ถอดรหัสโอกาส‘เวียดนาม’ ฟังมุมมองจากภาคธุรกิจทั่วโลก
ถอดรหัสโอกาสและความท้าทายของ ‘เวียดนาม’ ฟังเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจต่างชาติ ที่ชื่นชม pro-business mindset ของรัฐบาลฮานอย กับโอกาสที่อาจก้าวไปสู่ ‘East-Asian growth model’
การเป็นจุดหมายการลงทุนต่างชาติของ “เวียดนาม” นั้น ถูกสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านตัวเลขการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะระหว่างปี 2561-2566 ในช่วงสงครามการค้าคุกรุ่นที่ทำให้เวียดนามดึงดูด FDI ได้สูงสุดเป็นอันดับสองในอาเซยน เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น
นายวี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี (UOB)กล่าวในงานสัมมนาการลงทุนประจำปีของยูโอบี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ เมื่อช่วงต้นเดือนก.ย.นี้ว่า เวียดนามจะยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อีกมากในอีกหลายปีข้างหน้า ในฐานะที่เป็นประตูสู่อาเซียน โดยมี 3 ปัจจัยหนุนสำคัญคือ นโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการลงทุนข้ามพรมแดน, เทรนด์การกระจายห่วงโซ่อุปทาน และการที่ภาคอุตสาหกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว
ซีอีโอของยูโอบีระบุว่า ธนาคารได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2554 เพื่อสนับสนุนธุรกิจในภูมิภาค ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีบริษัทมากกว่า 4,500 แห่งได้ใช้บริการเพื่อขยายการดำเนินงานโดยเฉพาะในอาเซียน และธนาคารได้ให้การสนับสนุนบริษัทต่างชาติมากกว่า 300 แห่ง เพื่อเจาะตลาดในเวียดนาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ถอดมุมมองธุรกิจต่างชาติใน ‘เวียดนาม’
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาเซียนไม่ใช่จุดหมายการลงทุนใหม่ในแง่ของการผลิต แต่การกลับเข้ามารอบใหม่ของนักลงทุนค่อนข้างต่างออกไป โดยเฉพาะในเวียดนามที่มีเรื่องความคาดหวังต่อตลาดผู้บริโภคในประเทศเข้ามาด้วย ซึ่งภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แสดงมุมมองที่น่าสนใจถึงประสบการณ์ตรงต่อ “จุดเด่นสำคัญ” ที่ทำให้เวียดนามเป็นดาวเด่นดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก
นายจีน คิง (Gene King) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ BW Industrial Developmentซึ่งเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์รายใหญ่ในเวียดนาม กล่าวว่าในมุมมองของตน “pro-business government” หรือรัฐบาลที่สนับสนุนโปรภาคธุรกิจ คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เวียดนามก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
“ผมคิดว่ารัฐบาลเวียดนามทำผลงานได้ดีทีเดียว ถ้าลองเทียบดูกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทั้งในเอเชียและทั่วโลก ผมคิดว่าเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่สามารถเติบโตในแบบ ‘East-Asian growth model’ ได้ หรือการที่รัฐบาลมีบทบาทเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายและชี้นำการลงทุนของเอกชนจนนำไปสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาแล้วใน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และตอนนี้เวียดนามก็กำลังเป็นแบบนั้น” คิง กล่าว
นอกจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แล้ว เวียดนามยังโดดเด่นเรื่องการเดินหน้าข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับ 18 ประเทศทั่วโลก จากเมื่อสิบปีก่อนที่มีเพียง 7 ฉบับซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย รวมไปถึงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (CPA) กับ 4 ประเทศคือ สหรัฐ เกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ภายในเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมาก เพราะภาคการผลิตที่มาลงทุนในเวียดนามต้องการความมั่นใจว่า พวกเขาจะได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้ ที่ประเทศอื่นๆ “ไม่มี”และในปีที่แล้วเวียดนามยังเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถเปิดบ้านต้อนรับการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐได้
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือเรื่อง “กฎหมาย” ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก และคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายบางอย่าง เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงดูดภาคธุรกิจต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น
นอกจาก 3 ประเด็นหลักๆ เหล่านี้แล้วก็มีประเด็นอื่นๆ เช่น พาร์ทเนอร์ธุรกิจท้องถิ่นและเน็ตเวิร์กกิง และการที่ค่าแรงยังถูกโดยถูกกว่าจีนถึงครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะทยอยปรับขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วแต่อย่าลืมว่าเวียดนามเป็นประเทศเดียว (ฐานการผลิต) ที่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน และมีนักลงทุนจากจีนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงมีความได้เปรียบเรื่องโลจิสติกส์การขนส่งทางบกด้วย เช่น จากเซินเจิ้น-ฮานอย ใช้เวลาเพียง 16 ชม. จึงสามารถสนับสนุนการผลิตในเวียดนามเพิ่มเติมในแง่ซัพพลายเชนจากจีนได้
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต่างชาติเองก็มองเห็น “ความท้าทาย” ที่เวียดนามต้องปรับแก้ให้ได้เช่นกัน โดยฉพาะความท้าทายระยะกลางในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ การต้องเร่งพัฒนาด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” ไปจนถึงการเติบโตให้ได้อย่างยั่งยืน
นายอเล็กซานเดอร์ ซีห์ (Alexander Ziehe) กรรมการผู้จัดการบริษัท Carrier มองความท้าทายของเวียดนามใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก การดำเนินการด้านการเงินที่มีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น การดำเนินการทางเอกสารที่มากกว่าในจีนหลายเท่า และความยั่งยืนในการเติบโตของเวียดนาม
โดยข้อหลังนั้นผู้บริหารชาวเยอรมันรายนี้มองว่า “การเติบโตต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน” และเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมายเมื่อพูดถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะยังมีการใช้พลังงานฟอสซิลอยู่มาก รวมไปถึงความท้าทายในตลาดผู้บริโภคกับการบริโภคที่ยั่งยืนด้วย
ไทย-เวียดนาม โตไปด้วยกันได้
นายเฮง คุน เฮา (Heng Koon How) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาด เศรษฐกิจมหภาคระดับโลก และวิจัยตลาดของยูโอบีเปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ต่อมุมมองคำกล่าวที่ว่า “เวียดนามกำลังจะแซงหน้าไทย” ว่า เศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมคาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีต่อๆ ไป โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยในปี 2024 - 2029 อยู่ที่ 4.6% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตที่คาดการณ์ไว้สำหรับตลาดเกิดใหม่ที่ 4.1% และทั่วโลกที่ 3.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน
"เมื่อเรารวมกันแล้ว เศรษฐกิจของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือไทย คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในปีต่อๆ ไป"
“ยังมีโอกาสอีกมากมายสำหรับเศรษฐกิจของอาเซียนทั้งหมดที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อรองรับโอกาสทั้งการลงทุนด้านการเงินสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนยังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเน้นที่อีคอมเมิร์ซ รวมถึงเครือข่ายการชำระเงินดิจิทัลทั่วภูมิภาค”
สำหรับตลาดเวียดนามโดยเฉพาะนั้น เฮง คุน เฮามองว่าจุดแข็งหลักที่ทำให้ลูกค้าของยูโอบีอยากลงทุนในเวียดนาม เป็นเพราะประชากรของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคน และปัจจุบันมีชนชั้นกลางจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อชนชั้นกลางเหล่านี้มีฐานะร่ำรวยขึ้น การใช้จ่ายและการบริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจของเวียดนามจึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะกระจายตัวจากการผลิตไปสู่การบริการและการใช้จ่ายในปีต่อๆ ไป การเปลี่ยนแปลงการเติบโตนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นซึ่งดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากจากอาเซียนและทั่วโลก
ทั้งนี้แม้จะมีความน่ากังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจของ “จีน” ที่ชะลอตัวลง จนส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการจากเวียดนามลดลงตามไปด้วย แต่เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจของจีนจะทยอยเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของเวียดนามที่็กำลังอยู่ในระหว่างการกระจายความเสี่ยง (diversify) ตามอุตสาหกรรมต่างๆ และประเทศที่ส่งออก
ผู้บริหารยูโอบีมองว่าแม้ปัจจุบันเวียดนามจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ สำหรับการลงทุนในอาเซียนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่มีโอกาสในการลงทุน
ตามข้อมูลของ ASEANSTATS การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่อาเซียนในปี 2566 ส่วนใหญ่ 42% อยู่ในภาคการเงินและการประกันภัย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการกู้ยืมและการลงทุนในภูมิภาค หลังจากนั้นคือภาคการผลิต ซึ่งดึงดูด FDI ประมาณ 23% ตามมาด้วยภาคบริการด้านเทคโนโลยีและค้าปลีกคิดเป็นประมาณ 9%
ยูโอบีคาดว่าเวียดนามจะมีการปรับตัวจากภาคการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์
สำหรับโอกาสและความท้าทายสำหรับเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นั้นยูโอบีคาดการณ์ว่า จีดีพีีของเวียดนามจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 6.0% ในปี 2024 จาก 5.0% ในปี 2023 โดยโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่งตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2024 น่าจะขยายไปถึงครึ่งปีหลัง โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของการผลิตและการค้า
ในครึ่งหลังปีนี้ยังคงมีความเสี่ยงบางประการในรูปแบบของความผันผวนจากวัฎจักรของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงความท้าทายจากฐานการเติบโตที่สูงของครึ่งหลังปี 2023
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ของยูโอบียังไม่รวมสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นยางิที่พัดเข้าถล่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งล่าสุดมีรายงานในสื่อท้องถิ่นของเวียดนามว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 1.63 พันล้านดอลลาร์ และอาจกระทบต่อจีดีพีของเวียดนามมากถึง 0.15% เมื่อเทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ จนอาจทำให้การขยายตัวในปี 2567 พลาดเป้าได้
ภาคธุรกิจไทยติดตามใกล้ชิด
นางสาวพนิตศนี ตั๊นสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยเปิดเผยว่า มีตัวแทนจากภาคธุรกิจของไทยมากกว่า 10 ราย มาเข้าร่วมงานสัมมนาประจำปีที่ยูโอบีจัดขึ้นในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้เป็นครั้งแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจไทยที่มีการลงทุนในเวียดนามอยู่แล้ว และมาจากหลายภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่กลุ่มน้ำมันและก๊าซ คอนซูเมอร์ อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงนิคมอุตสาหกรรม มาอัปเดตโอกาสใหม่ๆ ภาพเศรษฐกิจใหม่ๆ และขยายเน็ตเวิร์กกิง เพราะงานนี้มีทีมนักธุรกิจเข้าร่วมจากหลายประเท รวมถึงจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ในเวียดนามด้วย
“ปัจจุบันจะหาตลาดที่โตระดับนี้ไม่ได้แล้ว 6-7% ถือว่าเติบโตเร็วสุด ทำให้ธุรกิจไม่สามารถขายแค่ในประเทศได้ แต่ต้องออกไปหาตลาดที่โตแบบนี้ด้วย”
ส่วนความท้าทายของเวียดนาม เช่น ข้อกังวลเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ นั้น ผู้บริหารยูโอบีีกล่าวว่าประเด็นเรื่องข้อกฎหมายก็นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของเวียดนาม “แต่เป็นความท้าทายที่นักลงทุนยังให้ความสนใจ และยังรับได้กับความเสี่ยงตรงนี้เมื่อเทียบกับโอกาส ของไทยอาจมีความท้าทายส่วนนี้ที่น้อยกว่า แต่โอกาสของไทยในบางส่วนก็ไม่เท่ากับที่นี่”