‘ธุรกิจเมียนมา’ แห่บุก ‘ตลาดไทย’ เจาะกลุ่มผู้อพยพ หนีวิกฤติในบ้าน

‘ธุรกิจเมียนมา’ แห่บุก ‘ตลาดไทย’ เจาะกลุ่มผู้อพยพ หนีวิกฤติในบ้าน

ธุรกิจเมียนมาแห่บุกตลาดไทยมากขึ้น หนีวิกฤติและความขัดแย้งในบ้านเกิด หวังเติบโตในตลาดที่เอื้ออำนวยมากกว่า ทั้งยังมีดีมานด์จากชาวเมียนมาที่อพยพและมาทำงานในไทยเพิ่มมากขึ้น

หลังจากกองทัพเมียนมาขึ้นมามีอำนาจในปี 2564 ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเกิดความขัดแย้งภายในยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน มีการสู้รบระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่ม ประชาชนเมียนมาบางส่วนต้องอพยพและลี้ภัยออกจากประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องขยายธุรกิจไปต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ธุรกิจเมียนมาเข้ามาเปิดร้านค้าและร้านอาหารในไทยมากขึ้น หวังตอบสนองความต้องการผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ และการบังคับเกณฑ์ทหารในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวหลายรายที่ใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจเมียนมา เผยว่า ธุรกิจเมียนมาหลายสิบแห่งเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามากขึ้น

เจ้าของธุรกิจร้านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์สัญชาติเมียนมา ที่ย้ายมาเปิดธุรกิจในกรุงเทพมหานคร กล่าวกับนิกเกอิเอเชียโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า

“สถานการณ์ในเมียนมาทำให้ดำเนินธุรกิจได้ยากลำบาก เพราะเงินเฟ้อและมาตรการทางการเงินที่ไม่แน่นอน แต่ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่มั่นคงกว่า และมีตลาดที่เติบโต รองรับผลิตภัณฑ์และบริการของตนได้”

เนื่องจากประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีชายแดนติดกับเมียนมา ไทยจึงเป็นตลาดทางเลือกสำหรับนักธุรกิจจากประเทศที่ต้องการเปลี่ยนฐานที่ตั้งและขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่

เมียนมาจ่อขยายธุรกิจในไทยเพิ่ม

เชอร์รี โอ (Cherry Oo) ธุรกิจค้าปลีกนาฬิกาในเมียนมาอายุเกือบ 40 ปี เข้ามาเปิดร้านในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว  (4 ส.ค.) นอกเหนือจากร้านค้า 38 สาขาในเมียนมา

ขณะที่เชนร้านอาหารดั้งเดิมชื่อดังของเมียนมาอย่าง “กายกายจ่อ” (Khaing Khaing Kyaw) ก็เข้ามาขยายธุรกิจในไทยเช่นกัน โดยกายกายจ่อเพิ่งเปิดร้านอาหารสาขาที่ 2 ในไทยเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่วนสาขาแรกเปิดในไทยเมื่อเดือน พ.ย. 2566 ขณะที่ธุรกิจมีสาขาในประเทศบ้านเกิดมากว่า 10 แห่ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

จ่อ ชเว” ผู้จัดการร้านอาหารดังกล่าว เผยว่า การตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นในกทม. มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าชาวเมียนมาให้ได้มากขึ้น และยอดขายทั้งสองสาขาดีมาก 

ชเวเสริมอีกว่า ธุรกิจมีแผนขยายสาขาไปยังเมืองชายหาดอย่าง “พัทยา” และจังหวัดทางภาคเหนือของไทยอย่าง “เชียงใหม่” ต่อไป

ดีมานด์เมียนมาในไทยสูง

ด้านซู นักวิจัยชาวเมียนมาจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ บอกว่า การขยายธุรกิจเมียนมาในไทย ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของสินทรัพย์ทางการเงินของตนเอง

“มันไม่ได้เกี่ยวกับผลกำไร แต่เป็นเรื่องของการสร้างรากฐานที่มั่นคง และการย้ายสินทรัพย์ไปยังที่ที่ปลอดภัย” 

นอกจากนี้ ซูพบด้วยว่า ธุรกิจเมียนมาในไทยมีความต้องการจากลูกค้าชาวเมียนมาเพิ่มขึ้นด้วย

แม้ไม่มีข้อมูลตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า ชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในไทยกี่คน แต่รายงานโครงการพัฒนาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือนพ.ย.ปีก่อน ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้อพยพชาวเมียนมาทั่วไปอาศัยอยู่ราว 1.9 ล้านคน ณ เดือน เม.ย. 2566

รายงานดังกล่าวคาดการณ์ด้วยว่า ประเทศไทยมีผู้อพยพชาวเมียนมาทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเข้ามาอาศัยหลังจากกองทัพเมียนมาขึ้นมามีอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2564 ราว 5 ล้านคนแล้ว

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายเกณฑ์ทหารที่มีขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวชาวเมียนมาออกจากประเทศ ทั้งยังหนุนให้ชุมชนและฐานลูกค้าชาวเมียนมาในไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจในเมียนมาอยู่ยาก

การเข้ามาขยายธุรกิจในไทยของเมียนมา ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ย่ำแย่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการตรวจสอบบรรดาเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารและนายธนาคารเข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ขณะที่เงินจ๊าดอ่อนค่า ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพึ่งสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนตามตลาดลดลงสู่ระดับ 5,500 จ๊าดต่อดอลลาร์ จากระดับ 3,300 จ๊าดต่อดอลลาร์ในปีก่อน และทำให้ค่าครองชีพและต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นด้วย

เซิน ไต” นักเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (พรรคเอ็นแอลดี) ของอองซาน ซูจี ที่ถูกยึดอำนาจจากกองทัพเมียนมา บอกว่า การผลิตภายในประเทศกำลังลดลง เพราะต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น และเครือข่ายกระจายสินค้ามีความล่าช้า

นอกจากนี้ เซิน ไต มองว่า เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างมาก และกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มลดลง โดยเฉพาะหลังสงครามกลางเมืองที่รุนแรงมากขึ้นในปีก่อน

ขณะที่รายงานล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิ.ย. คาดว่า อัตราความยากจนของประชาชนเมียนมาปี 2566 อาจพุ่ง 32.1% เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากระดับ 17.4% ในปี 2563 หนึ่งปีก่อนที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากพรรคเอ็นแอลดี

ดังนั้น ปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ การลดลงของกำลังซื้อในบ้าน ฐานลูกค้าเมียนมาที่เพิ่มขึ้นในไทย และการตั้งความหวังที่จะย้ายสินทรัพย์ไปยังที่ที่ปลอดภัยนั้น ส่งผลให้ธุรกิจเมียนมามีแนวโน้มขยายกิจการมายังประเทศไทยมากขึ้น และผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ธุรกิจเหล่านี้อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยซ้ำ

อาจารย์ศิรดา เขมานิฏฐาไท จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า การเติบโตของบรรดาร้านอาหาร และร้านค้าเมียนมา อาจสร้างผลประโยชน์ให้กับห่วงโซ่อุปทานไทย และเพิ่มรายได้ทางภาษีให้กับรัฐบาล

“ในมุมมองของประชาชนคนไทยทั่วไป ดิฉันเชื่อว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคมไทย เพราะพวกเขาต้องบริหารภายใต้กฎหมายและมาตรการของไทยอยู่แล้ว” อ.ศิรดาย้ำ

 

อ้างอิง: Nikkei Asia