'จีน' เปิดกว้างต่างชาติลงทุน 'เฮลท์แคร์' เพิ่ม เป็นเจ้าของโรงพยาบาลได้ 100%
จีนเตรียมเปิดกว้างรับลงทุนต่างชาติมากขึ้นในภาคการผลิต-บริการ ไฟเขียวเปิดรับลงทุนด้าน 'เฮลท์แคร์' เพิ่ม ให้ต่างชาติเป็นเจ้าของโรงพยาบาลได้ 100% ในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (8 ก.ย.) ว่า รัฐบาลจีนจะเปิดกว้างรับการลงทุนของต่างชาติใน "ภาคการผลิต" ให้มากขึ้น รวมถึงจะผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเปิดรับการลงทุนของต่างชาติในภาคธุรกิจ "เฮลท์แคร์" ให้มากขึ้นด้วย เพื่อพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
แถลงการณ์จากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ระบุว่า รัฐบาลจีนจะยกเลิกข้อจำกัดที่เหลืออยู่สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิต ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป และจะลดรายการข้อจำกัดนักลงทุนต่างชาติ โดยข้อจำกัดส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ข้อกำหนดให้คนจีนต้องถือหุ้นใหญ่ในการควบคุมโรงงานพิมพ์ และข้อห้ามการลงทุนในการผลิตยาสมุนไพรจีน
คณะกรรมการ NDRC ระบุด้วยว่า รัฐบาลให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการขยายตัวและการเปิดกว้างของ "อุตสาหกรรมบริการ" และสนับสนุนการเข้าถึงการลงทุนจากต่างประเทศในภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนนโยบายที่อาจเป็นไปได้ โดยแนวทางสำคัญประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมในภาคบริการ
ในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ของจีนยังได้ประกาศนโยบายเปิดกว้างในภาคอุตสาหกรรม "เฮลท์แคร์" ให้มากขึ้น โดยจะอนุญาตให้ทุนจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ครอบคลุมถึง "สเตมเซลล์ และการวินิจฉัยและรักษาด้วยยีน" ในเขตการค้าเสรีนำร่อง (pilot free trade zones) ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และไห่หนาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทำการตลาด และได้รับการอนุมัติให้ผลิตได้แล้ว จะสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุญาตให้สามารถ "จัดตั้งโรงพยาบาลที่เป็นของต่างชาติได้ทั้งหมด" (wholly foreign-owned) ในกรุงปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ หนานจิง ซูโจว ฝูโจว กว่างโจว เซินเจิ้น และไห่หนาน (เกาะไหหลำ) โดยนโยบายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ทันที อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติซื้อโรงพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลที่ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนจีน