มหากาพย์ ‘เจ้าแม่อสังหาฯ’ เวียดนาม ขึ้นศาลรอบ 2 คดีโกงพันล้าน

มหากาพย์ ‘เจ้าแม่อสังหาฯ’ เวียดนาม ขึ้นศาลรอบ 2 คดีโกงพันล้าน

เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์เวียดนาม ซึ่งเพิ่งถูกศาลตัดสินประหารชีวิตต้นปี ล่าสุดศาลสั่งไต่สวนเพิ่มอีกหนึ่งเดือน เริ่มวันที่ 19 ก.ย.นี้ ในข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน และค้าเงินระหว่างประเทศผิดกฎหมาย

เรื่องราวการดำเนินคดีทางกฎหมายเหมือนไม่สิ้นสุดง่ายๆ สำหรับ เจือง มาย หลั่น (Truong My Lan) เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ชาวเวียดนาม ที่ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในคดีฉ้อโกงเป็นเงิน 27,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหลั่นและผู้ต้องหาที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิด 33 คน จะต้องขึ้นศาลเป็นครั้งที่สอง ในข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงินในเดือนนี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า หลั่น ประธานบริหารพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของ Van Thinh Phat Group ถูกตัดสิน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์จากธนาคารไซ่งอน คอมเมอร์เชียล แบงก์ (SCB) ต่อเนื่องนานนานกว่าทศวรรษ ถือเป็นคดีทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศเวียดนาม

สื่อท้องถิ่นเวียดนามรายงานเมื่อเย็นวันศุกร์ (6 ก.ย.) ว่า ศาลนครโฮจิมินห์ได้ตั้งข้อหาหลั่น และผู้สมรู้ร่วมคิดว่า มีฐานความผิดคดีฉ้อโกง ฟอกเงิน และค้าเงินระหว่างประเทศโดยผิดกฎหมาย

มีรายงานอ้างคำฟ้องระบุว่า หลั่นและผู้สมรู้ร่วมคิด ได้ทำการยักยอกทรัพย์จากธนาคาร SCB โดยการออกเป็น ตราสารหนี้ ระหว่างตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงเดือน ต.ค. 2565 รวมมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์

รายงานระบุด้วยว่า เพื่อให้ได้เงิน  หลั่น เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์เวียดนาม อายุ 67 สั่งให้ผู้ร่วมขบวนการถอนและโอนเงินออกจากระบบของธนาคาร SCB   

จากนั้นหลั่นได้ปกปิดแหล่งที่มาของเงิน และนำไปชำระหนี้ระหว่างบริษัท หรือมีโอนเงินไปต่างประเทศ โดยเป็นการทำสัญญาปลอม

ฉ้อโกงระดับประเทศ

ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 - ตุลาคม 2564 หลั่นได้โอนเงินไปต่างประเทศรวมแล้วกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ และรับเงินจากต่างประเทศมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์

รายงานของสื่อระบุด้วยว่า คนขับรถของหลั่น ได้ขนเงินสดมูลค่ามากกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ จากสำนักงานใหญ่ธนาคาร SCB ในนครโฮจิมินห์ไปยังบ้านพักของเธอที่อยู่ใกล้เคียงกัน และมีไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Van Thinh Phat Group

มีรายงานระบุว่า ในช่วงปี 2554 ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก 3 แห่งของเวียดนามอันได้แก่ Sai Gon J.S. Commercial Bank, First J.S. Commercial Bank และ Vietnam Tin Nghia J.S. Commercial Bank เผชิญภาวะเสี่ยงล้มละลาย ซึ่งก่อนจะไปต่อไม่ไหว หลั่นได้แอบเก็บหุ้น 3 ธนาคารนี้เป็นจำนวนมากไว้ก่อนแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นธนาคารที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบสินเชื่อ 

ต่อมา ธนาคารกลางเวียดนาม ตัดสินใจสั่งควบรวม 3 ธนาคารที่จะล้มนี้ จนกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่ขึ้นมาในชื่อว่า Saigon Commercial Bank หรือ SCB ซึ่งนอกจากหลั่นจะเก็บหุ้นในชื่อตนเองแล้ว ก็ยังถือหุ้นผ่านบริษัทนอมินี 27 รายด้วย จนครองสัดส่วนหุ้นธนาคาร SCB มากถึง 91% 

เจ้าของแบงก์ SCB ที่แท้จริงเกื้อหนุนให้บริษัทอสังหาฯ ของหลั่นสามารถออกตราสารหนี้มากถึง 25 ชุด ซึ่งขายผ่านธนาคาร SCB เพื่อระดมเงิน 30 ล้านล้านดองในการขยายกิจการอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทเชลล์ หรือบริษัทที่ไม่ได้มีการทำธุรกิจจริงๆ ของหลั่น สามารถกู้เงินออกจาก SCB เป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่ได้มีการประเมินสินทรัพย์อย่างเหมาะสมก่อน ซึ่งพฤติกรรมคล้ายกับการยักยอกเงินธนาคารก็ว่าได้

สร้างความเสียหาย 6% ของ GDP เวียดนาม

เมื่อเดือนเมษายน หลั่นถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในความผิดฐานยักยอกเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์ และตอนนี้เธออยู่ ระหว่างยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว

นอกจากโทษประหารชีวิตในคดียักยอกแล้ว ศาลยังตัดสินโทษจำคุก 20 ปี อีก 2 กระทง รวมเป็น 40 ปี ในความผิดเรื่องการติดสินบนเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืนระเบียบการกู้ยืมของธนาคาร 

อย่างไรก็ตาม อัยการเวียดนามกล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฉ้อโกงดังกล่าว มีมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 6% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของเวียดนาม ปี 2566

อ้างอิง : AFP , Bloomberg , Bangkokbiznews