AI เพิ่มองศาร้อน ‘เลือกตั้งสหรัฐ’ เสี่ยงสังคมอเมริกันป่วน
ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างสีสัน ปลุกความนิยมทางการเมือง แต่แฝงถ่ายทอดความคิดความเชื่อ แรงต่อต้าน ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งต้องตามเกมให้ทัน
นับถอยหลังอีก 6 สัปดาห์ วันเลือกตั้งสหรัฐอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นวันที่ 5 พ.ย. 2567 จะทั่วโลกรู้ว่า คามาลา แฮร์ริส หรือโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐได้สำเร็จ
เมื่อการเลือกตั้งสหรัฐปี 2567 มาถึง ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการใช้โปรแกรมเอไอ สร้างข้อมูลภาพหรือวิดีโอเสมือนจริงอย่างแพร่หลาย โดยผู้เชี่ยวชาญเกรงว่า "จะเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด" หากโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อมูลเอไอสังเคราะห์เพื่อปลอมแปลงขึ้น (Deepfake) ที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ ดูแล้วสมจริงมากๆ จนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่รู้ควรเชื่ออะไรดี
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีสถานการณ์เลวร้าย ขึ้นมาปั่นป่วนสังคมอเมริกัน แต่สิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็น กลับดูเป็นเรื่องไร้สาระกว่านั้นมาก นั่นคือ คลิปวิดีโอของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขี่แมวและถือปืนไรเฟิลพร้อมจู่โจม ส่วนใบหน้าของรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส กลับมีหนวดเครา สวมชุดคอมมิวนิสต์ ทั้งมีภาพทรัมป์และแฮร์ริสโอบกอดกันอย่างอบอุ่น
เอไอ มีบทบาทสำคัญใช้แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2567 แม้ความกลัวเกี่ยวกับภัยคุกคามในการเลือกตั้งฯ จะยังไม่ปรากฏให้เห็นก็ตาม แต่ต้องพึงระวังไว้
ภาพมีมใช้ AI สร้างขึ้นเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม X
คลิปวิดีโอและภาพปลอมที่สร้างโดยเอไอ กลับเป็นที่ถูกใจ และถูกแชร์ไปทั่วอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่การ์ตูนและมีเนื้อหาไร้สาระมากกว่า ขนาดผู้ชมที่ไร้เดียงสาที่สุดก็ยังไม่อาจเชื่อได้
"ถึงอย่างไร คลิปวิดีโอล้อเลียน หรือ memes เหล่านี้อาจสร้างปัญหาได้ ซึ่งรูปภาพและวิดีโอที่สะดุดตาสร้างโดยเอไอ มีบางภาพพยายามทำให้ตลกจนกลายเป็นเครื่องมือใช้ประโยชน์เผยแพร่ข้อมูลเท็จ บางครั้งมีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติ สร้างความลำเอียงทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยผู้สมัครและผู้สนับสนุนของพวกเขาก็เป็นหนึ่งในผู้แชร์โพสต์บนโซเชียลมีเดีย" รายงานเอพีระบุ
ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาทรัมป์และผู้สนับสนุนเขา พยายามใช้ทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีมูลความจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มีผู้อพยพชาวเฮติกำลังขโมยและกินแมวหรือสุนัขในสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ แต่ไม่เพียงเท่าตอนนี้ พวกเขายังปล่อยคลิปมีมที่สร้างขึ้นโดยเอไอสร้างเรื่องเดียวกันนี้ด้วย
มีคลิปมีมหนึ่งที่แชร์โดย Truth Social ของทรัมป์ เป็นภาพเขาอยู่บนเครื่องเจ็ตสุดหรู รอบล้อมไปด้วยแมวและเป็ดสีขาว อีกมีมหนึ่งเป็นภาพลูกแมวถือป้ายเขียนว่า “ อย่าปล่อยให้พวกเขากินเรา เลือกทรัมป์”
ฟรานเชสก้า ทริพอติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์กล่าวว่า ภาพและคลิปที่สร้างโดยเอไอ เป็นเครื่องมือไวรัลใหม่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งสำหรับคลิปนี้แสดงการต่อต้านผู้อพยพที่มาอย่างยาวนาน
“มีมลักษณะนี้ไม่ตลกเลย ถ้าคุณมีประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้ง ด้วยการใช้ภาพและคลิปเหล่านี้ เพื่อถ่ายทอดความคิดลัทธิเหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านคนต่างชาติ นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่” ทริพอติ นักสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนากล่าว
ขณะที่พรรครีพับลิกันออกมาปกป้องรูปแบบการรณรงค์หาเสียงนี้ว่า คลิปมีมเป็นเรื่องขบขัน และเป็นการนำเอาบุคลิกภาพของทรัมป์มาสร้างความนิยม
“บุคลิภาพที่โดดเด่นของทรัมป์ ได้ถูกนำมาใช้เป็นรูปแบบสื่อสารที่เกินจริง จนกลายเป็นมีมที่ขบขัน มีวัตถุประสงค์สร้างความบันเทิง แต่ไม่ใช่ล่อลวงใดๆ” คาเลบ สมิธ นักยุทธศาสตร์ของพรรครีพับลิกันกล่าว
ในตอนนี้ ไม่มีเพียงผู้สนับสนุนทรัมป์เท่านั้นที่สร้างมีมโดยเอไอ แต่ยังมีคนอื่นๆ สร้างมีมเพื่อล้อเลียนอิลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและเจ้าของ X ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแคมเปญหาเสียงของทรัมป์อย่างเปิดเผย
นอกจากนี้ มีผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตยังได้โพสต์ภาพที่สร้างขึ้นด้วยเอไอ เป็นภาพทรัมป์ใส่กุญแจมือ ขณะถูกตำรวจไล่ตามระหว่างที่อยู่ในศาลแมนฮัตตันเมื่อปีที่แล้ว
แต่การรณรงค์หาเสียงของคามาลา แฮร์ริส ไม่ได้มุ่งไปที่คลิปมีม แต่ติดกับเทรนด์ติ๊กต็อก โดยไม่เน้นใช้เอไอสร้างภาพเสมือนจริงขึ้น
“ ปัจจุบันจะอนุญาตให้ใช้เอไอเชิงสร้างสรรค์ในแคมเปญหาเสียงของแฮร์ริส เช่น วิเคราะห์ข้อมูล” มีอา เอเรนเบิร์ก โฆษกการรณรงค์หาเสียงของคามาลา แฮร์ริสกล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้ภาพปลอม สร้างความสนุกสนาน มักจะดูไร้สาระเพื่อหวังคะแนนทางการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ต่างจากการใช้ Photoshop หรือภาพการ์ตูนทางการเมือง ซึ่งภาพที่สร้างโดยเอไอมีพลังมากกว่า ด้วยความสมจริงไปถึงเกินจริง และสามารถดึงดูดความสนใจทางการเมืองได้ดี
อ้างอิง : AP