ญี่ปุ่นมีคน 'เสียชีวิตโดดเดี่ยวในบ้าน' เกือบ 4 หมื่นรายในปีนี้
แค่ครึ่งปีแรก ญี่ปุ่นมีคนที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านพุ่งเกือบ 4 หมื่นคนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนแก่อายุ 65 ปีขึ้นไป ไร้ลูกหลานข้างกาย ไม่มีคนช่วยดูแล
สำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างการเปิดเผยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นว่า มี ผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านตัวเอง มากถึงเกือบ 4 หมื่นรายใน ญี่ปุ่น ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
รายงานระบุว่าระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ปีนี้ มีผู้เสียชีวิตคนเดียวภายในบ้านถึง 37,227 ราย ในจำนวนนี้มากกว่า 70% เป็นผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยมีรายละเอียดตามช่วงวัย ดังนี้
- อายุ 85 ปีขึ้นไป จำนวน 7,498 ราย
- อายุระหว่าง 75-79 ปี จำนวน 5,920 ราย
- อายุระหว่าง 70-74 ปี จำนวน 5,635 ราย
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แม้ผู้เสียชีวิตที่บ้านราว 40% จะถูกพบภายในเวลาเพียง 1 วัน แต่ก็มีอีกถึงเกือบ 4,000 ราย (3,939) ที่ถูกพบหลังเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และมีอีก 130 ราย ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตหลังผ่านไปแล้วอย่างน้อย 1 ปี
รายงานดังกล่าวยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น และสำนักงานตำรวจฯ คาดหวังว่ารายงานนี้จะช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับปัญหาประชากรสูงอายุจำนวนมากขึ้นที่ใช้ชีวิตและเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในประเทศ
ตามรายงานของ NHK ตำรวจจะส่งมอบรายงานดังกล่าวให้หน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่ไม่ได้รับการดูแล ต่อไป
ทั้งนี้เมื่อช่วงต้นปี สถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า คาดว่าผู้สูงอายุในวัย 65 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่คนเดียว จะมีจำนวนสูงถึง 10.8 ล้านคน ภายในปี 2050
ขณะที่ครัวเรือนขนาด 1 คน หรือคนที่ใช้ชีวิตลำพังตัวคนเดียว จะมีจำนวนพุ่งขึ้นแตะ 23.3 ล้านคนในปีเดียวกัน
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลโตเกียวได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา "ความเหงาและความโดดเดี่ยว" ของคนในประเทศที่กินเวลามายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงอายุ
ญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหาประชากรสูงอายุและประชากรเกิดใหม่ลดลงมาอย่างยาวนาน แต่การเปลี่ยนแปลงนี้กำลังกลายเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่จะจัดการแก้ปัญหาได้
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่า
ประเทศญี่ปุ่นกำลังใกล้เข้าสู่ภาวะที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะสังคมได้ตามปกติ เนื่องจากอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งในเอเชียตะวันออกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรที่คล้ายคลึงกัน โดยในปี 2022 ประชากรของ "จีน" ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1961 ขณะที่ "เกาหลีใต้" รายงาน อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่า