IMF มองต่าง นโยบายอุดหนุน ’จีน’ ไม่ใช่สาเหตุหลักของการ ‘เกินดุลการค้า’

IMF มองต่าง นโยบายอุดหนุน ’จีน’ ไม่ใช่สาเหตุหลักของการ ‘เกินดุลการค้า’

IMF มองต่างสหรัฐ ชี้นโยบายอุดหนุน ‘จีน’ ไม่ใช่สาเหตุหลักของการ ‘เกินดุลการค้า’ จนทำให้สินค้าทะลักโลก ควรสนใจเศรษฐกิจระดับ 'มหภาค' มากกว่า

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาโต้แย้งว่าความกังวลที่ว่านโยบายของ “จีน” เช่น การให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรม ทำให้จีนมีการส่งออกสินค้ามากกว่าที่นำเข้าหรือการ “เกินดุลการค้า” นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยนัยต่อข้อกล่าวหาของสหรัฐที่กล่าวว่า จีนกำลัง "ทุ่มตลาด" ด้วยกำลังการผลิตส่วนเกินทางอุตสาหกรรมของตนต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก 

นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงของ IMF เขียนในบทวิเคราะห์ระบุว่าการช่วยเหลือของจีนต่อผู้ผลิตมีผลกระทบต่อการส่งออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเน้นย้ำว่าการสนับสนุนนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ชิปคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของการส่งออกไปต่างประเทศ

มุมมองที่ว่านโยบายการค้าและอุตสาหกรรมของจีนอาจนำไปสู่  “China Shock 2.0”  ที่อาจเกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และปิดโรงงานในประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงซึ่งถูกพูดถึงในวงกว้างในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม IMF กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป โดย IMF เห็นว่าความเห็นดังกล่าวอาจจะไม่ครอบคลุมภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมด และควรพิจารณาจากมุมมองที่กว้างขึ้นในมุมมองระดับมหภาค

ปิแระ-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์  หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ได้ให้ความเห็นว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นตัวกำหนดดุลการค้าภายนอกของประเทศมากกว่านโยบายการค้า และอุตสาหกรรม แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะมีผลกระทบบ้าง แต่ก็มีน้ำหนักน้อยกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ตาม IMF ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐโดยตรง แม้ว่าสหรัฐจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของกองทุนก็ตาม ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้ากับจีนนั้นเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ  เนื่องจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่ไหลเข้าสู่ตลาดโลกได้จุดชนวนให้เกิดกระแสต่อต้าน

IMF บอกว่า สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 มากกว่านโยบายอุตสาหกรรมของจีน คือ พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยคนจีนเริ่มออมเงินมากขึ้น ในขณะที่คนอเมริกันใช้จ่ายเงินมากขึ้น

ส่วนเรื่องที่จีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 9 ล้านคันในปีที่แล้ว จริงอยู่ว่าจีนผลิตเยอะมาก แต่การส่งออกรถยนต์ของจีนก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้นซึ่งคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของผลผลิตทั่วโลก แต่การส่งออกรถยนต์ 1.2 ล้านคันคิดเป็นเพียง 1% ของสินค้าจีนเท่านั้น และผลผลิตส่วนเกินของจีนไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

อ้างอิง Bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์