ถอดแนวคิดประชานิยมปีกขวา ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

ถอดแนวคิดประชานิยมปีกขวา ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

การที่คนอย่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2019 และอาจจะชนะอีกครั้งในปีนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่มีชุดความคิดหนึ่งเป็นปัจจัยผลักดัน ซึ่งเห็นได้ทั้งยุโรปและสหรัฐ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อธิบายแนวคิดนี้

24 ชั่วโมงหลังการประชันวิสัยทัศน์ครั้งแรกระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการเสวนาเรื่อง “การเลือกตั้งสหรัฐ 2024: แนวโน้มและนัยยะต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก เอเชียตะวันออกและไทย” 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าใครแพ้ใครชนะในวันที่ 5 พ.ย. คือชุดความคิดที่ส่งให้ทรัมป์ เคยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐมาแล้วครั้งหนึ่งและอาจคว้าชัยชนะได้อีก ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี 2024 มากกว่า 50 ประเทศจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่มีไม่กี่ประเทศที่โลกต้องจับตาโดยเฉพาะในเดือน พ.ย.ที่ทุกคนอยากรู้ว่า “ใครจะมา” ซึ่งระยะหลังการเลือกตั้งสหรัฐกลายเป็นการเลือกตั้งของโลกไปแล้ว และส่งผลกระทบไปทั่วโลก  ถอดแนวคิดประชานิยมปีกขวา ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

เดิมทีตอนที่ทรัมป์ต้องแข่งกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน นักวิชาการรายนี้เชื่อว่า โอกาสที่ทรัมป์มีโอกาสสูง แต่ถึงวันนี้ถือว่าสูสี การดีเบตเมื่อวันพุธ (11 ก.ย.) ตามเวลาประเทศไทย ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างมองว่าฝ่ายตนชนะ ซึ่งดร.สุรชาติมองว่า แค่การชนะดีเบตยังเชื่อไม่ได้ “เพราะฮิลลารี คลินตัน ชนะดีเบตทรัมป์มาสามครั้ง ก็ยังแพ้เลือกตั้ง” 

  •  จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทรัมป์มา

ในระยะหลัง ดร.สุรชาติพบศัพท์คำว่า Right wing populism (ประชานิยมปีกขวา) ในสื่อตะวันตกบ่อยมาก หลายคนอาจมองว่าทรัมป์ “บ้า” “มุทะลุดุดัน” แต่นี่คือบุคลิกของผู้นำแบบ Populist ซึ่งทรัมป์ไม่ใช่คนโง่และคนบ้า ชุดความคิดที่เขาเสนอมาเกิดขึ้นในยุโรปมาก่อน เห็นได้ชัดในปี 2016 จากปรากฏการณ์ Brexit (สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ ทรัมป์ คว้าชัยชนะ 

ดร.สุรชาติ สรุปว่า Right wing populism คือกระแสขวาของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระแสขวาจัด (Far right) ยังแบ่งได้เป็นสองแบบคือ Radical right (ขวาสุดขีด) และ Extreme right (ขวาสุดโต่ง) ในบริบทสหรัฐ เช่น กลุ่ม White supremacy, Klu Klux Klan ในบริบทสหรัฐและยุโรปคือกลุ่มนีโอนาซี กระแสขวาฝรั่งชุดนี้เห็นได้จากทรัมป์, มารีน เลอแปงของฝรั่งเศส, พรรค AfD ของเยอรมนี, วิกเตอร์ ออร์บานของฮังการี, จอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี ในเอเชียที่เด่นชัดคือนเรนทรา โมดีของอินเดีย หรืออดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ 

  • แกนกลางโลกทัศน์ Right wing populism

1. ประชาชน (People) ทรัมป์พูดถึงประชาชนมาก โมดีกล่าวว่า พรรคของตนเท่านั้นที่เป็นพรรคของประชาชน หรือประธานาธิบดีเออร์ดวนของตุรกี กล่าวว่า  “We are the people, who you are?” นั่นคือการประกอบสร้างประชาชนในจินตนาการขึ้นมาชุดหนึ่งต่อสู้กับชนชั้นนำที่ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบ 

2. ชนชั้นนำฉ้อฉล (Corrupted elite) การเลือกตั้งปี 2016 ทรัมป์กล่าวหาฮิลลารี คลินตัน รุนแรงมาก ตามสไตล์วาทกรรมของ Right wing populist เพื่อให้คนฟังเกิดความรู้สึกร่วมว่าฮิลลารี คลินตัน คือตัวแทนของชนชั้นนำที่ประชาชนต้องไม่เลือก ปีนี้เจดี แวนซ์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงรองประธานาธิบดี คือภาพแทนของคนชนบท

3. เจตจำนงค์ร่วม (General will) มองว่า เจตจำนงค์ของประชาชนไม่ได้ถูกตอบสนองผ่านการเลือกตั้ง แต่ตอบสนองผ่านการแสดงออกทางตรง เช่น จัดเวทีชุมนุม 

  • 10 ชุดความคิดหลัก Right wing populism

จากสามเสาหลักของฝ่ายขวาฝรั่งประกอบด้วย 10 ชุดความคิดหลัก ได้แก่

 Authoritarianism  เป็นอำนาจนิยมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 

 Nationalism ชาตินิยม 

 Nativism ความเป็นคนพื้นถิ่น (ไม่ใช่ชนเผ่าดั้งเดิมอย่างอินเดียนแดง) สำหรับสหรัฐคือผู้อพยพจากอังกฤษที่เป็น Puritan (สมาชิกโปรเตสแตนต์นิกายหนึ่งยืดถือหลักความเคร่งครัดในศาสนา)

 Isolationism นิยมความโดดเดี่ยวไม่ยุ่งกับใคร กลับเข้าสู่ยุคหลังสนธิสัญญาแวร์ซายส์ 

 Protectionism ตั้งกำแพงภาษีซึ่งเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ยังมีกระแสต่อต้านอีกห้ากระแสที่เป็นชุดความคิดสำคัญของ Right wing populism ได้แก่ 

 Anti globalism ไม่ตอบรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ Brexit คือตัวอย่างที่ชัดเจน เป็นชัยชนะของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ 

 Anti multiculturalism ไม่รับพหุวัฒนธรรมต่อเนื่องไปถึงการ Anti migration ต่อต้านการเข้าเมือง ไม่มีผู้นำประชานิยมปีกขวาประเทศไหนเลยตอบรับผู้อพยพโดยเฉพาะผู้อพยพชาวมุสลิมซึ่งไม่ใช่แค่การกลัวอิสลาม แต่เป็นการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) 

 Anti abortion การทำแท้งเป็นโจทย์ใหญ่มากในการดีเบตระหว่างแฮร์ริสกับทรัมป์ ประเด็นนี้ไม่เคยหายไปจากสังคมอเมริกัน และเป็นโจทย์ใหญ่สุดของโลกตะวันตก เพราะมีนัยยะที่ผูกโยงกับศาสนา 

 Anti feminism, LGBTQ+ ไม่รับความหลากหลายทางเพศและสิทธิสตรี

 Anti semitism ต่อต้านยิว

“ห้ากระแสนี้กำลังขับเคลื่อนโลกตะวันตก ถ้าปลายปี 2024 มหาบุรุษชื่อโดนัลด์ ทรัมป์มานั่งในทำเนียบขาว ปีหน้าก็จะเหมือนเราขับรถแล้วหันพวงมาลัยยูเทิร์น 180 องศา เข้าขวาสุดโดยไม่ต้องแคร์รถคันอื่น นี่คืออาการของโลกถ้าทรัมป์ชนะ” ดร.สุรชาติกล่าวและแม้ไม่ได้ฟันธงถึงชัยชนะของทรัมป์แต่ก็อดกังวลไม่ได้หากทรัมป์ไม่ชนะ เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนถึงขณะนี้ยังเชื่อว่า ทรัมป์ถูกโกงเลือกตั้งปี 2020 แล้วสังคมอเมริกันจะจัดการปัญหารอบนี้อย่างไร หลายคนเคยบอกว่า ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองสังคมก็เป็นแบบนี้ และถ้าเกิดเหตุการณ์แบบ 6 ม.ค.2021 ซ้ำอีกในปี 2025 แสดงว่าสงครามกลางเมืองอเมริกันยังไม่จบ