'โรงฮิงญา' หนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ อพยพไปบังกลาเทศอีกราว 8,000 ราย

'โรงฮิงญา' หนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ อพยพไปบังกลาเทศอีกราว 8,000 ราย

โรฮิงญาอพยพไปยังบังกลาเทศประมาณ 8,000 คนในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เพื่อหลบหนีจากความรุนแรงที่ดุเดือดมากขึ้นในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา

ทางการบังกลาเทศ รายงานว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาอพยพไปยังบังกลาเทศประมาณ 8,000 คนในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เพื่อหลบหนีจากความรุนแรงที่ดุเดือดมากขึ้นในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา

ความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา และกองทัพอาระกัน (Arakan Army) กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มาจากชาวพุทธกลุ่มใหญ่ เกิดขึ้นต่อเนื่องและเลวร้ายลงเรื่อยๆ

โมฮัมหมัด ชัมซุด ดูซา เจ้าหน้าที่อาวุโสจากรัฐบาลบังกลาเทศที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเผยว่า ทางการได้ข้อมูลมาว่ามีชาวโรฮิงญาข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังบังกลาเทศราว 8,000 คน ส่วนใหญ่ข้ามมาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

“ตอนนี้บังกลาเทศมีภาระมากเกินไป และไม่สามารถรับชาวโรฮิงญาได้อีกต่อไป” ดูซา เผยกับรอยเตอร์ส

ด้านโมฮัมหมัด ตูฮิด ฮอสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศบังคลาเทศโดยพฤตินัย เผยกับผู้สื่อข่าววานนี้ (3 ก.ย.)ว่า รัฐบาลจะหารืออย่างจริงจังกับคณะรัฐมนตรีภายใน 2-3 วันข้างหน้า เพื่อแก้ไขวิกฤติผู้อพยพ และย้ำว่า ประเทศไม่มีศักยภาพในการจัดหาที่พักพิงให้ผู้ลี้ภัยได้อีกต่อไป และแม้ไม่สามารถปิดแนวพรมแดนได้ทั้งหมด แต่จะพยายามควบคุมการอพยพที่เข้ามาเพิ่ม

เมื่อเดือนก่อนฮอสเซน เผยกับรอยเตอร์สว่า บังกลาเทศไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้อีกแล้ว และเรียกร้องให้อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ออกมาดำเนินการมากขึ้น และขอให้หน่วยงานระหว่างประเทศ เพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพอาระกันให้ยุติโจมตีชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

รอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานับหมื่นคนในบังกลาเทศออกมาชุมนุมในค่ายต่าง ๆ ในวันครบรอบ 7 ปีที่กองทัพปราบปรามพวกเขาจนต้องลี้ภัยออกจากเมียนมา และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและขอให้ได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดอย่างปลอดภัย

อนึ่ง ชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคนในปัจจุบันอาศัยอยู่ในค่ายแสนแออัดทางตอนใต้ของบังกลาเทศ พร้อมกับความหวังริบหรี่ที่จะได้กลับเมียนมา ประเทศที่พวกเขาถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองและการได้สิทธิขั้นพื้นฐาน