“กมลามาแรง เดโมแครตจะล้มทรัมป์ได้จริงหรือ?”
แฮร์ริสได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น มีคนบริจาคเงินและอาสาสมัครช่วยหาเสียงเป็นจำนวนมาก นับยอด 10 วันแรกมีเงินบริจาครวมมากกว่า 310 ล้านเหรียญ และมีผู้ขออาสาช่วยหาเสียงแล้วกว่า 200,000 คน
กระแสความนิยมของทีมเดโมแครตโดย Kamala Harris รองประธานาธิบดีสหรัฐฯซึ่งท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และ Tim Walz ผู้ว่าการรัฐมินิโซต้าซึ่งร่วมท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี กำลังพุ่งแรงตีตื้นขึ้นมาอย่างน่าตกใจ สำนักโพลส่วนใหญ่ในสหรัฐฯเริ่มแสดงถึงโอกาสสูงที่ทรัมป์จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
ขณะนี้โดยเฉลี่ยแล้วเดโมแครตนำรีพับริกันอยู่ประมาณ 1% ซึ่งสูสีกันและดูเหมือนจะนำเพียงเล็กน้อย แต่นี่เป็นโมเมนตัมที่น่าสนใจ เนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทรัมป์มีคะแนนนำไบเดนประมาณ 6% ซึ่งหมายถึงทรัมป์จะชนะขาดและกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองแน่นอน
เพราะฉะนั้นการพลิกสถานการณ์จากเป็นรองมาเป็นต่อ +7% ของ “ทีมกมลา” นั้นอาจเป็นการเขียนประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกาก็ว่าได้
ผู้สนใจการเมืองของสหรัฐฯในไทยหลายคนยังไม่เชื่อว่าทรัมป์จะแพ้ในครั้งนี้ เนื่องจากตลอดทั้งปีมา เมื่อเทียบกันสองคนระหว่างทรัมป์ที่อายุ 78 ปีซึ่งพูดจาฉะฉานก้าวร้าวไม่กลัวใคร เปรียบเทียบกับไบเดนที่อายุ 81 ปีซึ่งมีความเฉลียวฉลาดลุ่มลึกแต่เรื่อมเสื่อมและช้าลงมาก มองจากหลายแง่มุมใครๆก็คิดว่าทรัมป์มาแน่
การพลิกผันเกิดขึ้นหลังจากการโต้วาทีระหว่างทรัมป์กับไบเดนในวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งผลออกมาทำให้ทีมไบเดนผิดหวังและเริ่มรู้ตัวว่ามีความกดดันภายในพรรคให้เปลี่ยนตัวผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพิ่มขึ้นทุกวัน
ยิ่งเหตุการณ์ใหญ่ในเดือนกรกฎาคมซึ่งทรัมป์รอดจากการลอบสังหารทำให้กลายเป็นฮีโร่ และการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันซึ่งเสนอตัวรองประธานาธิบดี J.D. Vance วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอหนุ่มไฟแรงอายุ 39 ปีทำให้ความมั่นใจของฝ่ายรีพับลิกันพุ่งสูงสุด
21 กรกฎาคมเป็นวันที่ทิศทางเปลี่ยน เมื่อไบเดนตัดสินใจมอบให้แฮร์ริสมาทำหน้าที่เป็นผู้ท้าชิงแทนตน สมการการเมืองถูกเขย่าทันที เนื่องจากคนใหม่ กมลา แฮร์ริส นำพลังงานสดชื่นด้วยวัย 59 ปีมาทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับทรัมป์ซึ่งอายุ 78 ปี แถมแฮร์ริสยังตัดสินใจยอดเยี่ยมโดยคัดเลือกเอาผู้ว่าฯ Walz ซึ่งมีนิสัยเข้ากับคนง่าย เคยเป็นครูสอนในโรงเรียนมัธยมในอเมริกาและในจีน เคยเป็นทหาร เป็นผู้แทนราษฎรหกสมัย และเป็นผู้ว่าการรัฐที่ประชาชนชื่นชอบเป็นสมัยที่สอง นิสัยใจคอของแฮร์ริสกับวอลส์เข้ากันได้ดีมาก มีความร่าเริงและมองโลกในแง่ดี ออกหาเสียงพูดถึงอนาคตที่เข้มแข็งของอเมริกา ซึ่งทำให้ประชาชนออกมาแสดงความสนับสนุนอย่างล้นหลาม แต่ละแห่งมีการชุมนุมฟังการปราศรัยมากกว่า 15,000 คน
เงินเป็นเรื่องใหญ่ การหาเสียงต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งประเมินว่าหากใครต้องการชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯจะต้องมี การเรี่ยรายเงินบริจาคให้ได้กว่า 1,500 ล้านดอลลาร์
แฮร์ริสได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น มีคนบริจาคเงินและอาสาสมัครช่วยหาเสียงเป็นจำนวนมาก นับยอด 10 วันแรกมีเงินบริจาครวมมากกว่า 310 ล้านเหรียญ และมีผู้ขออาสาช่วยหาเสียงแล้วกว่า 200,000 คน
คะแนนเสียงที่สำคัญมากของสหรัฐฯมักจะอยู่ที่สตรี เนื่องจากจำนวนประชากรและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในสหรัฐเป็นหญิงมากกว่าชาย ทีมแฮร์ริสชนะใจสตรีส่วนใหญ่เรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในการตัดสินใจเรื่องสุขภาพของตนเอง เช่น การตั้งครรภ์และการทำแท้ง ขณะที่นโยบายของทรัมป์ออกไปเชิงอนุรักษ์นิยมให้ภาครัฐและศาสนามีบทบาทในการตัดสินใจและควบคุมในเรื่องนี้
เศรษฐกิจของสหรัฐเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียง ทรัมป์เลือกโจมตีทำเนียบขาวของไบเดนและผูกโยงให้แฮร์ริสอยู่ในความรับผิดชอบด้วย ว่าเป็นผู้บริหารล้มเหลว ทำให้เงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง และอเมริกาตกต่ำมากกว่าสมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก
แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถจะโน้มน้าวชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มเข้าที่ โดยล่าสุดอยู่ที่ 2.9% และอัตราการจ้างงานต่ำมากเป็นประวัติศาสตร์อยู่ในระหว่างใกล้เคียง 4% มาเป็นเวลานาน ส่วนดัชนีหุ้นก็พุ่งแรงขึ้นแทบทุกตลาดและมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยจะลดลงตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนในการทำธุรกิจและดอกเบี้ยอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น
นโยบายหลายอย่างของไบเดนเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันมาก ตัวอย่างคือการใช้งบประมาณเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อโดยการทุ่มลงทุนโครงการใหญ่ทั่วประเทศ เช่น การซ่อมบำรุงถนนหนทางและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งการลงทุนเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น เซมิคอนดั้กตอร์ และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า เป็นต้น
จะมีการโต้วาทีหลายครั้ง จากวันนี้ไปถึงวันเลือกตั้ง ทั้งระดับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี การหาเสียงจะเข้มข้นขึ้นทุกวันและกลยุทธ์ต่างๆก็จะถูกนำมาใช้เพื่อโจมตีฝั่งตรงข้ามและเรียกร้องเสียงสนับสนุนให้ฝั่งตนเอง การเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้เดิมพันสูงมาก ความแตกแยกด้านอุดมการณ์ถึงขั้นที่น่าเป็นห่วง โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการปลุกปั่นกระแสแห่งความเกลียดชัง และการบริโภคข่าวสารอยู่ในวงจำกัดในกลุ่มและในเรื่องที่ตนเองมีความเชื่อถือหรือหมกมุ่นอยู่แล้ว
ผมจะติดตามสถานการณ์เลือกตั้งในสหรัฐและนำมาเสนอเป็นระยะต่อไป เนื่องจากความสนใจของชาวไทยสูงมาก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยจากสหรัฐนั้นเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้
ย้อนกลับมามองที่บ้านเรา ความสนใจของต่างประเทศอยู่ที่เสถียรภาพการเมืองของไทย ซึ่งมีข่าวใหญ่เกิดขึ้นจากการยุบพรรคการเมืองยอดนิยมและการแทรกแซงโดยเปิดเผยของคณะทูตทางตะวันตก รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ติดตามด้วยเรื่องตุลาการธิปไตยวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลใหม่
หวังอย่างยิ่งว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเป็นไปได้ด้วยความสงบและรวดเร็ว มีการประนีประนอมในระดับรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ของกลุ่มตน
ส่งกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีสามารถรับมือได้กับ 6 ระเบิดเวลาเศรษฐกิจที่กำลังรออยู่ คือ เศรษฐกิจชะลอตัว หนี้สูงทั้งครัวเรือน เอกชน รัฐบาล ส่งออกเริ่มติดลบ ราคาพลังงาน ค่าแรง ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำต้นทุนธุรกิจเพิ่ม พร้อมเร่งแก้ปัญหาสินค้าจีนตีตลาด ครับ