เปิดเคสมิจฉาชีพใช้ ‘AI’ สร้างตัวตนเสมือนจริง หลอกผ่านแชตและวิดีโอคอล

เปิดเคสมิจฉาชีพใช้ ‘AI’ สร้างตัวตนเสมือนจริง หลอกผ่านแชตและวิดีโอคอล

เทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง ‘AI’ กำลังฉายด้านมืดออกมา ดาบสองคมที่ทำให้การหลอกลวงทางการเงินเป็นเรื่องง่าย ผู้คนกำลังสูญเสียเงิน ‘นับพันล้าน’ จากการถูกหลอกลวงโดย AI ซึ่งเลียนแบบบุคคลอื่นในแชตและวิดีโอคอลได้อย่างสมจริง

KEY

POINTS

  • ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คดีหลอกลวงทางไซเบอร์ในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการสูญเสียเงินกว่า 2.66 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
  • เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า Generative AI ทำให้การสร้างลิงก์ฟิชชิง การเข้าถึงหรือขโมยข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการหลอกลวงเพิ่มขึ้นตาม
  • พนักงานคนหนึ่งถูกชักจูงให้โอนเงินหลังจากประชุมทางวิดีโอ จนสูญเสียเงินเกือบ 900 ล้านบาท โดยต่อมา พนักงานคนนั้นพบว่า ตัวเองเป็น “มนุษย์คนเดียวที่แท้จริง” ในการประชุม

ท่ามกลาง “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” (AI) ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทุ่นแรงมนุษย์และทำให้ชีวิตราบรื่นขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ เทคโนโลยีนี้กำลังทำให้มิจฉาชีพทางไซเบอร์ร้ายกาจยิ่งกว่าเดิม เพราะ AI ช่วยให้ปลอมแปลงตัวตนบุคคลได้อย่างแนบเนียนราวกับของจริง ผ่านการเรียนรู้พฤติกรรมเป้าหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนยากที่จะแยกแยะความจริงจากความเท็จ

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือ แต่ก่อนเรากังวลถึง “ภาพ” ตัดต่อ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้ก้าวกระโดดไปอีกขั้น เมื่อ “วิดีโอ” ที่เราเห็นก็สามารถถูกตัดต่อได้อย่างแนบเนียนเสมือนจริง

การสนทนาทางวิดีโอกลายเป็นเรื่องที่ต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะบุคคลที่ปรากฏบนหน้าจออาจไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นเพียงภาพลวงตาที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยี Deepfake ซึ่งเลียนแบบบุคคลอื่นได้คล้ายตัวจริง

ศูนย์กลางการเงิน กำลังเผชิญภัยจากด้านมืด AI

ตัวอย่างประเทศศูนย์กลางการเงินเอเชีย และเจริญทางเทคโนโลยีอย่าง “ฮ่องกง” กำลังเผชิญภัยคุกคามนี้ โดยหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้รายงานถึงเคสหนึ่งที่น่าสนใจว่า เช้าวันเสาร์ที่เงียบสงบของกลางเดือนกรกฎาคม แองเจลีน เหลียน (Angeline Lian) ได้รับข้อความ WhatsApp จากเจ้าของบ้านเกี่ยวกับข้อเสนอต่อสัญญาเช่าที่ดูดีเกินจริงจนยากจะปฏิเสธ นั่นคือ สามารถประหยัดเงินได้ 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หากเธอจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับหนึ่งปีข้างหน้า

เธอในวัย 25 ปี ชาวเซี่ยงไฮ้ซึ่งทำงานในฮ่องกงมาหนึ่งปีหลังจบปริญญาโท คิดว่านี่น่าจะเป็นเรื่องปกติในเมืองนี้ ดังนั้นเหลียนจึงโอนเงิน 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งเป็นเงินออมทั้งหมดของเธอ เป็นเงินครึ่งแรกสำหรับการชำระเข้าบัญชีตามสัญญาเช่าฉบับใหม่

ต่อมา เพื่อน ๆ ของเธอติดต่อมาทาง WeChat เพื่อสอบถามเกี่ยวกับข้อความแปลก ๆ ที่พวกเขาได้รับจากเธอทาง WhatsApp จากนั้นเธอได้พบว่า ทั้งเจ้าของบ้านและเพื่อนของเธอถูกบล็อกในแอปฯยอดนิยมของ Meta เป็นระยะเวลาที่ไม่สามารถระบุได้ กลโกงนี้เกิดจากลิงก์ฟิชชิงที่หลอกล่อให้เธอยืนยันบัญชี WhatsApp เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปิดใช้งานภายใน 24 ชั่วโมง

การหลอกลวงออนไลน์พุ่งขึ้นไม่หยุด

ตามข้อมูลจากสำนักงานตำรวจฮ่องกง กรณีของเหลียนไม่ใช่เรื่องแปลกในฮ่องกง ในปี 2023 เมืองนี้มีการยื่นแจ้งความเกี่ยวกับ “การถูกหลอกลวง” ที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 39,000 รายกับตำรวจ โดยเพียงปีเดียว เกิดการสูญเสียเงินประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการสูญเสียเงิน 4.8 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงของคดีหลอกลวง 27,923 คดีในปี 2022 

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คดีหลอกลวงเพิ่มขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการสูญเสียเงิน 2.66 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

การหลอกลวงทางไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทางการฮ่องกงพยายามอย่างต่อเนื่องในการควบคุม แต่เทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะ Generative AI ได้ช่วยให้การหลอกลวงออนไลน์น่าเชื่อถือมากขึ้น

เหลียนซึ่งโพสต์ประสบการณ์การถูกหลอกลวงของเธอบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนอย่าง Xiaohongshu เล่าว่า ข้อความ WhatsApp ที่เธอได้รับ ดูเหมือนมาจากเจ้าของบ้านของเธออย่างแท้จริง ครบถ้วนด้วยประวัติข้อความก่อนหน้านี้ เห็นได้ว่า Generative AI ช่วยให้ผู้หลอกลวงเลียนแบบลักษณะ และรูปแบบการพูดของผู้อื่นได้เสมือนจริง

“เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า Generative AI ทำให้การสร้างลิงก์ฟิชชิง การเข้าถึงหรือขโมยข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการหลอกลวงเพิ่มขึ้นตาม” โฮ หลิง (Ho Ling) พาร์ทเนอร์ของสำนักงานกฎหมาย Clifford Chance กล่าว

เพื่อนที่ประชุมทางวิดีโอ อาจไม่ใช่คนจริง?

หนึ่งในภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดในยุคดิจิทัลนี้ คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยี “Deepfake” ที่อาศัยพลังของปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างสรรค์ภาพ วิดีโอ และเสียงปลอมคล้ายบุคคลจริง

Arup บริษัทออกแบบและวิศวกรรมข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน สูญเสียเงิน 200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือเกือบ 900 ล้านบาท จากการถูกหลอกลวงด้วย Deepfake ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อพนักงานคนหนึ่งถูกชักจูงให้โอนเงินหลังจากเข้าร่วมการประชุมทางวิดีโอกับคนที่เขาเชื่อว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท รวมถึงประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ต่อมาพนักงานคนนั้นพบว่า ตัวเองเป็น “มนุษย์คนเดียวที่แท้จริง” ในการประชุม

“ขณะนี้ Deepfake กำลังแพร่หลายมากขึ้น โดยสร้างความเสี่ยงต่อตัวตนบุคคลอย่างมาก” แมทธิว ชาน (Matthew Chan) ผู้อำนวยการของ Trend Micro ฮ่องกง บริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สัญชาติอเมริกัน-ญี่ปุ่น ซึ่งผลิตซอฟต์แวร์ตรวจจับ Deepfake กล่าว

ชานเสริมต่อว่า “วิดีโอ Deepfake สามารถสร้างได้ด้วยแอปฯและทรัพยากร AI ที่สามารถใช้งานได้ฟรี เปิดโอกาสให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด”

เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แยกแยะระหว่าง “คนจริง” กับ “คนปลอม” ในการประชุมทางวิดีโอ Trend Micro ได้เปิดตัว “Deepfake Inspector” ให้กับสาธารณชนฟรี เครื่องมือนี้ดูค่าความเข้มพิกเซล (Pixel Values) และความถี่เชิงพื้นที่ (Spatial Frequency) เพื่อพยายามตรวจจับว่ามีการปรับแต่งภาพที่ละเอียดอ่อนซึ่งอาจไม่เห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าหรือไม่ อีกทั้งยังวิเคราะห์องค์ประกอบของพฤติกรรมผู้ใช้ด้วย ชานกล่าวว่ามีความแม่นยำถึง 94 เปอร์เซ็นต์

การขโมยหลักฐานยืนยันตัวตนบนอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการปลอมแปลงตัวตนที่พบได้บ่อยกว่า คือ การขโมยสิ่งที่เรียกว่า “Machine Identities” ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์หรืออัลกอริทึมที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวตนของบุคคลบนอินเทอร์เน็ต เช่น คุกกี้การล็อกอินแบบถาวรที่ทำให้บุคคลยังคงล็อกอินอยู่ในบริการต่าง ๆ เช่น Google หรือ Facebook หลังจากปิดเบราว์เซอร์ โดยช่วยทำให้เราไม่ต้องคีย์รหัสเข้าใหม่อีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ การใช้ตัวตนเพียงแบบเดียวในการล็อกอิน จึงมีความเสี่ยงสูงมาก หากแฮกเกอร์สามารถเจาะระบบตัวตนนั้นได้ เขาจะได้รับสิทธิเข้าถึงทุกอย่าง

เปิดเคสมิจฉาชีพใช้ ‘AI’ สร้างตัวตนเสมือนจริง หลอกผ่านแชตและวิดีโอคอล - (เครดิต: Shutterstock) -

“ผมอยากให้ทุกธุรกิจตระหนักว่าเหตุการณ์หลอกลวงทางไซเบอร์เหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก” เดฟ รัสเซล (Dave Russell) รองประธานฝ่ายกลยุทธ์องค์กรของ Veeam บริษัทซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลและการกู้คืนข้อมูลกล่าว “ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ ขนาดของบริษัท หรือปัจจัยอื่นใด สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับธนาคาร ลูกค้า หรือแม้แต่พนักงานภายในองค์กรก็ได้”

สำหรับเหลียน เธอแจ้งความกับตำรวจแล้ว แต่ยังคงตามเงินคืนไม่ได้ โดยในบรรดาความคิดเห็นมากกว่า 250 รายการในโพสต์ Xiaohongshu ของเธอ มีคำแนะนำมากมายสำหรับเครื่องมืออย่าง Whoscall แอปพลิเคชันของไต้หวัน ที่กรองหมายเลขโทรศัพท์สแปม คนอื่น ๆ แนะนำให้เธอลองโทรไปที่สายด่วนต่อต้านการฉ้อโกงของตำรวจฮ่องกง ที่หมายเลข 18222

จะเห็นได้ว่า แม้เทคโนโลยี AI กำลังปฏิวัติโลกให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้น แต่ในอีกด้านก็ทำให้มิจฉาชีพใช้ปลอมแปลงบุคคลเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและคล้ายตัวจริง จนเป็นภัยที่น่ากลัวและทำให้การแยกแยะความจริงจากความเท็จเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น

อ้างอิง: scmptrendtech