‘สินสอดในจีน’ พุ่งเฉียด 7 แสนบาท ราคาความรักที่อาจจ่ายไม่ไหว
7 แสนบาท! ราคาความรักที่สูงเกินจริงจนน่าตกใจ ‘สินสอด’ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีนกำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการแต่งงานของคนรุ่นใหม่
ประเพณีการมอบสินสอดทองหมั้น เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับคู่บ่าวสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนเงินสินสอดพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า “สินสอด” ที่ผู้ชายชาวจีนต้องจ่ายให้ครอบครัวเจ้าสาวในตอนแต่งงาน “เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก” มักจะเกิน 140,000 หยวน หรือเฉียด 7 แสนบาท ซึ่งอาจทำให้จำนวนการแต่งงานของคนรุ่นใหม่จีนยิ่งลดลงไปอีก
เมื่อดูการจดทะเบียนสมรสในจีนตามข้อมูลจากกระทรวงกิจการพลเรือน ปรากฏว่าในช่วงไตรมาสสอง ลดลง 18% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จนเหลือ 1.46 ล้านคู่ ตัวเลขนี้เป็นอันดับสองที่ต่ำสุดในประวัติการณ์ รองจาก 1.39 ล้านคู่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2022 ระหว่างการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ “สินสอดที่สูง” อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชาวจีนลังเลที่จะแต่งงาน โดยตามการศึกษาของศาสตราจารย์กง เว่ยกัง (Gong Weigang) แห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นระบุว่า การจ่ายสินสอดเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 140,000 หยวน หรือเฉียด 7 แสนบาท ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ถึง 20,000 หยวนจนถึงปี 2007 แต่เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2008 เป็นต้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น ค่าครองชีพ ของครอบครัวชนบทก็เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านในเมือง ซึ่งในบางครั้งซื้อเพื่อให้ลูกเรียนในโรงเรียนเมือง นั่นทำให้สินสอดในการแต่งงานแพงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ สินสอดที่เพิ่มขึ้นยังมาจากความต้องการลูกชายมากกว่าลูกสาวในจีน จนทำให้เกิดความไม่สมดุลทางเพศ เพศหญิงเป็นที่ขาดแคลน
สำหรับจำนวนสินสอดนั้นแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นในภาคตะวันออกของจีน โดยเฉพาะในพื้นที่นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฟูเจี้ยนและเจียงซี พื้นที่เหล่านี้มีค่าครองชีพสูงและประสบปัญหาความไม่สมดุลทางเพศมานานแล้ว
- ราคาสินสอดในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (เครดิต: Shutterstock) -
ตลาดนัดหาคู่ในจีน
ในสังคมจีน การมีคู่ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อายุเข้าสู่วัย 25 ปีขึ้นไป สังเกตได้จากปรากฏการณ์ตลาดนัดหาคู่ที่เกิดขึ้นในสวนสาธารณะใจกลางเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และคุนหมิง โดยพ่อแม่จะนำป้ายขนาดใหญ่มาติดรูปและรายละเอียดของลูก ๆ เช่น อายุ ส่วนสูง ภูมิหลังทางการศึกษา บุคลิกภาพ อาชีพ และคุณสมบัติที่ต้องการในคู่ครอง โดยป้ายเหล่านี้จะถูกจัดเรียงเป็นระเบียบตามหมวดหมู่ เช่น จบการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ
ที่สวนเทียนเหอในเมืองกวางโจวทางตอนใต้ของจีน มีผู้เข้าร่วมงานตลาดแต่งงานมากกว่า 100 คน
“ถ้าลูกชายของฉันรักคู่ของเขามากจริง ๆ ฉันจะยอมจ่ายสินสอดแพง” แม่ของชายวัย 40 กล่าว
ขณะเดียวกัน ชายวัย 30 ที่เข้าร่วมงานกับเพื่อน เพื่อหาคู่ครองกล่าวว่า “ผมรู้สึกว่ากำลังถูกกดดันให้ซื้อบ้านให้คู่ชีวิตแล้ว ถ้าสินสอดแพงเกินไป ผมจะไม่เลือกแต่งงาน”
กระแสปฏิรูปสินสอด
ในสังคมจีนมีการถกเถียงเรื่องสินสอดว่าควรอยู่ในระดับที่เท่าไร หรือควรถูกยกเลิกหรือไม่ เพราะสินสอดที่สูงในปัจจุบัน ทำให้หนุ่มสาวจีนแต่งงานช้าจนกลายเป็นปัญหาประชากรเกิดใหม่น้อยลง แล้วจะหาใครมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน อาสาสมัครในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ได้เยี่ยมบ้านของชายหญิงโสด เพื่อเรียกร้องให้พวกเขาหยุดการให้สินสอดราคาแพง เป็นความพยายามในการส่งเสริมประเพณีการแต่งงานแบบ “สมัยใหม่” ตามรายงานของสื่อจีน
ในเดือนธันวาคม ศาลประชาชนสูงสุดของจีนประกาศคำแปลความทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อพิพาทสินสอด หากคู่รักอยู่ร่วมกันเพียงระยะเวลาสั้น ๆ หลังแต่งงาน ศาลอาจสนับสนุนการคืนสินสอดที่สูงเกินไป แต่หากคู่รักอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานและมีบุตร ศาลโดยทั่วไปจะไม่สนับสนุนการคืนเงิน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลได้ชี้แจงสิ่งที่ถือว่าเป็นสินสอดและหลักการในการคืนสินสอด ตัวอย่างเช่น ของขวัญวันเกิดและค่าใช้จ่ายรายวัน ไม่ได้รวมอยู่ในสินสอด
ศาลยังกล่าวอีกว่า พ่อแม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมเกี่ยวกับสินสอดได้ เนื่องจากพ่อแม่มักเกี่ยวข้องในการจัดการแต่งงานของลูก เช่น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างตลาดการแต่งงานในเมืองกวางโจว
อ้างอิง: nikkei