสดงจุดยืนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ เป็นจังหวะที่ประเทศจีนไปยึด เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough shoal) ในทะเลจีนใต้ เอาพวกก้อนหินในทะเลมาทำเป็นเกาะเทียม แล้วเอาอาวุธไปติดตั้ง ประกอบกับมีเรื่องกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ เวียดนามในทะเลจีนใต้ แล้วก็กับประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของหลายประเทศ ซึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดผมคิดว่า มันนำไปสู่การเผชิญหน้าของอภิมหาอำนาจยุคใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งสมัยก่อนเป็นสหภาพโซเวียตกับสหรัฐ 

  คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก

5. หากวัฏจักรการเป็นขวาและซ้ายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วเมื่อไรหรือเหตุการณ์ไหนจะทำให้ระเบียบโลกที่เอนเอียงไปทางปิดมากกว่าเปิดเหมือนตอนนี้จะหมดไป

ขอย้ำว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องขาวดำ ต้องระวัง มันไม่ใช่โลกปิด แต่มันเปิดน้อยลง มันไม่ใช่เปิดสุดโต่ง ปิดสุดโต่ง อย่างตอนนี้ก็มีคำว่า Decoupling - Derisking  หรือพูดง่ายๆ ก็คือระบบแบบเดิมที่จีนกับสหรัฐฯ เชื่อมต่อกัน สวมกอด เดี๋ยวนี้แยกกันมากขึ้น แต่แยกยังไงแล้วมันก็ยังมีความเชื่อมโยงอยู่

ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ก็จะโป่งขึ้น โป่งขึ้นหมายความว่าต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น ถ้าเราจะใช้ภาพมาเปรียบเทียบอาจจะเป็นแบบตุ้มยกน้ำหนัก ตรงที่จับจะเป็นแกนกลาง เป็นท่อที่มันเชื่อมกัน แต่มันไปโป่งอยู่ที่ลูกน้ำหนัก เหมือนกับว่าจีนกับสหรัฐฯ หนักอยู่ข้างๆ  แล้วความเชื่อมโยงตรงที่จับมันลดลง ขณะที่สมัยก่อนความสัมพันธ์จีนและสหรัฐเป็นก้อนหนึ่งเดียวกันเลย เชื่อมโยงหมดเลย บูรณาการเต็มตัว ดังนั้นว่าไปแล้ว โลกาภิวัตน์มีอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้หายไป แต่มีความแบ่งแยก แตกแยก และแบ่งขั้วมากขึ้น

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ถ้าเราจะใช้เทคโนโลยีของประเทศจีนไม่ว่าจะเป็น Huawei ระบบอินเทอร์เน็ตแบบ 5G หรือแอปพลิเคชันจาก Alibaba แอปพลิเคชัน WeChat มันจะใช้ร่วมกันกับระบบของอเมริกายากขึ้นเรื่อย ๆ

กระแสการแยกกันในลักษณะนี้กระทบเรา (ประเทศไทย) โดยตรงเพราะว่า กระบวนการผลิต บริโภค การค้า ลงทุนของเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนมาก เพราะประเทศมหาอำนาจจำนวนมากให้ความสำคัญกับประเด็น “Economic Security” (ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ) มากกว่าประเด็นอื่น

ส่วนตัวผมกลับคิดว่า ตัวขับเคลื่อนสงครามเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จริงๆ คือ ภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) หรือการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ต่อกร ปีนเกลียว เผชิญหน้า ขัดแย้งกันในเวทีเศรษฐกิจโลก

สำหรับประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลี เขาก็หนาวกันหมด เพราะกระแส  MAGA (Make America Great Again)  แรงมาก ถึงแม้ทรัมป์จะไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่การที่อเมริกาจะมีนโยบายที่รัฐเข้ามาเกื้อหนุน ชี้นำอุตสาหกรรม นำพาเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่รัฐเข้ามาแทรกแซง กระแสนี้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

เพราะมันมีความตกผลึกในสังคมอเมริกาแล้วว่าเขาต้องดูแลตัวเอง เปิดเสรีเท่าที่ตัวเองได้ประโยชน์ ในขณะที่สมัยก่อนอเมริกาค้ำจุนระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลกเอาไว้ เมื่อย่ำแย่ เจ็บแค้น ขาดทุน อเมริกาก็รู้สึกว่าต้องเอาคืน ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจโลกป่วน ในขณะที่ประเทศจีนผงาดมาเทียบเคียง แล้วประเทศจีนก็เอารัดเอาเปรียบหลายประเทศจริง เช่นการ คัดลอกเทคโนโลยีและนำไปต่อยอด

ท้ายที่สุดวงจรที่เราคุยกันมันก็จะทำให้ยุคอำนาจนิยมเข้าสู่ยุคขาขึ้น และระเบียบโลกแบบนี้ก็จะทำให้แต่ละประเทศไม่ชื่นมื่นเหมือนแต่ก่อน มีลักษณะตัวใครตัวมันมากขึ้น ต่อไปอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและลงไม้ลงมือกันตรงๆ

  คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก

6. แล้วเหตุการณ์อะไรจะเป็นจุดทริกเกอร์สำคัญที่จะทำให้ความตึงเครียดครั้งนี้จบลง

เวลาเรามองอะไรกว้างๆ เรามองยาวๆ เราต้องมองยาวจริงๆ คือมันไม่ใช่แค่ 2-3 ปี แต่ถ้าเรามองยาวๆ เป็น 100 ปี อย่างระเบียบโลกแบบปัจจุบันก็อยู่มากว่า 80 ปี และกระบวนการของการสั่นคลอนเกิดขึ้นมาช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นมันคงจะไม่เกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะเป็น 5-10 ปีหรือยาวกว่านั้น

เราเป็นชาวพุทธก็จะมองในลักษณะที่ปลงได้ดีกว่าคนอื่น เหมือนกับที่ว่า ระบบอะไรก็ตามเมื่อมันชื่นมื่นไปได้ดี สุดท้ายสักวันหนึ่งมันจะก่อปัญหาในตัวมันเอง เหมือนกับระเบียบโลกปัจจุบันที่ทำให้ประเทศยากจนอยู่ดีกินดีขึ้นมาเทียบเคียงกับประเทศที่ก่อตั้งระเบียบดังกล่าว หรือในชีวิตเรา เรามีครอบครัว พ่อแม่ถ้าเลี้ยงลูกดีๆ สักวันลูกก็จะเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งวันนั้นเขาก็จะไม่ต้องมาเชื่อฟังพ่อแม่แล้ว มันก็เป็นสัจธรรม หรือเหมือนกับการที่เราเล่นไพ่แล้วเป็นหนี้เยอะๆ ต่างคนต่างสร้างหนี้ สักวันหนึ่งต้องมีการล้างหนี้

ล้างหนี้หมายถึงการล้างไพ่แล้วก็แจกใหม่ อันนี้ก็เป็นวงจรแบบหนึ่ง ใช้เวลาหลาย 10 ปี หรือเป็น100 ปี ปัจจุบันเป็นเพียงการสะสมความตึงเครียด บวกกับปัจจัยต่างๆ และสภาพแวดล้อมก็ไม่สู้ดีและอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า

จะเห็นอย่างชัดเจนว่าช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมากระแสมันมาทางนี้ คือการเผชิญหน้าระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐ การแข่งขัน การไม่ยอมกัน การขัดแย้งกัน การทำสงครามเชิงเทคโนโลยี สักวันหนึ่งก็เป็นได้ว่าอาจจะซัดกันสักรอบเพื่อเคลียร์ หลังจากนั้นก็จะเป็นการเคลียร์ความตึงเครียด

ยกตัวอย่างเช่น รัสเซียกับยูเครน เขาก็มีเรื่องระหองระแหงกันมา พวกนาโต้ พวกยุโรป จะขยายสมาชิกประเทศไปทางรัสเซียมากขึ้น เขาก็ไม่ยอม รัสเซียก็มายึดไครเมียร์ เมื่อ 10-11 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่พอเพราะฝั่งตะวันตกเหมือนจะรุกคืบ กระชับดินแดนต่อเนื่อง สุดท้ายรัสเซียก็เลยบุกยึดยูเครน

ถึงวันหนึ่ง เมื่อซัดกันไปสักพักหนึ่ง เขาก็จะบอกว่า โอเคต่างฝ่ายต่างก็พอละ ทีนี้คำว่าพออาจจะหมายถึง รัสเซียชนะแล้วพอก็ได้ หรือว่ายูเครนอาจจะป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แล้วรัสเซียเหนื่อยจนบอกพอก็ได้ ก็จะเป็นตอนนั้นนั่นแหละครับที่ทั้งสองประเทศรบกันเสร็จแล้ว มาแจกไพ่กันใหม่ แต่การแจกไพ่กันใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะกลับไปเป็นเสรีนิยมนะ มันอาจจะเป็นอำนาจนิยม หรือไม่เปิดเลยก็ได้ หรืออาจจะนำไปสู่การซัดกัน ขัดแย้งกันต่อเนื่อง ทั้งหมดมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

คุยกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ วันที่ ขวา (เริ่ม) พิฆาตซ้าย ในระเบียบการเมือง-ศก.โลก  

7. แล้วอาเซียน-ไทย ควรวางตัวอย่างไรในระเบียบโลกที่มีความไม่แน่นอนแบบนี้

ตอนนี้อาเซียนและไทยมีความขัดแย้งหลายเรื่องทั้งประเทศจีน-สหรัฐฯ ทะเลจีนไต้ เมียนมา รัสเซียยูเครน และการสู้รบของกลุ่มฮามาส-อิสราเอล โดยอาเซียนแตกเสียงแทบทุกเรื่องใหญ่ๆ ในเศรษฐกิจและการเมืองโลก

ดังนั้นถ้าถามว่าประเทศไทยควรวางตัวยังไง ผมคิดว่า ต้องเหยียบเรือหลายแคม คือเราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ก็ต้องรักษาไว้ มีความใกล้ชิดกับประเทศจีนก็ต้องรักษาไว้ มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจต่างๆ ก็ต้องรักษาไว้ และไม่ใช่รักษาอย่างเดียว ต้องใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ มาเป็นอำนาจต่อรองด้วย

แต่สำหรับประเทศไทย ผมเป็นห่วงเรื่องการเมืองต่างประเทศน้อยกว่าการเมืองภายในประเทศ เพราะถ้าภายในประเทศมีความเป็นเอกภาพ ตกผลึกพอ เศรษฐกิจ การต่างประเทศมันจะพุ่งและเดินหน้าได้เลย แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเกิดจากการเมืองภายในประเทศ

ส่วนอาเซียนนั้นแตกแยกแต่ไม่ล่มสลาย ไม่หายไปไหน ยังอยู่ แต่ความเป็นแกนกลางในภูมิภาค (ASEAN Centrality) จะลดลง มีบทบาทน้อยลงเพราะโดนด้อยค่าเรื่อง “ความไร้น้ำยา” ดังนั้นประเทศไทยต้องตระหนักให้ดีว่าขาหนึ่งเราก็ต้องพึ่งอาเซียน แต่ระดับการพึ่งพาอาจน้อยลง ดังนั้นเราต้องพึ่งที่อื่น แล้วก็พยายามพึ่งตัวเองให้มากสุดเท่าที่ทำได้