มาริษย้ำนโยบายต่างประเทศ ‘การทูตกินได้ คนไทยมีศักดิ์ศรี’
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สู่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มีการเขย่าตำแหน่งในหลายกระทรวง แต่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นหน้าที่ของ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” ที่เจ้าตัวย้ำว่า จะสานต่อ และผลักดันนโยบายเดิมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
KEY
POINTS
- มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร จะสานต่อ และผลักดันนโยบายที่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทำให้เป็นรูปธรรม และบรรลุผลมากยิ่งขึ้น
- นโยบายต่างประเทศที่แถลงต่อรัฐสภามีสองข้อคือ การทูตเพื่อประชาชน และการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกที่จะรุกมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ
- การทูตเพื่อประชาชนประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน, Destination Thailand Visa, ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์, การดูแลคนไทย และความมั่นคงที่มาพร้อมกับความมั่งคั่ง
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สู่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มีการเขย่าตำแหน่งในหลายกระทรวง แต่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นหน้าที่ของ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” ที่เจ้าตัวย้ำว่า จะสานต่อ และผลักดันนโยบายเดิมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวการต่างประเทศ พบปะสื่อมวลชนในงาน Meet the Press#2 ที่กระทรวงเมื่อวันก่อน ย้ำว่า รัฐบาลนายกฯ แพทองธารจะสานต่อ และผลักดันนโยบายที่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทำให้เป็นรูปธรรม และบรรลุผลมากยิ่งขึ้น
“วันนี้ผมอยากเห็นนโยบายต่างประเทศที่จับต้องได้ เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง” มาริษ กล่าวพร้อมเล่าว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจก่อน เช่น การ ดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ นำสินค้าโอทอปไปต่างประเทศ นายกฯ เศรษฐา พยายามนำสินค้าที่คาดว่าเป็นที่นิยมในประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศยุโรป เช่น ผ้าขาวม้า
มาถึงรัฐบาลแพทองธาร ตามที่ตนได้แถลงนโยบายต่อสภาไว้สองข้อคือ การทูตเพื่อประชาชนและการทูตเชิงรุกที่มากยิ่งขึ้นในทุกมิติ
การทูตเพื่อประชาชน หมายถึง นโยบายต่างประเทศต้องส่งผลต่อประชาชนไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่ต้องส่งผลถึงอีก 2, 3 หรือ 4 ประเทศ เป็นการทูตที่ประชาชนจับต้องได้
ส่วนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ต้องรุกมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ที่ผ่านมานโยบายการทูตเชิงรุกในมิติการเมืองของไทยได้รับการยอมรับในสายตาของประเทศต่างๆ ส่วนในมิติเศรษฐกิจก็ถูกจับตามากยิ่งขึ้น เห็นได้จากนักธุรกิจบริษัทใหญ่สนใจเข้ามาคุยด้วย
"การจะไปถึงจุดที่เราจะทำธุรกิจร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กระทรวงการต่างประเทศเปิดประตูให้ได้ และการผลักดันให้มีการลงนามเอ็มโอยู จอยท์เวนเจอร์ เราทำแน่นอน" ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ บีโอไอ และสามเสาหลักของภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารไทย
“เราต้องการเห็นบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศที่ลงไปถึงภาคเอกชน และประชาชนอย่างแท้จริง”
มาริษอธิบายเพิ่มเติมถึงการทูตเพื่อประชาชนที่ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน, Destination Thailand Visa, ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์, การดูแลคนไทย และความมั่นคงที่มาพร้อมกับความมั่งคั่ง
- แก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน
การทูตเพื่อประชาชนเรื่องแรกเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน เช่น ปัญหายาเสพติด การบริหารจัดการน้ำ แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ ฝุ่น PM2.5 อาชญากรรมข้ามชาติ ล้วนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของไทยประเทศเดียวแต่เป็นของกลุ่มประเทศที่มีพรมแดนติดกันกับไทย
“ผมจะทำให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่การทำงานแบบสั่งการไปจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ผมได้ลงไปดูพื้นที่ชายแดน และจะลงไปให้มากกว่านี้เพื่อสัมผัสความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ในเดือนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างที่เชียงใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันปัญหาข้ามพรมแดนทั้งหลายที่กล่าวไว้มาคุยกันในเวทีนี้ ซึ่งสมาชิกแม่โขง-ล้านช้างตอบรับ และยินดีที่ไทยใช้เวทีนี้ผลักดันปัญหาข้ามพรมแดน
ที่เป็นประเด็นร้อนในตอนนี้คือ การบริหารจัดการแม่น้ำโขง ไทยเจรจาเรื่องนี้ในทุกกรอบความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นแม่โขง-ล้านช้าง, แม่โขง-สหรัฐ หรือแม่โขง-ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน รวมถึงการพูดคุยทวิภาคีเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป
ส่วนเรื่อง PM 2.5
“ต้องขอบคุณประเทศจีน ที่ท่านทูตหาน จื้อเฉียงตอบรับข้อเสนอของผมให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รีบติดต่อไปยังปักกิ่ง และปักกิ่งก็ยินดีร่วมกับประเทศไทยผลักดันให้ประเทศที่มีปัญหาหมอกควันร่วมมือกัน”
- Destination Thailand Visa (DTV)
กรมการกงสุลดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลแพทองธารจะดำเนินการต่อไปให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เป็นการดึงชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยให้สะดวกยิ่งขึ้น อยู่ได้นานยิ่งขึ้น DTV อนุญาตให้อยู่ในไทยได้ 180 วัน ต่ออายุได้อีก 180 วัน
เป้าหมายคือ ดึงกลุ่มคนที่มั่งคั่ง มีความรู้ มีทักษะ อยู่ในเมืองไทยก็ทำงานไปด้วย สร้างรายได้หมุนเวียนได้ทั่วถึง ช่วยกันผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
“หนึ่งในนั้นคือ digital nomad ผมบอกได้เลยว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ digital nomad” มาริษยกตัวอย่างที่ จ.กระบี่ มีการสร้างโรงแรมที่อำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องสนับสนุนต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์ทั้งระบบ
เมื่อพูดถึงการที่คนต่างชาติเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น หลายคนอาจกังวลเรื่องความปลอดภัย มาริษชี้แจงว่า รัฐบาลได้นำระบบ Electronic travel authorization (eTA) มาใช้โดยมีเป้าหมายสองประการ 1) อำนวยความสะดวกให้กับคนที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศ เปรียบได้กับ ตม.6 ออนไลน์ 2) ทราบข้อมูลของผู้ที่เดินทางเข้ามาผ่านคิวอาร์โค้ดที่เปรียบเสมือน electronic ID ของบุคคลผู้นั้น
นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านตามโครงการ 6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง ทุกประเทศตอบรับหมด แต่ยังมีข้อจำกัด เช่น บางประเทศอยากมีรายได้จากวีซ่า บางประเทศมีลิสต์รายชื่อบุคคลไม่พึงประสงค์ แต่กระทรวงฯ จะผลักดัน eTA ให้ทุกประเทศได้ใช้ข้อมูลร่วมกัน
"6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง จะช่วยผลักดันการท่องเที่ยวของทุกประเทศอาเซียนที่มีพรมแดนติดกันไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม" ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะยุโรปเข้ามาไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเดินทางอย่างอิสระไร้รอยต่อนี้มีวีซาเชงเก้นของยุโรปเป็นตัวอย่าง ต่อไปอาเซียนจะมีรถไฟเชื่อมโยงถึงกันถือเป็น soft infrastructure ที่ไม่ต้องลงทุนมากเพียงแค่ทำระบบที่มีอยู่ให้เชื่อมต่อกันได้
- ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
กระทรวงการต่างประเทศจะยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไปสู่โลกให้มากยิ่งขึ้น สอดแทรกวัฒนธรรมไทยลงในสินค้าโอทอป ผลักดันศิลปะฝีมือชาวบ้านให้โด่งดังทั่วโลกผ่านเทศกาลไทย (Thai festival) ที่สถานทูตไทยทั่วโลกจัดขึ้น และเป็นศูนย์กระจายสินค้าโอทอป เชื่อมท้องถิ่นสู่สากล (From local to global)
มาริษเสนอด้วยว่า ซอฟต์พาวเวอร์ควรเป็นแบบสองทางคู่แข่งควรร่วมมือกันได้ เช่น เห็นชาวบ้านทอหวายทำเป็นปลอกปากกาปาร์คเกอร์
“ผมจึงได้ไอเดียว่า นอกเหนือจากขายซอฟต์พาวเวอร์ ควรทำแบบทูเวย์ ไปคุยสร้างความร่วมมือกับปาร์คเกอร์” ซึ่งท้องถิ่นจะได้เม็ดเงินลงทุน เทคโนโลยี และเครือข่ายการตลาด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ “นี่คือ ความสมบูรณ์ของการนำ local สู่ global”
- ดูแลคนไทย เป็นมิตรกับทุกประเทศ
ในฐานะนักการทูตอาชีพมาตลอด 36 ปี มาริษ กล่าวว่า นี่คือ กลไกหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าถึงความอยู่ดีกินดี และผลประโยชน์ของพี่น้องคนไทยในต่างแดนอย่างแท้จริง สามารถเข้าถึงคนไทยที่ต้องการความช่วยเหลือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในอิสราเอล
“เราภูมิใจที่สามารถนำตัวประกัน 23 คนกลับคืนสู่มาตุภูมิได้เป็นประเทศแรก และมีจำนวนมากที่สุด” ผลจากนโยบายการทูตเชิงรุก และเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่เลือกข้าง
สถานทูตไทยที่มีอยู่ทั่วโลกจะมีฮอตไลน์ให้ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ติดต่อ ไม่ว่าจะในสถานการณ์วิกฤติหรือภาวะปกติ ให้คนไทยใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างมีศักดิ์ศรี
- ความมั่นคงต้องมาพร้อมความมั่งคั่ง
ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายของรัฐบาลไว้อย่างชัดเจนว่า จะมุ่งทำงานกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคง มาริษ ระบุ การส่งเสริมความมั่งคั่งให้ไปพร้อมกับความมั่นคงมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสองตัวอย่างคือ สันติภาพในเมียนมา และการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสงบสุข มีรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาความไม่สงบในเมียนมาส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน กระทรวงการต่างประเทศต้องการให้เกิดความสงบสุขในสองระดับ ระดับแรกคือ ตามแนวชายแดน ต้องมีความมั่นคงเพื่อให้การค้าขายเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย
"ตัวอย่างเช่น การพัฒนาทางหลวงสาย AH1 ที่ถูกทำลายไป เราพยายามเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบูรณะเส้นทางนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากอินเดียในช่วงการประชุม BIMSTEC"
จีนเองก็เป็นประเทศที่ต้องการให้เกิดสันติสุขทั้งบริเวณชายแดน และภาพรวมของเมียนมา
ระดับที่ 2 คือ สันติสุขในเมียนมาซึ่งไทยได้ร่วมมือในกรอบของอาเซียนด้วย รวมทั้งใช้เวทีอาเซียนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ในส่วนของมาเลเซีย ความใกล้ชิดของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐากับนายกฯ อันวาร์นำไปสู่ความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างสองประเทศ เดินหน้าเจรจาเพื่อความสันติสุข และการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ภาคใต้ของไทย และภาคเหนือของมาเลเซีย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา และอาหารฮาลาล
“สุดท้ายนี้ผมขอย้ำว่า การทูตของกระทรวงการต่างประเทศ ในอนาคตจะต้องแตะต้องได้ การทูตต้องกินได้ อะไรบ้างที่จะทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความมั่นคง ความมั่งคั่ง กระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะสานต่อ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์