จากนักเศรษฐศาสตร์สู่ประธานาธิบดี : ฆาบิเอร์ มิเลย์ แห่งอาร์เจนตินา

จากนักเศรษฐศาสตร์สู่ประธานาธิบดี : ฆาบิเอร์ มิเลย์ แห่งอาร์เจนตินา

การเมือง เศรษฐกิจและสังคมของอาร์เจนตินานั้นตกอยู่ในวังวนของระบอบประชานิยม มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีฆวน เปรอง ซึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

KEY

POINTS

  • ฆาบิเอร์ เฆราร์โด มิเลย์ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาในวันที่ 10 ธันวาคม 2566
  • เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียน ที่ยึดติดกับความเป็นมนุษย์นิยมและการทำสิ่งใดก็ตามของมนุษย์นั้นมีสาเหตุมาจากความต้องการของแต่ละบุคคลเอง
  • เขาเรียกร้องให้ประชาชนยอมรับกับ “ยาแรง” ในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ
  • Key point สรุปจากกองบรรณาธิการ

เงินเฟ้อ การขาดดุลทางการคลัง การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่บ่อนเซาะทำลายสังคมของอาร์เจนตินาครั้งแล้วครั้งแล้ว จนต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรโลกบาลระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศอยู่เสมอ ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับวงจรอุบาทว์นี้

ดังนั้น ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนได้หันไปเลือกนักการเมืองหน้าใหม่ ฆาบิเอร์ เฆราร์โด มิเลย์ ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ และเขาได้เข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาในวันที่ 10 ธันวาคม 2566

พื้นเพของมิเลย์นั้นเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นผู้ที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อนหน้านั้นอย่างเผ็ดร้อน โดยเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวาจัด โดยยึดอุดมการณ์ประชานิยม เสรีนิยมใหม่ อนุรักษนิยมสุดขั้ว และทุนนิยมอนาธิปไตย ซึ่งแตกต่างไปจากประธานาธิบดีคนก่อนๆ

เขาประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าเขาจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็จะจำกัดการขยายตัวของการคลังของประเทศ

จากนักเศรษฐศาสตร์สู่ประธานาธิบดี : ฆาบิเอร์ มิเลย์ แห่งอาร์เจนตินา

เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียน ที่ยึดติดกับความเป็นมนุษย์นิยมและการทำสิ่งใดก็ตามของมนุษย์นั้นมีสาเหตุมาจากความต้องการของแต่ละบุคคลเอง

สำนักความคิดนี้มองว่า ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ควรจะมาจากพื้นฐานการกระทำของมนุษย์ มิเลย์นั้นต่อต้านแนวความคิดเศรษฐศาสตร์สายเคนเซี่ยนที่เน้นการเข้ามามีบทบาทของรัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ตัวมิเลย์เองถึงกับประกาศชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในอาร์เจนตินาสมัยประธานาธิบดีคาร์ลอส เมเนม ในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งในสมัยนั้นมีการผูกติดค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาให้ 1 เปโซมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซี่งเป็นสิ่งที่มิเลย์เรียกร้องในปัจจุบัน ให้มีการดำเงินดอลลาร์สหรัฐมาใช้แทนเงินเปโซ และเรียกร้องให้มีการยุบธนาคารกลางของประเทศ

เพราะเขามองเห็นว่าบทบาทของธนาคารกลางในการพิมพ์ธนบัตรหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น เป็นไปตามแรงกดดันจากทางการเมืองทำให้อาร์เจนตินาเผชิญกับปัญหาของเงินเฟ้อเป็นจำนวนมหาศาล

ฆาบิเอร์ มิเลย์นั้นต่อต้านแนวความคิดสังคมนิยมและแนวความคิดคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก ในการบรรยายสาธารณะในปี พ.ศ. 2562 มิเลย์ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าตัวของเขานั้นมองว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีจะช่วยให้ประชาชนนั้นหลุดพ้นจากความยากจน

 เขาไม่เชื่อและไม่สนับสนุนแนวความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีความอยู่ดีกินดีเท่าเทียมเสมอภาคกัน เพราะเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้บนโลกมนุษย์ที่ทุกคนต่างมีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด

มิเลย์ถึงกับประกาศกร้าวว่าเขาเกลียดลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะคอมมิวนิสต์นั้นหลอกลวงประชาชนว่าความเท่าเทียมกันนั้นมีอยู่จริง ดังนั้น เขาจึงเชื่อในทุนนิยมเสรีอย่างเต็มตัว เพราะในโลกนั้นมีระบบเศรษฐกิจแค่สองระบบ คือทุนนิยมเสรีและคอมมิวนิสต์เท่านั้น ไม่มีระบบเศรษฐกิจที่อยู่แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างสองระบบนี้

จากนักเศรษฐศาสตร์สู่ประธานาธิบดี : ฆาบิเอร์ มิเลย์ แห่งอาร์เจนตินา

มิเลย์ได้ประกาศที่จะปฏิรูปรัฐบาลของประเทศอย่างขนานใหญ่ โดยเขาได้ลดจำนวนรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาจาก 24 คน เหลือเพียงแค่ 8 คน

เขาได้เรียกร้องให้มีการประกาศยกเลิกกระทรวงที่ไม่จำเป็นในมุมมองของเขา อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม กระทรวงกิจการสตรีและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข

เขาได้ตัดลบงบประมาณที่ไม่จำเป็นเป็นจำนวนมาก และเรียกร้องให้ประชาชนยอมรับกับ “ยาแรง” ในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ เขามีความตั้งใจที่จะให้งบประมาณของประเทศนั้นสมดุลกันให้ได้ในช่วงปีแรกของการทำงานในรัฐบาลของเขา

นอกจากนี้เขายังมองว่า บทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจควรถูกกำจัดให้หมดไป มิเลย์ถึงกับประกาศกร้าวว่าบทบาทของรัฐดังกล่าวเป็นศัตรูตัวฉกาจของความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เขามองว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาใช้การแทรกแซงของรัฐในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งแทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหา กลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง 

จากนักเศรษฐศาสตร์สู่ประธานาธิบดี : ฆาบิเอร์ มิเลย์ แห่งอาร์เจนตินา

ดังนั้น เขาต้องการจำกัดบทบาทของรัฐให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเขาประกาศว่า “ชีวิตที่มีเสรีภาพเท่านั้นถึงจะเป็นชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขอย่างแท้จริง” ซึ่งเขาจะถือเป็นหลักการพื้นฐานที่เขาจะปฏิบัติในรัฐบาลตลอด 4 ปีที่อยู่ในอำนาจ 

นอกจากนั้นเขายังได้สนับสนุนให้มีการขายกิจการของรัฐที่ไม่ได้สร้างผลกำไรให้กับเอกชน ยกเลิกการเก็บภาษีส่งออกพืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วเหลือง นอกจากนี้เขายังประกาศที่จะยุบคณะกรรมการสภาการวิจัยแห่งชาติลง เนื่องจากมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานเช่นนี้ที่รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนเงินงบประมาณ

ส่วนนโยบายทางด้านสังคมของฆาบิเอร์ มิเลย์นั้น เขาได้ต่อต้านการทำแท้งอย่างรุนแรง โดยเขาให้เหตุผลว่าการทำแท้งนั้นเป็นการแทรกแซงวิธีทางธรรมชาติของมนุษย์ เท่ากับเป็นการขจัดสิทธิเสรีภาพของชีวิตที่กำลังจะมาเกิดใหม่

เขายอมให้มีการทำแท้งได้ก็ต่อเมื่อจะเป็นอันตรายต่อมารดาเพียงเท่านั้น ดังนั้น เขาจะทำประชาพิจารณ์ใหม่ในประเด็นการทำแท้งเสรีที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นได้ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2563 

แต่มิเลย์นั้นไม่ได้ต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน เขาได้ประกาศว่าการเป็นเพศทางเลือกนั้นไม่ใช่การป่วยไข้ แต่เป็นการตัดสินใจของแต่ละคนที่จะมีเสรีภาพในการเลือกเพศที่ดัวเองต้องการ 

ส่วนในประเด็นเรื่องการศึกษานั้น เขาสนับสนุนระบบการเรียนการสอนทางเลือก และพร้อมที่จะให้เงินสนับสนุนพ่อแม่โดยตรงในการจัดหารูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่บุตรของตนเอง 

ในทางสาธารณสุขนั้นเขาต้องการที่จะปฎิรูปโดยการโอนถ่ายให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนภาครัฐ เพราะเขาเชื่อว่าจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่มิเลย์ปรารถนาให้เกิดในสังคมอาร์เจนตินานั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน รื้อความเชื่อหรือนโยบายเก่า ๆ ที่รัฐบาลอาร์เจนตินาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการ หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลมิเลย์อย่างตาไม่กะพริบ.