'ญี่ปุ่น' ส่ง 15 บริษัทลุยลงทุนอาเซียน สร้างห่วงโซ่อุปทาน - ต้านอิทธิพลจีน

'ญี่ปุ่น' ส่ง 15 บริษัทลุยลงทุนอาเซียน สร้างห่วงโซ่อุปทาน - ต้านอิทธิพลจีน

สื่อชี้รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมอัดงบก้อนใหญ่หนุน 15 บริษัท สร้างห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มประเทศอาเซียน 'ไทย' ได้ลงทุนอีวีจากค่ายอีซูซุ มอเตอร์ส ส่วนเซมิคอนดักเตอร์ไปฟิลิปปินส์ - เวียดนาม พลังงานไปอินโดนีเซีย

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่ามีบริษัทญี่ปุ่น 15 แห่ง ที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการออกไปสร้างซัพพลายเชนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระจายการลงทุน Global South ที่มีมูลค่า 1.4 แสนล้านเยน (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท)  

รายงานข่าวคาดการณ์ว่ากระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น จะประกาศโครงการลงทุนนำร่อง 13 โครงการ รวมมูลค่า 3.5 หมื่นล้านเยน (ราว 8,250 ล้านบาท) ที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐในเร็วๆ นี้ 

โครงการดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี และการลงทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจญี่ปุ่นในอาเซียน รวมถึงเพื่อต้านทานอิทธิพลของ "จีน" ขณะที่เงินสนับสนุนจะมาจากงบประมาณ 1.4 แสนล้านเยน ในโครงการลงทุน Global South ที่ประกาศไปตั้งแต่ปีที่แล้ว 

รายงานระบุว่า "เซมิคอนดักเตอร์" จะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโปรเจกต์นี้ โดยรัฐบาลโตเกียวมีแผนจะสนับสนุนบริษัท Mitsumi Electric สร้างไลน์การผลิตบริษัทบรรจุภัณฑ์ชิปในฟิลิปปินส์ โดยที่ยังสามารถทำกระบวนการ front-end และ back-end ได้ทั้งในญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ จะสนับสนุนบริษัท Tokuyama ซึ่งเป็นผู้นำด้านโพลีคริสตัลไลน์ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ในการสร้างโรงงานที่เวียดนามด้วย 

ส่วนประเทศไทย จะได้การลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ โดยบริษัท Isuzu Motors และบริษัทเทรดดิ้ง Mitsubishi Corp. จะลงทุนโครงการรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่าย รวมถึงลงทุนด้านสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถอีวีในประเทศไทย โดยเป็นการช่วยสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งจีนกำลังขยายส่วนแบ่งตลาดรถยนต์อีวีอย่างรวดเร็ว  

ขณะที่บริษัท Sojitz และบริษัท Green Power Development จะได้รับเงินอุดหนุนสำหรับโครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในอาเซียนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงาน SAF ให้เป็น 10% จากเชื้อเพลิงอากาศยานทั้งหมดภายในปี 2573  

ส่วนในภาคพลังงานนั้นรัฐบาลจะสนับสนุนโครงการของบริษัท Toyo Engineering และบริษัทเทรดดิ้ง Itochu ในการใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวสำหรับโรงงานผลิตแอมโมเนียในประเทศอินโดนีเซีย 

ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมีฐานที่แข็งแกร่งในอาเซียนอยู่แล้ว แต่บรรดาผู้เล่นหน้าใหม่จากจีน เช่น BYD กำลังขยับขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และจีนยังเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมห่วงโซ่อุปทานแร่นิกเกิลส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับอาเซียนโดยมีสัดส่วนการค้าเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 7.3% ในปี 2546 ขึ้นไปเป็น 19.7% ในปี 2566 สวนทางกับญี่ปุ่นที่ "ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง" จาก 13.6% เหลือเพียง 6.7% ในรอบ 20 ปีมานี้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องร่วมมือกับอาเซียนเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ต้องพึ่งพาจีน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคนี้ด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์