ศูนย์ผู้นำเอเชีย-ออสเตรเลีย 'ความหลากหลายคือสินทรัพย์' l World Pulse

ศูนย์ผู้นำเอเชีย-ออสเตรเลีย 'ความหลากหลายคือสินทรัพย์' l World Pulse

การที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของความหลากหลายในสังคมอเมริกัน แต่แท้จริงแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศที่ส่งเสริมประชากรผู้มีภูมิหลังชาติพันธ์ุแตกต่าง และมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ประจักษ์พยานสำคัญคือปากคำของ “เพนนี หว่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย เธอผู้นี้ไม่ค่อยพูดเรื่องส่วนตัว แต่วันก่อนในงานเปิดตัวศูนย์ผู้นำเอเชีย-ออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา หว่องเล่าถึงการเป็นรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกไว้อย่างน่าสนใจ

หว่องเกิดที่โกตาคินาบาลู เมืองเอกของรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย แล้วย้ายมาอยู่เมืองแอดิเลด รัฐเซาท์ออสเตรเลียในปี 1976 ขณะอายุได้แปดขวบ  ซึ่งชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียโดยเฉพาะคนรุ่นเดียวกับเธอคุ้นเคยกับเรื่องเล่าที่ว่า ผู้อพยพเป็นภาระ เป็นอันตราย คุณพ่อชาวมาเลเซียกับคุณแม่ชาวออสเตรเลีย ย้ายมาอยู่ที่นี่ในช่วงที่ออสเตรเลียยังยึดนโยบาย “ออสเตรเลียคือคนขาว” (White Australia Policy) ต่อมาในทศวรรษ 1980 มีเสียงเรียกร้องให้ลดจำนวนผู้อพยพชาวเอเชียลงด้วยซ้ำไป

ตอนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคแรงงานครั้งแรกในปี 2001 เกือบทั้งสภามีแต่คนขาว ทำให้เธอรู้สึกเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง คนเอเชียคนอื่นๆ ที่เห็นในรัฐสภามีแต่พนักงานทำความสะอาด และผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานในห้องสมุด หลายครั้งเธอจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า “เลือกถูกหรือเปล่า”

ถึงวันนี้หว่องเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเชื้อสายเอเชียคนแรกของออสเตรเลีย ตลอดเวลาของการดำรงตำแหน่งเธอได้บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างให้ออสเตรเลียและโลกฟัง กล่าวคือโลกนี้กว้างใหญ่ ซับซ้อน และเชื่อมต่อถึงกัน การสร้างประโยชน์ให้ประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้แค่มีปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงทุนสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งโดยตรงทั้งในภูมิภาคเดียวกันและที่ไกลออกไป ข้อได้เปรียบใหญ่สุดของออสเตรเลียคือการเป็นในสิ่งที่ตนเองเป็น

แล้วออสเตรเลียเป็นอย่างไร ในทัศนะของรมว.ต่างประเทศ “ออสเตรเลียเป็นชาติพหุวัฒนธรรมอันทันสมัย เป็นแหล่งอารยธรรมสืบเนื่องยาวนานที่สุดของโลก บรรพบุรุษกว่า 300 เผ่าพันธุ์สะท้อนอยู่ในทุกมุมของประเทศ ชาวออสเตรเลียครึ่งหนึ่งเกิดในต่างประเทศ หรือไม่ก็มีพ่อแม่เกิดในต่างประเทศ รวมทั้งตัวดิฉันและคนอื่นๆ อีกมากมาย” 

รัฐมนตรีหว่องยืนยันด้วยข้อมูลตัวเลข ปัจจุบันชาวออสเตรเลีย 1.1 ล้านคนมีบรรพบุรุษมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1.4 ล้านคนมีบรรพบุรุษมาจากเอเชียใต้ และ 1.6 ล้านคนมีบรรพบุรุษมาจากเอเชียเหนือ

“ดิฉันไปมาหลายประเทศ และไม่คิดว่าจะมีประเทศอื่นใดใช้ความสามารถที่มีมาโดยธรรมชาติแสวงหาจุดร่วมกับผู้คนจากทั่วโลกได้แบบนี้ ความท้าทายอยู่ที่ว่าเราจะนำความสามารถนี้มาเป็นหัวใจในการปฏิสัมพันธ์กับโลกได้อย่างไร” รมว.หว่องกล่าวและว่า นี่ไม่ใช่แนวคิดสุดโต่งหรือแนวคิดใหม่แต่อย่างใด ประชากรผู้มีบรรพบุรุษมาจากต่างถิ่นช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ของออสเตรเลียกับนานาประเทศ แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น นี่คือทรัพย์สินของชาติเลยทีเดียว

ได้ฟังถ้อยแถลงจาก รมว.ต่างประเทศออสเตรเลียแล้วหลายคนคงจำได้ว่า เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำออสเตรเลีย-อาเซียนสมัยพิเศษ ที่นครเมลเบิร์น ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนได้ประกาศยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2040  ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนส่งเสริมการค้าการลงทุนให้เติบโตขึ้น และกระตุ้นการลงทุนของนักธุรกิจชาวออสเตรเลียให้ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทย การเปิดศูนย์ผู้นำเอเชีย-ออสเตรเลียถือเป็นอีกหนึ่งเวทีให้กับผู้นำจากหลากหลายเชื้อชาติ จึงน่าสนใจว่าออสเตรเลียจะใช้ประโยชน์จากประชากรกลุ่มนี้ขยายความสัมพันธ์มาสู่เพื่อนบ้านในเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะอาเซียนอย่างไรต่อไป