‘จีน’ แบนอาหารทะเลญี่ปุ่นต่อเนื่อง หันพึ่ง ‘ตลาดอเมริกาใต้’
จีนแบนนำเข้าอาหารญี่ปุ่นต่อเนื่อง หลังญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียฟุกุชิมะ หันพึ่งตลาดอเมริกาใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ แทน ขณะที่ญี่ปุ่นต้องหาลูกค้าใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐ
เป็นเวลา 1 แล้วนับตั้งแต่จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และจีนเลือกเติมเต็มช่องว่างนี้ด้วยการหันไปซื้อสินค้าจากอเมริกาใต้ เอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ แทน
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียอ้างอิงศุลกากรจีนรายงานว่า ยอดนำเข้าอาหารทะเลโดยรวมของจีนตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 จนถึงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ลดลงราว 10% ในรูปของดอลลาร์เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการนำเข้าหอย รวมถึงหอยเชลล์ลดลง 11% ส่วนปลาสดลดลง 4% ขณะที่
ก่อนมีการปล่อยน้ำเสีย จีนนำเข้าหอยเชลล์และอาหารทะเลอื่น ๆ จากญี่ปุ่นจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่านำเข้าราว 290 ล้านดอลลาร์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566
ในทางตรงข้าม จีนได้นำเข้าอาหารทะเลจากประเทศอื่น ๆ เพื่อชดเชยยอดนำเข้าจากญี่ปุ่นที่ลดลง โดยตั้งแต่เดือน ก.ย. - ก.ค. ปีนี้ อินโดนีเซียส่งออกหอยไปยังจีนเพิ่มขึ้น 42% นำเข้าจากสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นประมาณ 150% และนำเข้าจากอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า
โทรุ นิชิฮามะ หัวหน้าเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Dai-ichi Life ของญี่ปุ่นบอกว่า การนำเข้าอาหารทะเลจากอเมริกาใต้เพิ่มขึ้น และนำเข้าจากสหรัฐลดลงนั้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน
ญี่ปุ่นเจรจาหนุนอาหารทะเลต่อเนื่อง
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามคลี่คลายสถานการณ์การค้าอาหารทะเลกับจีนให้ดีขึ้น โดยโยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ขอให้ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนยกเลิกมาตรการแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น
แม้การหารือดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่มีวี่แววว่าจีนจะเปลี่ยนแปลงนโยบายแต่อย่างใด
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เผยว่า มาตรการป้องกันที่จีนและประเทศอื่น ๆ ดำเนินการ เป็นการตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น เพื่อปกป้องความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพของประชาชน และย้ำว่ามาตรการเหล่านั้นเป็นไปตามกฎหมาย สมเหตุสมผล และมีความจำเป็น
ญี่ปุ่นรุกตลาดสหรัฐ-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธุรกิจอาหารทะเลญี่ปุ่นพยายามหาผู้ซื้อจากประเทศอื่น ๆ เพื่อชดเชยยอดขายจากจีนที่ลดลง โดยบริษัทใน จ.ฮอกไกโด แหล่งผลิตหอยเชลล์ที่ครองสัดส่วน 90% ของญี่ปุ่น ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพิ่มขึ้น
ตามข้อมูลของศุลกากรฮอกไกโด ระบุ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. การส่งออกหอยเชลล์ไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 3,600 ล้านเยน และส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นราว 10 เท่า สู่ระดับ 3,100 ล้านเยน อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วยอดส่งออกหอยเชลล์ของญี่ปุ่นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 37% สู่ระดับ 24,000 ล้านเยน และสหรัฐกลายเป็นผู้ซื้อหอยจากญี่ปุ่นรายใหญ่
ขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลบางแห่งในฮอกไกโด เริ่มเปลี่ยนมาผลิตหอยเชลล์มากขึ้น จากเดิมที่ผลิตอาหารทะเลชนิดอื่นๆ ที่สามารถจับมาได้ปริมาณน้อย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Maruden มีแผนนำตู้แช่แข็งใหม่เข้ามาใช้งานในฤดูใบไม้ผลิหน้า เพื่อส่งออกสินค้าไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่น ๆ เนื่องจากบริษัทสามารถจัดหาซัพพลายได้และพบว่ามีความต้องการในตลาด
อ้างอิง: Nikkei Asia